svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

ไทยพาณิชย์เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ดันรายได้เพิ่ม

19 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไทยพาณิชย์แนะเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่บางประเทศที่มีปัญหาเสี่ยงด้านสภาพคล่องกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน-รีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่ครบกำหนด  เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนตอบสนองลูกค้ามั่งคั่งดันรายได้-ค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth  ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนงานในปี 66 เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น  และกระจายความเสี่ยงเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard

ผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน  ทำให้ธนาคาร มีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ธุรกิจมั่งคั่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารเพิ่มขึ้น

สำหรับปี 65 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในไทยล้วนได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10 %

ไทยพาณิชย์เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ดันรายได้เพิ่ม

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวว่า ปีนี้โลกการลงทุนเริ่มสดใสมากขึ้น มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองของจีน ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น ยุโรป แต่จะไม่รุนแรง

ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะยังปรับขึ้นต่ออีกเล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก ในช่วงเวลานี้  แนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูงมีค่อนข้างจำกัด

สอดคล้องกับที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้  โดยทยอยเพิ่ม Duration ในพอร์ตการลงทุน และเน้นเลือกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ทั้งของไทยและต่างประเทศ  เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน รวมถึงความเสี่ยงรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในราคาไม่แพง โดยตลาดหุ้นเอเชีย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังเป็นตลาดที่มีแรงหนุนจากการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นจีน A-Share ไดรับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค และการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อ แม้ว่าการเปิดเมืองทำให้เกิดการระบาดเร่งตัวขึ้นก็ตาม  

นายสุกิจ  อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) กล่าวว่า  การฟื้นตัวหุ้นไทยมาจากภายในประเทศ  แม้ว่าปัจจัยภายนอกค่อนข้างท้าทาย แต่เศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การเปิดประเทศของจีนที่จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2565 การบริโภคภายในประเทศยังแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่ชะลอตัว

บริษัทจดทะเบียนไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นโยบายการเงินก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้ตลาดไม่ผันผวน แต่ก็ต้องติดตามเรื่องค่าเงินบาท  นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกปี  

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีแนะนำแบ่งเป็น 2 พอร์ต สัดส่วน 70:30 โดยพอร์ตแรกสัดส่วน 70%  เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่ได้ประโยชน์จากเปิดเมืองของจีนและเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว เช่น  AOT, BBL, BDMS, CPALL, CRC, GPSC และ SCGP ส่วนพอร์ตที่สองสัดส่วน 30% เน้นหุ้นที่ผลดำเนินงานกลับมาดี มีความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินต่ำ เช่น  AU, HANA และ SECURE

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า  ตั้งแต่ต้นปี 66 ในด้านกฎหมายภาษีอากรที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ  ประกอบด้วยภาษีขายหุ้นที่เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลให้เริ่มเสียภาษีตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 66 ในอัตรา 0.055% ของมูลค่าขายหลักทรัพย์ฯ แต่ต้นปี 67 จะเก็บเต็มจำนวนที่ 0.11% ของมูลค่าขาย ภาษีขายหุ้นนี้มีแนวคิดมานานแต่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 35

โดยลูกค้าที่ซื้อหุ้นไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ขายต้องจ่ายภาษีไม่ว่าจะขายกำไรหรือขายขาดทุน ทำให้นักลงทุนมองว่ามีต้นทุนค่าขายเพิ่มขึ้น เช่น หากซื้อหุ้นมีค่าธรรมเนียมซื้อประมาณ 0.157% (ค่าธรรมเนียม cash balance แบบ online) แต่เวลาขายแทนที่จะเหมือนกับการซื้อคือ 0.157% พอมีภาระภาษีทำให้ต้นทุนตอนขายในปี 2566 จะจ่ายเพิ่มเป็น 0.212% (0.157% + 0.055%)

ซึ่งผลกระทบนี้จะมีผลต่อนักลงทุนต่างกันแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ต้องกังวลคือกฎหมายให้ Broker เป็นผู้ชำระภาษีและจัดการแทนนักลงทุน ทำให้ลดภาระความยุ่งยากของนักลงทุนไปได้

นอกจากนี้ยังมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 66 กฎหมายได้เลื่อนระยะเวลาการเสียภาษีของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดไว้ในเดือนเม.ย. 66 เลื่อนเป็นเดือนมิ.ย. 66 และรัฐบาลลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของภาระภาษีที่คำนวณได้  รวมถึงสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการและได้ใบกำกับภาษีระหว่าง 1 ม.ค.66 - 15 ก.พ.66 สามารถนำมาหักเงินได้เสียภาษีได้ 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นส่วนแรก 30,000 เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ  

ส่วนที่ 2 อีกจำนวน 10,000 บาท  ต้องมีใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ได้เฉพาะ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ร้านค้าอยากเข้ามาร่วมในระบบจัดทำใบกำกับแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมองว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ในระบบภาษีของประชาชนอย่างมากทีเดียว

 

logoline