svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ธุรกิจ-การตลาด

BJC แต่งตั้ง "ฐาปณี" นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

28 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

BJC ประกาศแต่งตั้ง ‘ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล’ ลูกสาวเจ้าสัวเจริญนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดในรอบ 140 ปี

รายงานข่าวจาก บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC  แจ้งว่า บริษัทได้ประกาศแต่งตั้ง น.ส.ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งการขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งนี้ของ น.ส.ฐาปณี นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี

หลังจากที่ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนธุรกิจของ BJC สู่ความสำเร็จในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสมาอย่างยาวนาน โดยกำหนดให้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจุบันน.ส.ฐาปณี ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร กรรมการการลงทุน และเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และกำกับดูแลกิจการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท ทีซีซี อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกด้วย

อีกทั้งน.ส.ฐาปณี ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำกลุ่มบีเจซี และบิ๊กซี เข้าร่วมในกิจกรรมโครงการจิตอาสาพัฒนา ‘เราทำความดี ด้วยหัวใจ’ และได้รับรางวัลสตรีนักบริหารภาคเอกชนดีเด่น ประเภทสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ ประจำปี 2557 และ 2561

สำหรับฐาปณีนั้นเป็นลูกคนที่ 4 ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 3 ตามข้อมูลของนิตยสาร Forbes Thailand โดยมีมูลค่าทรัพย์สินราว 3.94 แสนล้านบาท ด้านการศึกษาน.ส.ฐาปณี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเดิมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ

น.ส.ฐาปณี กล่าวว่า แผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2565 – 2569) ของ BJC จะใช้งบลงทุน 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นประมาณ 12,000-14,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมวางเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเพื่อตอบแทนสังคมไทย โดย BJC มีผลงานที่แข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรม

รวมถึงมีศักยภาพในการรองรับการ กระจายสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันกลุ่ม BJC มีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 236,000 สาขา ทั่วภูมิภาคเอเชีย อาทิ เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม จีน สปป. ลาว และ กัมพูชา เป็นต้น

สำหรับ BJC ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีกลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (Packaging Supply Chain) กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (Consumer Supply Chain)

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค (Healthcare & Technical Supply Chain) ธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่ง (Modern Trade Supply Chain) และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ (Other business) โดยมีจำนวนพนักงานกว่า 54,000 คน ใน 6 ประเทศ ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566

 

logoline