svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ธุรกิจ-การตลาด

JD CENTRAL โบกมือลาตลาดไทย "หนีขาดทุน-แข่งดุ"

05 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตลาดอีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลสไทยสั่นสะเทือน หลังJD CENTRAL ชอปปิ้งออนไลน์ชั้นนำในไทยประกาศหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 นี้เป็นต้นไป จากผลพวกของการแข่งขันในธุรกิจดุเดือด ขาดทุนมายาวนานกว่า 5 ปี จนไปต่อไม่ไหว!

ช็อกวงการตลาดอีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลสในไทย หลังจากบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด   ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) และเจดีดอทคอม (JD.com) ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน ให้บริการแพลตฟอร์ม JD CENTRAL  ชอปปิ้งออนไลน์ชั้นนำในไทย ประกาศหยุดให้บริการโดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 นี้เป็นต้นไป

โดยการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าอย่างเป็นทางการของเจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL Official Store) จะปิดการซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 15 ก.พ. 2566 ส่วนตลาดกลาง (ร้านค้าอื่นๆ) จะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มี.ค. 2566 ขณะที่การจัดส่งสินค้า เจดี เซ็นทรัล จะจัดการคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ก่อนและภายในวันที่ 3 มี.ค. 2566 โดยเวลาการจัดส่งจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทขนส่งภายนอกและผู้ขาย

ส่วนการบริการหลังการขาย ศูนย์บริการหลังการขาย (Customer Services) จะยังคงดำเนินการให้บริการหลังการขายสำหรับคำสั่งที่เสร็จสมบูรณ์ โดยจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มี.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ผ่านช่องทางศูนย์บริการช่วยเหลือลูกค้าออนไลน์ (Live Chat Channel) โทรศัพท์ 0-2030-4599 อีเมล [email protected]

ขณะที่คูปองส่วนลด คะแนนสะสม JD (JD POINTS) และคูปองส่วนลดจะสามารถใช้ได้จนถึงเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มี.ค. 2566 ส่วนการรับประกันสินค้า ดำเนินการโดยแบรนด์ต่างๆ ตามนโยบายของแบรนด์และกฎหมายไทย ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท JD.com เพื่อขอกลับไปโฟกัสตลาดในจีนที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 มาตลอด  

JD CENTRAL โบกมือลาตลาดไทย "หนีขาดทุน-แข่งดุ"

หากย้อนไทม์ไลน์ของ JD CENTRAL ก่อตั้งขึ้นวันที่ 30 ต.ค.60 จากความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ปสัดส่วน 41.75%  และเจดีดอทคอม (JD.Com) ประเทศจีน ในสัดส่วนการถือหุ้น  58.25%   ด้วยงบลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายขึ้นเป็น เบอร์ 1 ของไทย แต่ผลการดำเนินงานไม่ได้ดีอย่างที่วางเป้าหมายไว้ โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลขาดทุนเพิ่มขึ้นทุกปีจากสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรง

จากข้อมูลงบการเงินของ JD CENTRAL ย้อนหลังปี 60-64 ที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า มีผลขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ

โดยในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.60 มีรายได้รวมประมาณ 5.2 แสนบาท มีผลขาดทุนกว่า 3.7 ล้านบาท

ปี 61  มีรายได้รวม 458 ล้านบาท มีผลขาดทุน  944.12 ล้านบาท

ปี 62 รายได้รวม 1,285 ล้านบาท มีผลขาดทุน 1,342.61 ล้านบาท

ปี 63 มีรายได้รวม 3,492 ล้านบาท มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 1,375.51 ล้านบาท

ปี 64 รายได้รวม 7,443 ล้านบาท มีผลขาดทุน  1,930.44 ล้านบาท

ขณะที่คู่แข่งอย่าง Shopee และ Lazada แม้จะเป็นแบรนด์ติดตลาด ขวัญใจนักช้อปออนไลน์ทั่วฟ้าเมืองไทย แต่ในส่วนของผลประกอบการ ก็ไม่ได้ออกมาสวยหรูเช่นกัน

โดย Shopee มีผลขาดทุนอย่างหนักมาต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ปี 61 มีรายได้รวม 165 ล้านบาท ขาดทุน 4,113 ล้านบาท, ปี 62 รายได้รวม 1,986 ล้านบาท ขาดทุน 4,745 ล้านบาท, ปี 63 รายได้ รวม 5,812 ล้านบาท ขาดทุน 4,170 ล้านบาท และปี 64 รายได้รวม 13,322 ล้านบาท ขาดทุน 4,972 ล้านบาท
   
ส่วน Lazada ในปี 61 มีรายได้รวม 8,162 ล้านบาท ขาดทุน 2,645 ล้านบาท, ปี 62 รายได้รวม 9,413 ล้านบาท ขาดทุน 3,707 ล้านบาท, ปี 63 รายได้รวม 10,011 ล้านบาท ขาดทุน 3,988 ล้านบาท และปี 64 รายได้รวม 14,675 ล้านบาท แต่เริ่มเห็นกำไรบางแล้วที่ 226 ล้านบาท

JD CENTRAL โบกมือลาตลาดไทย "หนีขาดทุน-แข่งดุ"

ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเจดี เซ็นทรัล ต้องถอนการลงทุนทุนออกจากไทยและอินโดนีเซีย และกลับไปมุ่งเน้นตลาดประเทศจีน ซึ่งเบื้องหลังของตัวเลขการขาดทุนที่ได้มาในตลาดไทยนั้น มาจากหลายส่วน ทั้งยอดผู้ใช้งานที่ยังถูกทิ้งห่างจากเบอร์ 1 คือ Shopee จากประเทศสิงคโปร์ และ Lazada บริษัทลูกของ Alibaba Group จากประเทศจีน

ขณะที่จุดแข็งในการขายสินค้าจองเจดีเซ็นทรัล จะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที เทคโนโลยี เป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าสินค้าจะมีความหลากหลาย แต่มูลค่าในการซื้อต่อหน่วยค่อนข้างสูง และเป็นสินค้าที่ใช้นาน ไม่ได้มีความถี่ในการสั่งบ่อยครั้ง ที่จะช่วยปั๊มรายได้เหมือนกับสินค้าในลาซาด้า และ Shopee  ที่มีจุดเด่นคือสินค้าแฟชั่น  แม้ราคาขายต่อหน่วยไม่สูง แต่เป็นสินค้าที่มีการซื้อบ่อยครั้ง  

นอกจากนี้ในช่วงเกิดโควิด-19 ระบาด ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการค้าออนไลน์ได้รับความนิยมสูงจากลูกค้า เนื่องจากไม่สามารถออกไปไหนได้ทำให้มียอดขายสินค้าผ่านออนไลน์พุ่งกระฉูด  แต่หลังโควิดซาลง ลูกค้าก็หันกลับมาชอปปิ้งผ่านเคาน์เตอร์กันมากขึ้น ทำให้ยอดขายออนไลน์เริ่มชะลอลง  

การตัดสินใจม้วนเสื่อของเจดี เซ็นทรัล ในครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานและผู้บริหารประมาณ 500 คน ถูกเลิกจ้างทั้งหมด โดยบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย พร้อมด้วยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินช่วยเหลือพิเศษ ซึ่งการปิดให้บริการเป็นการตัดสินใจร่วมกันทั้งจากกลุ่มเซ็นทรัลและผู้ถือหุ้นเจดีดอทคอม โดยปิดพร้อมกันทั้งในไทยและอินโดนีเซีย  

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยนับจากนี้ไปคือ การหายไปของเจดี เซ็นทรัล อาจทำให้เกิดการผูกขาดการค้าออนไลน์จากเพียงสองเจ้าใหญ่ โดย 2 ค่ายดัง ก็เริ่มขึ้นค่าคอมมิชั่นที่เรียกเก็บจากร้านค้า ซึ่งร้านค้าต่างๆ ต้องจำยอม เพราะคนไทยนิยม ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มสองรายนี้ ซึ่งภาครัฐควรจะเข้าไปดูโครงสร้างราคาเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือขายสินค้าในราคาที่สูงเกินควรเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่

แม้ว่าภาพรวมตลาดค้าปลีกปัจจุบันมีมูลค่ามากถึง 200,000 ล้านบาท และช่องทางออนไลน์ดูเหมือนจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แต่หากดูจากข้อมูลตัวเลขแล้ว ช่องทางขายผ่านอีคอมเมิร์ซยังมีสัดส่วนเพียง 5-6% ของยอดค้าปลีกโดยรวมเท่านั้น ซึ่งการที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้อย่างทั่วถึง คงต้องผลักดันให้การซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซมีสัดส่วนมากกว่านี้
   

"แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือตัวผู้ประกอบการเอง ที่ต้องมีแพลทฟอร์มที่ตรงใจผู้บริโภค และการจัดวางสินค้าที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ให้ได้มากที่สุด เพราะตัวอย่างของเจดี เซ็นทรัล สะท้อนให้เห็นแล้วว่า แม้แบรนด์จะแข็งแกร่งและมีจุดแข็งแค่ไหน แต่สุดท้ายผู้ที่ชี้เป็นชี้ตายว่าซื้อหรือไม่ซื้อ ธุรกิจจะไปต่อได้หรือไม่ ก็คือผู้บริโภค ถ้าสินค้าไม่โดนใจ ราคาสู้ไม่ไหว การตลาดไม่ปัง ต่อให้ใหญ่แค่ไหน ก็ไปไม่รอด"

 

JD CENTRAL โบกมือลาตลาดไทย "หนีขาดทุน-แข่งดุ"

 

logoline