svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ธุรกิจ-การตลาด

"แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ" แข่งเดือด เปิดศึกชิงเงินฝากรับมือเศรษฐกิจปีเถาะ

02 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตลาดการเงินร้อนระอุ แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ แข่งดุ ระดมเงินฝากกันคึกคัก  หลังธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึงปี 2566 รองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่าโต 3.7 % 

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์บ้านเรา กลับเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจนขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ตั้งแต่รอบการประชุมเดือนส.ค. ก.ย. และธ.ค.ครั้งละ 0.25% รวมเป็นการปรับขึ้นทั้งหมด  0.75% หนุนให้ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยืนอยู่ที่ 1.25%  

สาเหตุที่ทำให้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคต และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจาก 3.2 % ในปีนี้ เป็น  3.7% ในปีหน้า และในปี 67 เป็น  3.9 %  

แม้การขยับของ กนง.ในรอบแรกๆ ยังไม่ค่อยมีเสียงตอบรับจากบรรดาธนาคารต่างๆ มากนัก แต่เมื่อ กนง.เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ก็เริ่มเห็นการส่งผ่านสู่ตลาดเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นตาม

 เริ่มจาก "ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี" ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บัญชีเงินฝากดิจิทัล ทีทีบี มีเซฟ อีก 0.60% จากอัตราปัจจุบัน เป็นสูงสุด 1.70% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค ที่ผ่านมา  เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ที่เริ่มเก็บเงินและต้องการความยืดหยุ่นด้านบัญชีเพิ่มมากขึ้น

พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก บัญชี ทีทีบี โนฟิกซ์จาก 0.90% เป็น 1.10% สำหรับบัญชีที่มีวงเงินฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับผลตอบแทนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งเสริมวินัยการออมเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นไป

 

   

ถัดมาคือแบงก์ลูกครึ่งญี่ปุ่นอย่าง "ธนาคารกรุงศรีอยุธยา" ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษ 14 เดือน อีก 0.25% จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เป็น 1.25% ต่อปี เพื่อเป็นการสนับสนุนการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้กับลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น 

ขณะเดียวกันธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ  MRR   0.20%   ส่วนอัตราดอกเบี้ยจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR   และ อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี  หรือ MOR 0.25 %  มีผล  8 ธ.ค. 65

ส่วน "แบงก์ใบโพธิ์ หรือไทยพาณิชย์" ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ตามมาติด ๆ  โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราสูงสุด 0.45% ปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ระหว่าง 0.25% - 1.40% ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.125% - 0.25% ต่อปี

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.995% เป็น 6.120% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.500% เป็น 5.750% ต่อปี 

อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.095% เป็น 6.345% ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65

ด้าน "แบงก์รวงข้าวอย่างธนาคารกสิกรไทย"  ไม่น้อยหน้า ปรับเพิ่มดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ MLR และ MOR 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยMLR จาก 5.72% เป็น 5.97%  

ตราดอกเบี้ย MOR จาก 6.09% เป็น 6.34% ขณะที่  MRR ขึ้น 0.13%   จาก 5.97% เป็น 6.10%  และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10%-0.40% มีผล 8 ธ.ค. นี้

ฝั่ง "กรุงไทย" ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50% ต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้กับผู้ฝากเงิน และเสริมสร้างวินัยการออม  ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR  ปรับเพิ่มขึ้น 0.25%  ทำให้ MLR อยู่ที่   5.75% ต่อปี ส่วน MOR  อยู่ที่   6.32% ต่อปี  

ขณะที่ MRR ขึ้นเพียง 0.15% ต่อปี อยู่ที่ระดับ 6.37% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 9  ธ.ค.นี้

ส่วน "แบงก์บัวหลวง อย่างธนาคารกรุงเทพ "  เปิดตัวเงินฝากสะสมทรัพย์  e-Savings อัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี สำหรับวงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท และสำหรับวงเงินส่วนเกิน 1 ล้านบาทที่อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ฟากแบงก์รัฐอย่าง "ธนาคารอาคารสงเคราะห์ " (ธอส.) เปิดตัว “ เงินฝาก ECO Savings” ให้ผลตอบแทนสูงด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษถึง 1.75% ต่อปีสำหรับผู้ที่มียอดเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท  

โดยผู้ที่มียอดเงินฝากคงเหลือมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป รับผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยเท่า กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงสุดตามประกาศของธนาคาร

ขณะที่ธนาคารขวัญใจเกษตรกรอย่าง  "ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร" (ธ.ก.ส.) เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยทันใจ ฝากปุ๊บ รับดอกเบี้ยล่วงหน้าไปใช้จ่ายช่วงปีใหม่ทันที 1.25 %  กำหนดวงเงินฝากขั้นต่ำตั้งแต่ 1 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ยกเว้นดอก เบี้ยสำหรับบุคคลธรรมดา ระยะเวลาฝาก 11 เดือน   

นอกจากนี้หากย้อนดูข้อมูลเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดจากธนาคารแห่งประ เทศไทย(ธปท.) เดือนก.ย. 65 พบว่า จำนวนบัญชีลูกค้าเพิ่มขึ้น 119,535,556 บัญชี คิดเป็นเงินฝาก 16.61 ล้านล้านบาท

หากเทียบช่วงเดียวกันของปี 64 จำนวนบัญชีอยู่ที่  111,573,563 บัญชี คิดเป็นเงินฝาก 15.92 ล้านล้านบาท

สำหรับฐานเงินฝากออมทรัพย์จำนวนบัญชีอยู่ที่ 108 ล้านบัญชี จากเดิมอยู่ 100 ล้านบัญชี วงเงินอยู่ที่ 11.49 ล้านล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 อยู่ที่ 10.80 ล้านล้านบาท 

ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำมากกว่า 3 เดือน-6 เดือนอยู่ที่ 867,461 บัญชี วงเงินฝากอยู่748,112 ล้านบาท  หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 เงินฝากอยู่ที่ 849,164 บัญชี  วงเงินฝากอยู่ที่ 611,840 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นภาพว่าแบงก์เริ่มระดมเงินฝากกันมากขึ้น  โดยเฉพาะออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษ  เงินฝากปลอดภาษี เนื่องจากต้องการรักษาฐานลูกค้าเงินฝากเดิมไม่ให้หนีไปฝากเงินสลากออมทรัพย์ของแบงก์รัฐ ที่นอกจากได้ดอกเบี้ยแล้วยังมีแต้มต่อได้ลุ้นรางวัลอีก

สอดรับกับข้อมูลของ"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ที่ระบุว่า จำนวนแคมเปญเงินฝากพิเศษหนาตาขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา

โดยแคมเปญเงินฝากพิเศษออกใหม่ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่า 20 แคมเปญ ส่วนใหญ่เป็นการออกแคมเปญของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นหลัก

ซึ่งแม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นการออกเพื่อชดเชยโครงการ แคมเปญเงินฝากที่ครบกำหนด หรือเตรียมจะครบกำหนด แต่เมื่อหักปัจจัยดังกล่าวแล้ว ก็ยังพบว่า มีสัญญาณการออกแคมเปญเงินฝากที่เร่งตัวขึ้น

นอกจากนี้แคมเปญที่ออกใหม่นำเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิมประมาณ 0.36-1.00% เมื่อเทียบกับแคมเปญที่ออกในช่วงเดือนมิ.ย.65

นอกจากนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะปรับสูงขึ้นในลักษณะที่ชันขึ้นอีก โดยมาจากแรงส่งทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (ก่อนกำหนดการปรับเพิ่มอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ อีก 0.23% ในช่วงต้นปี 2566)

ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นมากกว่า 0.50% ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 

ส่วนประมาณการเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ สิ้นปี 2565 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.7% (เทียบกับ 4.0% ณ สิ้นปี 2564 และ 3.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565) ก่อนที่จะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.0-5.5% ในปี 2566

ตามทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยฟื้นตัว และการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฝากเงินและเงื่อนไขการถอนเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนเงินได้ตลอดเวลานั้น อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน หรือ 6 เดือน 

ขณะที่เงินฝากประจำแม้ดอกเบี้ยสูง แต่หากถอนก่อนครบกำหนดอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารประกาศไว้

ดังนั้นการการเลือกเก็บออมต้องดูว่ารูปแบบการฝากเงินแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา  เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยตามคาดหวังแล้ว จะต้องไม่เป็นภาระมากเกินไป และสามารถเบิกถอนออกมาใช้จ่ายได้กรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น ....

"แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ" แข่งเดือด เปิดศึกชิงเงินฝากรับมือเศรษฐกิจปีเถาะ

logoline