20 พฤจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดการประชุมเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 พ.ย.นี้ เพื่อให้ทูตไทยรับทราบ แนวนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาล และเป็นการแลกเปลี่ยนระดมสมอง กับผู้บริหารกระทรวง เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ และเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนงานประจำปี 2567 ถึง 2568
รวมถึงเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่สำคัญของรัฐบาล ทั้งนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การค้าชายแดน และข้ามแดน อีกทั้งเพื่อรับทราบพัฒนาการเกี่ยวกับ mega trend รวมทั้งนโยบายที่สำคัญ เช่น นโยบายซอฟต์พาวเวอร์, นโยบายแลนด์บริดจ์, การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และการลงทุนสีเขียว การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และดิจิทัล Economic Partnership Agreement และเพื่อให้เอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ไทย ได้รับฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายทาการทูตให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดย นายปานปรีย์ หวังว่า การประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง การขับเคลื่อนนโยบายการต่างประเทศสู่ยุคใหม่ เพื่อให้เป็นการดำเนินการทางการทูตในเชิงรุก ในยุคโลกแบ่งขั้ว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อการทูตของไทย ว่าควรจะวางตำแหน่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และจะแสวงหาโอกาสบริหารจัดการ และบริหารการจัดการประโยชน์ภายในประเทศ และนอกประเทศได้อย่างไร
เพราะการต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน จะต้องไม่ทำไปตามปกติประจำวัน หรือแบบรูทีน แต่จะต้องเป็นการดำเนินการเชิงรุก ให้สามารถตอบโจทย์ และตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศ และของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้
นายปานปรีย์ ยังมั่นใจว่า การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อให้ประชาชนคนไทย มีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ ในบริบทที่ประเทศประชาชนมีความตื่นตัว ให้ความสนใจการต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น การทำงานของทูต และกงสุลใหญ่ ต้องมีความรวดเร็ว และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ และความเป็นมืออาชีพของเอกอัครราชทูตไทย และกงสุลใหญ่ ในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนทางการทูตยุคใหม่ของไทย โดยทุกฝ่ายจะต้องผนึกกำลังให้มากขึ้น
ด้าน นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นครั้งแรกในช่วง 7 ปี นับตั้งแต่ 2559 ซึ่งมี เอกอัครราชทูตไทย, กงสุลใหญ่ไทย, อุปทูต และรักษาการกงสุลใหญ่ไทย เข้าร่วม 97 คน แบ่งเป็นสถานเอกอัครราชทูต 65 แห่ง, สถานกงสุลใหญ่ 28 แห่ง, คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ และอาเซียน 3 แห่ง รวมทั้งสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย 1 แห่ง ซึ่งหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ คือ " การทูตเชิงรุกในโลกแบ่งขั้ว" เพื่อสะท้อนแนวทางการทำงานของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นบทบาทรักษา และแสวงหาผลประโยชน์ของไทย ในสภาวะการของโลกแตกแยก และมีการแข่งขันมากขึ้น ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์, ภูมิเศรษฐศาสตร์, ภูมิเทคโนโลยี และการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีลักษณะหลายขั้วอำนาจ รวมถึงประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศมีความหลากหลายมากขึ้น
สำหรับกำหนดการประชุม ดังนี้
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ มีผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ และการลงทุน เข้าร่วมการประชุม พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนด้วย โดยจะมีการระดมสมองนโยบายการต่างประเทศของไทย ทั้งความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา, ไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน, สถานการณ์ในเมียนมา, การอพยพคนไทยในอิสราเอล, การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดตลาดต่างแดน และการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นต้น
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้ขับเคลื่อนงาน หลังเจรจาการค้าการลงทุนกับบริษัทต่างๆ นั้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามงานอย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด
เพื่อที่จะเตรียมการในการนำเสนองาน ส่วนในวันที่ 21 พ.ย. นายกฯประชุมมอบนโยบาย 3 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย กระทรวงต่างประเทศ, ทูตพาณิชย์ทั่วโลก, เอกอัครราชทูต และกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่นายกฯ จะมอบหมายงานให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ที่อยู่ในต่างประเทศทั้งหมดขับเคลื่อนงาน
โดยทั้งสามหน่วยงานนี้เป็นทีมไทยแลนด์ ที่จะต้องทำงานประสานกัน ซึ่งนายกฯ จะมอบหมายโยบายอย่างชัดเจน ให้ทั้งสามส่วนทำงานร่วมกัน และในวันที่ 23 พ.ย. จะมีการทำเวิร์กช็อปร่วมกับสภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมไทย, สมาคมธนาคาร, สมาคมขนส่งสินค้าเดินเรือทางทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายต่อยอดสิ่งที่นายกฯได้ไปพูดคุยกับนักธุรกิจมา เป็นองคาพยพของประเทศไทย เพื่อรองรับการเดินหน้าขยายเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้สอดรับกับการค้าการลงทุน การคมนาคมขนส่ง ขณะนี้มีความชัดเจนขึ้นว่า จะดำเนินการแก้ไขอะไรบ้าง