svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินดิจิทัล 10,000 บาทคืออะไร อัพเดทเงื่อนไขล่าสุดมีอะไรบ้าง

23 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลุ้นกันตัวโก่งสำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่รัฐถกหลักเกณฑ์และวงเงินที่ใช้อยู่นั้น ในวันนี้พามาอัพเดทข้อมูลหลักเกณฑ์เบื้องต้น-ใช้เงินอย่างไร

จากนโยบายหาเสียง สู่นโยบายที่ต้องทำจริง อย่างการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ถือเป็นเรื่องฮอตได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของนโยบายดังกล่าว 

แม้ว่านโยบายนี้จะเป็นตัวจุดชนวนให้เศรษฐกิจประเทศกลับมาพลิกฟื้นอีกครั้ง โดยรัฐบาลจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกหย่อมหญ้า เพื่อหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของ “ภาษี” เพิ่มขึ้น  
 

เงินดิจิทัล 10,000 บาทคืออะไร อัพเดทเงื่อนไขล่าสุดมีอะไรบ้าง

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเบื้องต้น และการใช้จ่ายอะไรได้บ้างนั้น “เนชั่นออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 บาทมาฝากกัน 

ทำความรู้จักเงินบาทดิจิทัล 10,000 บาท 

เงินบาทดิจิทัล หรือ เงินดิจิทัล มีชื่อทางการว่า  Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ซึ่งออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. โดยในเบื้องต้นนั้น เงินดิจิทัลนี้จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถใช้จ่ายได้โดยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet  
 
เงินดิจิทัลที่แจกจะเป็นเหรียญ (คูปอง) ในรูปแบบบล็อกเชนที่เท่ากับเงินบาท ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับเหรียญอื่นได้ สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขดังนี้

•    ขยายขอบเขตจากรัศมี 4 กิโลเมตร โดยอาจจะเป็นการใช้จ่ายภายในตำบลอำเภอ หรือจังหวัดก็ได้
•    ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้
•    มีอายุการใช้งาน 6 เดือน

 

 

การลงทะเบียนเงินดิจิทัล  
•    มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
•    สามารถรับเงินดิจิทัลได้ด้วยการใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเท่านั้น
•    ผู้ที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการคนชรา, ผู้พิการ ฯลฯ ก็ยังสามารถได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัลเต็มจำนวน

ใช้จ่ายสินค้าอะไรได้บ้าง

•    ใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เครื่องมือ อุปกรณ์ ของใช้ต่างๆ ได้ตามปกติ
•    ห้ามนำไปใช้หนี้ ซื้อสินค้าอบายมุข ยาเสพติด และการพนัน
•    ห้ามซื้อสินค้าออนไลน์

•    การใช้จ่ายเงินดิจิทัล จะต้องใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้เงิน 
•    เงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ไม่สามารถนำไปแลกเป็นเงินสด กดเป็นเงินสด หรือทำธุรกรรมการเบิกถอนได้ 
•    การใช้จ่ายเงินดิจิทัล ผ่านกระเป๋าเงิน Digital Wallet หรือบัตรประชาชน 

ข้อสังเกตของเงินดิจิทัล  

•    ความเสี่ยงเกิดเงินเฟ้อ  เนื่องจากเป็นการอัดฉีดเงินทำให้เงินในระบบเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่อุปทานและปัจจัยการผลิตเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

•    ความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมาย เงินดิจิทัลใกล้เคียงกับ Utility Token   แต่มีข้อขัดแย้งด้านกฎหมาย โดย Utility Token ห้ามใช้ชำระราคาสินค้าและบริการเป็นการทั่วไป ซึ่งขัดกับหลักเกณฑ์ของธปท.  

•    เทคโนโลยีบล็อกเชนอาจไม่ตอบโจทย์ในหลายด้าน   ถ้าพรรคเพื่อไทยใช้บล็อกเชนแบบ Public Blockchain  ทุกคนจะเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนทั้งหมดจะกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของประชาชน และหากใช้บล็อกเชนแบบ Private Blockchain รัฐเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวทุกธุรกรรมแต่เพียงผู้เดียว ก็จะเป็นระบบที่ไม่ต่างไปจากระบบ Database ทั่วไป ทั้งยังสามารถแก้ไขธุรกิจย้อนหลังได้ จึงไม่มีความโปร่งใสอย่างที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ยังไม่มีความชัดเจน มีแค่เพียงคำพูด “นายกรัฐมนตรี” ที่การันตีเดินหน้าตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนเท่านั้น จะเป็นจริงหรือไม่นั้นคงต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  แต่ที่แน่ ๆ  โครงการนี้ใช้งบสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทรัฐควรพิจารณาอย่างรอบคอบคำนึงผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้าน เพราะเงินที่นำมาใช้นั้น เป็นภาษีของประชาชน สิ่งที่จ่ายกับสิ่งที่ได้คุ้มกันหรือไม่

logoline