svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 'หั่น' จีดีพีเหลือ 3.3%

19 กันยายน 2566

เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ ระบุ เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว แม้ว่าในระยะที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น

 

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลงจาก 4.2% มาอยู่ที่ 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 4.2% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.5% ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่ 1.4% อย่างไรก็ตาม คาดว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 'หั่น' จีดีพีเหลือ 3.3%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปีนี้ คือ การเมืองเริ่มนิ่งผ่านช่วงชะงักงัน มีการกระตุ้นการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 8 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 18 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 2.2 ล้านคน ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2.7-2.8 ล้านคนต่อเดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งปีเป็นไปตามคาดที่ 30 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 5 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.2 ล้านคน ซึ่งมองว่าเรื่อง Free Visa อาจจะต้องทำควบคู่กับการเพิ่มเที่ยวบินด้วย

สำหรับนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มองว่าอาจจะเร็วเกินไปในการประเมิน เนื่องจากต้องรอดูแหล่งเงินทุน แหล่งที่มาของเงิน และจะเกิดขึ้นจริงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าภาพยังเป็นลดการขาดทุนในช่วง 5-6 ปีข้างหน้าและยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้าและถัดไปยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐมีรายได้มากขึ้นและจะช่วยสมดุลรายได้

 

ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราวมากกว่า จะห่วงเรื่องราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว ราคาอาหารสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น จะดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากกว่าซึ่งเป็นความเสี่ยงของปีหน้าด้วย