svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"อาคม" ยันส่งออกไตรมาส 2 ฟื้น "การใช้จ่ายสะพัด"

27 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“อาคม” ประเมิน "ส่งออก" ฟื้นไตรมาส 2 คาดกำลังซื้อการใช้จ่ายกลับคืนมา โชว์การจัดเก็บรายได้ 5 เดือนทะลุเป้า ยันฐานะการเงิน-การคลังประเทศยังแกร่ง จับตาสถานการณ์แบงก์ต่างชาติล่มใกล้ชิด  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ส่งออกในไตรมาส 2/2566 หรือตั้งแต่กลางปีเป็นต้นน่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากเชื่อว่าประชาชนจะเริ่มมีการปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น อาจมีการปรับไปซื้อสินค้าที่มีคุณภาพรองลงมาในราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อมากขึ้น  ซึ่งตรงนี้จะมีส่วนช่วยทำให้กำลังซื้อในตลาดทั่วโลกฟื้นตัวได้ดีขึ้น

การส่งออกของไทยชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/2565 และขยายตัวติดลบมาแล้ว 5 เดือนติดต่อกัน จากออเดอร์สินค้าที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจจะยังมีปัญหาอยู่ ส่วนสินค้าในหมวดเกษตรยังไปต่อได้" 

ขณะที่การส่งออกรถยนต์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังยืนยันตัวเลขการผลิตเพื่อส่งออกว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย ส่วนออเดอร์รถยนต์ในประเทศก็อาจจะใช้ระยะเวลาในการส่งมอบนานขึ้น แต่การท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวได้ดี ตรงนี้ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย 

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ว่า ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ก.พ.66) ยังเกินเป้าหมายอยู่ และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ตรงนี้เป็นผลดีที่ทำให้รัฐบาลสามารถบริหารโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ มีการออกนโยบายซึ่งมีการใช้เม็ดเงินในการดำเนินโครงการจำนวนมาก จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบกับแผนการคลังระยะปานกลางหรือไม่นั้น  เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น จึงอยากให้รอดูไปก่อน

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาโดยเฉพาะสถานการณ์ในตลาดการเงินโลก จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะมีผลกระทบจากกรณีสถาบันการเงินในสหรัฐ 2 แห่ง จนทำให้ตลาดคาดการณ์ไปว่าเฟดจะมีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่น้อยกว่าเป้าหมายก็ตาม โดยเมื่อเฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ก็จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดทั้งหมดด้วย ดังนั้นการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของไทยก็ต้องดูจังหวะเวลา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้านแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ก็อาจมีผลกระทบกับภาระการชำระหนี้ของรัฐบาลบ้างเล็กน้อย ไม่ได้มากนัก เนื่องจากปัจจุบันภาระหนี้ราว 85% ของหนี้ต่างประเทศของไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกู้ในประเทศและมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (ฟิกซ์เรต) ส่วนภาระหนี้อีก 15% นั้น เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงตามภาวะตลาด จึงอาจได้รับผลกระทบในส่วนนี้บ้าง แต่ที่ผ่านมาก็มีการบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม อาทิ การเจรจายืดหนี้ออกไป เป็นต้น

“ต้องจับตาดูต่อไปว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ จะมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติในสถาบันการเงินซ้ำ หรือเพิ่มเติม แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกไหม ส่วนตัวคงตอบไม่ได้ แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลจะเข้าไปดูอย่างใกล้ชิด และป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง” น 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของไทยเอง จำเป็นจะต้องติดตามสถานการณ์ แต่ถามว่าสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรายงานว่าสถาบันการเงินมีการกันสำรองอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยก็มีเพียงพอ จึงสามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าฐานะการเงินและการคลังของไทยยังมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

logoline