svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ต่างชาติออเดอร์ 'ข่า' ปีละ 2 พันตัน! ส่งออกจีน อินโด ญี่ปุ่น

25 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวบ้านทรายงาม จ.อุตรดิตถ์ ปลูกข่าป่าตาแดง “ดึงคนออกป่า ดึงข่าเข้าสวน” ชาวบ้านมีอาชีพ ไม่บุกรุกป่า ปลูกปลอดสาร ได้มาตรฐาน GAP ผลผลิตดีเกินคาด ต้นข่าสูง 4 เมตร 3 คนโอบ กอ 40 กิโลกรัม แถมมีออร์เดอร์ส่งออก 2,000 ตันต่อปี

ที่บ้านทรายงาม หมู่ 10 ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ นายคำหล้า ดอกพุฒ นายก อบต.น้ำหมัน,นายประสิทธิ์ หล่อทอง ประธานกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์(ข่าตากแห้ง), นายสุทธนนท์ คำพัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10, นายอรัญ พึ่งนคร ปราชญ์ชาวบ้าน และสมาชิกกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ต.น้ำหมัน พาพิสูจน์ความสูง ความใหญ่ ของแหล่งปลูกข่าป่าตาแดงปลอดสาร ที่ชาวบ้านทรายงาม ต.น้ำหมัน เข้าร่วมโครงการ “ดึงคนออกป่า ดึงข่าเข้าสวน” ปรับที่ไร่ที่สวน ปลูกข่าป่าตาแดง จากเดิมกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ปัจจุบัน ข่าสด 14 บาท ข่าตากแห้ง 70 บาทต่อกิโลกรัม แถมมีออร์เดอร์ล่วงหน้าปีละ 2,000 ตัน ส่งที่ จ.เชียงใหม่และกรุงเทพฯ เพื่อส่งออกจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เห็นแล้วต้องตะลึง ข่าป่าตาแดงของชาวตำบลน้ำหมัน ซึ่งปลูกปลอดสาร และได้รับมาตรฐาน GAP จากพื้นที่เคยประสบภัยดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ปี 2549 หรือ 16 ปีที่ผ่านมาแทบไม่น่าเชื่อว่า ข่าป่าตาแดง ของตำบลน้ำหมัน 1 กอ มีความสูง 4 เมตร 3 คนโอบ ถ้าขุดจะได้หน่อหรือเหง้าน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม

             นายอรัญ พึ่งนคร ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า ตำบลน้ำหมัน อ.ท่าปลา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาภูมิประเทศคล้ายอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ตามป่ายังอุดมสมบูรณ์และมี ข่าป่าตาแดง ขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก แต่เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกทำร้ายป่า จึงพร้อมใจจัดทำโครงการ “ดึงคนออกป่า ดึงข่าเข้าสวน” นำข่าป่าปลูกในพื้นที่การเกษตรของตัวเอง อาศัยน้ำฝน เทวดาเลี้ยง เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ของปี จัดแปลงปลูกเป็นวัฏจักร ปีละ 1 แปลง เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกปีเมื่อถึงฤดูกาลคือช่วงเดือน มกราคม-เมษายนของปี และปลูกปลอดสาร ฝังในดินจะขยายพันธุ์เอง บำรุงต้นและดินด้วยวิธีถางถมห่มดิน คือถางกำจัดวัชพืช ให้เกิดอากาศถ่ายเท ข่าไม่มีศัตรูพืช แล้วนำวัชพืชมาทับถมหรือห่ม เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ซึ่งจะมีการแต่งกอ เพื่อให้ต้นสูงใหญ่สมบูรณ์ และหน่อมีน้ำหนักดี ทั้งนี้ข่าใช้เวลา 3 ปี ถึงขุดหน่อขายได้

       ทั้งนี้  พื้นที่1 ไร่ ปลูกข่า 1,000 กอ 3 ปีขุด ก่อละ 30-40 กิโลกรัม ข่าป่าตาแดง ตำบลน้ำหมัน มีคุณค่าทางสมุนไพรจะสูงกว่าข่าทั่วๆไป กลิ่นฉุน เมื่อขุดข่าที่แก่ ล้างให้สะอาด นำมาหั่นแล้วตาก 5 วัน จะแห้งเหมือนข้าวเกรียบ จึงเป็นที่ต้องการของโรงงาน ผู้ประกอบการ ใช้ในกระบวนการผลิตสมุนไพร เครื่องตุ๋นยาจีน เครื่องปรุงต่างๆ แต่ละปีจึงมีออร์เดอร์จองล่วงหน้าเพื่อส่งออก ปีละ 2,000 ตัน และปัจจุบันยังเป็นแหล่งเรียนรู้การแปรรูปสมุนไพรอินทรีย์ข่าตากแห้ง ที่สำคัญชาวบ้านมีอาชีพ ไม่บุกรุกป่า จากการทำไร่เลื่อนลอย

           นายคำหล้า ดอกพุฒ นายก อบต.น้ำหมัน กล่าวว่า ตลาดมีความต้องการ ข่าป่าตาแดง ของบ้านทรายงาม ต.น้ำหมัน ด้วยคุณสมบัติ มาตรฐานที่พร้อมส่งออก ส่วนใหญ่จะรับซื้อข่าตากแห้ง ดังนั้นเครื่องหั่นข่า จึงมีความจำเป็น ชาวบ้านคิดค้นเครื่องหั่นดัดแปลงจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สามารถหั่นข่าได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการคือ แว่นละ 5 มิลลิเมตร แยกเศษผงออก ทั้งนี้เครื่องหั่นใช้ไฟฟ้า 1 เครื่อง หั่นได้ประมาณ 2 ตัน ในหมู่บ้านตอนนี้มีทั้งหมด 50 เครื่อง ในส่วนของ อบต.น้ำหมัน ส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ให้เกษตรกร เพื่อต่อยอดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข่าป่าตาแดง เช่นน้ำพริกข่า น้ำพริกลาบ น้ำพริกต้มยำ และน้ำดื่มสมุนไพรจากข่า เป็นต้น

logoline