svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ปมร้อนเก้าอี้ "เลขา ก.ล.ต." สั่นคลอน ? 

24 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

3 ปมร้อน สะเทือนเก้าอี้ เลขา ก.ล.ต. หลัง บอร์ด ก.ล.ต. เสียงแตก จะให้ไปต่อ หรือ พอเท่านี้ ท่ามกลางข้อกังขาการมีส่วนได้ส่วนเสียการถือหุ้นของบอร์ด และคนในครอบครัว โยงการเมืองเข้ามาเกี่ยวพัน “หุ้นมอร์-ปิดโบรกเกอร์ AWS-บิทคัพ” 

นางสาว รื่นวดี สุวรรณมงคล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  จะหมดวาระในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566  คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะต้องสรรหา เลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่ หรือ สามารถพิจารณาคนเดิม อยู่ต่อได้อีก 1 วาระ

 

มีรายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีการประชุม ได้มีการพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล แต่ปรากฎว่าในที่ประชุม มีความขัดแย้งกันหนักในคณะกรรมการ ในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ และความเหมาะสม

โดยแหล่งข่าวจาก คณะกรรมการ ก.ล.ต. ระบุว่า ในการประชุมในวันดังกล่าว มีการถกเถียงกันอย่างหนัก เนื่องจากคณะกรรมการ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในการต่ออายุไปอีก 1 วาระ ซึ่ง เสียงของกรรมการที่โหวตให้ น.ส.รื่นวดี เลขาธิการ ก.ล.ต. ต่ออายุการทำงาน  เนื่องจากมีการทำงานที่เข้มข้น ตรงไปตรงมา และสร้างบรรทัดฐานในตลาดทุนได้อย่างดี  แม้ว่าจะมีอายุการทำงานได้แค่ 1-2 ปี

นอกจากนี้ การทำงานของ ก.ล.ต. ยังจำเป็นต้องขับเคลื่อนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนองค์กรของ ก.ล.ต.ให้มีอำนาจในการสอบสวนคดี เช่นเดียวกับอัยการ และต้องเดินหน้าในส่วนของคดีที่เกี่ยวพันกับคริปโตเคอเรนซี่ใหญ่ เช่น บริษัท บิทคัพ บริษัท ซิปแม็ก ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก

หรือคดีใหญ่ที่เกี่ยวพันกับกรณีหุ้น มอร์รีเทิร์น และโบรกเกอร์ รวมถึงมีความเด็ดขาด ในการสั่งปิดกิจการบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง แม้จะเกี่ยวพันกับคณะกรรมการ ก.ล.ต.บางคนก็ตาม ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อ

ปมร้อนเก้าอี้ "เลขา ก.ล.ต." สั่นคลอน ? 

ในที่ประชุมกรรมการ ก.ล.ต. มีหลายท่าน ที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่ออายุ และ ควรเปิดให้สรรหาใหม่ แต่ถ้า เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน จะสมัครเพื่อทำงานต่อไป ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย

สำหรับ กรรมการที่ไม่เห็นด้วยที่จะต่ออายุ นางสาว รื่นวดี เลขาธิการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน เนื่องจาก เป็นคนแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ จนเกิดปัญหาการเมืองภายในองค์กร เกิดความขัดแย้ง มีการแบ่งฝักฝ่าย จน "บอร์ด" แตกออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน การต่ออายุของเลขาธิการ ก.ล.ต. และอีกฝ่าย เสนอว่า ควรพิจารณาประเด็นนี้ให้ถี่ถ้วน เพราะเกี่ยวพันกับจุดยืนการมีส่วนได้ส่วนเสีย และการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ


ปมร้อนเก้าอี้ "เลขา ก.ล.ต." สั่นคลอน ? 
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีการแจ้งมติการประชุม ไม่เป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 4 ในการไม่ต่ออายุ นางสาว รื่นวดี  ทำให้เป็นประเด็นการถกเถียงกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นจะมีการฟ้องร้องคดีกัน ระหว่างเลขาธิการ ก.ล.ต.กับ คณะกรรมการ ก.ล.ต.ในประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการยืนยันปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นทางการจาก เลขาธิการ และ คณะกรรมการ ก.ล.ต.

แหล่งข่าวจาก กรรมการ ก.ล.ต.ยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้ง ทางความคิด และจุดยืนในการทำงาน ระหว่าง กรรมการ และ เลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นเรื่องจริง โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ประเด็นใหญ่ 

1. เป็นเรื่องจุดยืน และความสัมพันธ์ ของคน ในเรื่องการปิด บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 24 ราย บัญชีทรัพย์สิน 30 รายการ มูลค่าราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้พัวพันไปถึง เส้นทางการเงินในอดีต และการโอนเงินในกลุ่มครอบครัวของผู้บริหาร และครอบครัวของผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ คดีของ บล.เอเชีย เวลท์ ที่ ก.ล.ต. แจ้งความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และได้ส่งเรื่องให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดำเนินคดีอาญา และเสนอให้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังพิจารณา เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของ บล.เอเชีย เวลท์ น่าจะเป็นประเด็นใหญ่สุด

2. กรณีของกลุ่มบิทคับ ที่เป็นเป็นปัญหาที่ต่อเนื่อง และคาราคาซัง จากคำสั่ง ของ ก.ล.ต. เกี่ยวกับปัญหาเรื่องระบบปฏิบัติการ การให้บริการ และการสร้างปริมาณเทียมราคาเหรียญ จนนำมาซึ่งคำสั่งเปรียบเทียบปรับ เรื่องคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่นำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล

3. ปัญหากรณี บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่ประกาศระงับระงับธุรกรรมการถอนคริปโตเคอร์เรนซี และเงินบาท จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาทเ และปัจจุบันยังจ่ายเงินคืนให้นักลงทุนไม่ได้

โดยทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว นำมาซึ่งความขัดแย้งกันอย่างหนัก จนการประชุมบางครั้ง มีกรรมการ ต้องเสนอให้กรรมการบางท่าน ที่เกี่ยวพันต้องออกจากห้องประชุม ซึ่งทั้ง 3 เรื่อง มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวพัน จนนำมาซึ่งปัญหาการต่ออายุของ เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อภาพพจน์ ก.ล.ต. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน

สำหรับ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วย 

  1. นายพิชิต อัคราทิตย์
  2. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
  3. นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์
  4. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
  5. นายสุภัค ศิวะรักษ์ ​
  6. นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย
  7. นายวิพุธ อ่องสกุล​
  8. นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค
  9. นายพรชัย ชุนหจินดา
  10. นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล
logoline