svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ธุรกิจ-การตลาด

ถอดบทเรียนข้าวไทย! ทำไมเสียแชมป์โลก กับ ความท้าทายในปี 2566

02 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางการแข่งขัน ของตลาดข้าวโลกที่ร้อนแรง ไทยซึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ในทุกด้านทั้งปริมาณการส่งออก และ คุณภาพ กลับถดถอยลงจนเสียแชมป์ โดยเฉพาะด้านคุณภาพ ที่ผู้ส่งออกกังวลใจมากที่สุด และ อยากให้ภาครัฐเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ข้าวไทย”  ไม่ใช่เพียงสินค้าส่งออกหลัก แต่ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ ที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยไทย "เคย" เป็นผู้นำทั้งด้านปริมาณผลผลิต การส่งออก และ คุณภาพ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่หอมนุ่มไม่มีใครเหมือน ซึ่งปัจจุบันข้าวไทย เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จนสร้างคำถามให้ผู้ซื้อทั้งไทยและต่างประเทศว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้าวไทยในตอนนี้ ?

โครงการจำนำข้าวทุกเม็ด ทุบตลาดข้าวพัง ไทยเสียแชมป์ส่งออก

จุดเปลี่ยนสำคัญของข้าวไทย อ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ  ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่สุด คือ โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ในปี 2554 รัฐบาลของ นายกยิ่งลักษ์ ชินวัตร ที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดถึง 50% โดย ข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้น15% รับจำนำที่ ราคา 15,000 บาทต่อตัน และ ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น15% รับจำนำที่ ราคา 20,000 บาทต่อตัน

“โครงการนี้ทำให้พฤติกรรมชาวนาเปลี่ยนไป จากเคยคัดพันธุ์ข้าวดี กินอร่อย มีความหอม เป็นปลูกข้าวพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวได้ไว คุณภาพต่ำ  ผมเรียกว่า เป็นนโยบายแช่แข็งชาวนา ชาวนาไม่ปรับตัว เพราะไม่ว่าจะผลิตข้าวออกมาอย่างไร รัฐบาลก็จะรับซื้อทั้งหมด คุณภาพข้าวไทยจึงถดถอยลงนับแต่นั้น ” อ. สมพร กล่าว

นอกจากนี้ การที่ข้าวเกือบทั้งตลาดในขณะนั้น อยู่ในมือของรัฐบาล นั่นทำถัดมา ( ปี 2555) เพียงปีเดียว ไทยได้เสียแชมป์การเป็นผู้ส่งออกข้าว ที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก ให้แก่ อินเดีย ที่ส่งออกได้ 10.57 ล้านตัน และ เวียดนาม ส่งออกได้ 6.75 ล้าน ตกมาเป็นอันดับ 3 ซึ่งส่งออกได้เพียง 6. 94 ล้านตัน (จากปี 2554 ส่งออกได้ 10.64 ล้านตัน) เพราะราคาต้นทุนข้าวสูงกว่าคู่แข่ง และก็ดูเหมือนอันดับแชมป์ในด้านปริมาณการส่งออกจะไม่หวนกลับมาเป็นของไทยอีกเลย

คุณภาพข้าวไทยจ่อปากเหว คู่แข่งรอบด้าน

ในเรื่องนี้นักวิชาการและผู้ส่งออกภาคเอกชน ต่างเห็นตรงกันว่า หากไทยเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ไม่ได้มากนัก การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ให้มีคุณภาพดี เป็นข้าวพื้นนุ่มหอม เป็นที่ต้องการของตลาดพรีเมียม ที่ได้ราคาสูง อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า แต่ข้าวไทยก็เจอการทดสอบ ด้านคุณภาพ อยู่หลายครั้ง จากการประกวดข้าวโลก ซึ่งทำให้พบความจริงที่ว่า ไทย อาจไม่ได้ ยืนหนึ่ง ในด้านนี้เพียงประเทศเดียว

หากย้อนดูการประกวดข้าวโลก จำนวน 14 ครั้ง  ยังพบว่าไทย เป็นแชมป์รวมได้ถึง 7 ครั้ง ส่วนใน 7 ครั้งที่เหลือ มีประเทศเพื่อนบ้าน  รวมทั้งประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกข้าวของไทยสลับกันครองแชมป์ไปมา ได้แก่ ครั้งที่ 1และ2 ( 2552-2553) ไทย ,ครั้งที่ 3  ปี 2554   เมียนมา

ครั้งที่ 4 ปี 2555 กัมพูชา ,ครั้งที่ 5 ปี 2556 กัมพูชาครองแชมป์ร่วมกับสหรัฐ , ครั้งที่ 6 ปี 2557 ไทยและสหรัฐฯ ,ครั้งที่ 7 ปี 2558  สหรัฐ ,ครั้งที่ 8-9 ปี 2559-2560 ไทย ,ครั้งที่ 10 ปี 2561 กัมพูชา ,ครั้งที่ 11 ปี 2562 เวียดนาม ,ครั้งที่ 12-13 ปี 2563-2564 ไทย และ ครั้งที่ 14 ปี 2565 กัมพูชา

ถอดบทเรียนข้าวไทย! ทำไมเสียแชมป์โลก กับ ความท้าทายในปี 2566

เฮือกสุดท้าย! เร่งพัฒนาคุณภาพ ปรับสายพันธุ์ข้าว

กรมการข้าว หน่วยงานหลักในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทย ก็ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ปีนี้เกิดการผลักดันจนสามารถจัดตั้งศูนย์ตรวจ DNA พันธุ์ข้าวของรัฐแห่งแรก ได้สำเร็จ ณ ศูนย์ข้าวอุบลราชธานี นับเป็นจุดเริ่มต้นการคัดแยกสายพันธุ์ข้าวคุณภาพ ไม่ให้เกิดการปนเปื้อน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปลูก และ ผู้ซื้อ 

อีกทั้งในปีนี้ ยังตั้งงบ 1.2 พันล้านบาท ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ปรับปรุงชั้นพันธุ์คัด-ชั้นพันธุ์หลัก ให้แก่ศูนย์วิจัยข้าว จำนวน 16 แห่ง เพื่อ เพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด และ เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์หลัก  ให้บริสุทธิ์ และ เพียงพอต่อความต้องการ ให้ได้จำนวน 150,000 ตันต่อปี

ชมคลิป



ทั้งนี้ในปีหน้า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าการส่งออกข้าว  จะมีปริมาณ 8 ล้านตัน ใกล้เคียงปี 2565 แต่ในแง่มูลค่ายังคงต้องติดตาม ปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยน และ การแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าปัจจัยภายนอก ที่จะกำหนดอนาคตข้าวไทย จริงๆนั้น  คือปัจจัยภายใน จากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารต่อ ว่าจะให้ความสำคัญ กับการยกระดับคุณภาพข้าว และ ชีวิตชาวนา หรือ คะแนนเสียง ประชานิยมแบบที่ผ่านมา มากกว่ากัน

 

 

logoline