svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"รฟม." ย้ำรถไฟฟ้าสายสีส้ม รัฐไม่เสียประโยชน์ ชี้ยังประหยัดงบได้ 6.5 พันล้าน

26 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“รฟม.” ระบุข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีสม บิดเบือน  ย้ำคัดเลือกภาคเอกชนดำเนินโครงการถูกต้อง และ ช่วยรัฐประหยัดเงินสนับสนุนได้ถึง 6,551 ล้านบาท ไม่ได้เสียหาย 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีกระแสข่าว

จากกรณี กระแสวิพากษ์ วิจารณ์  เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยกล่าวอ้างว่าในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และเหลืองฯ ทำให้รัฐประหยัดเงินสนับสนุนกว่าโครงการละ 1 แสนล้านบาท แต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รัฐอาจต้องเสียเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท นั้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม เห็นว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลซึ่งได้มาจากการใช้ดุลพินิจที่บิดเบือน ไม่เป็นกลาง และไม่พิจารณาข้อชี้แจงใดๆ ของ รฟม. สร้างความเสียหายต่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก  โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ทั้งนี้ รฟม. ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และ สายสีเหลืองฯ นั้น คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ กำหนดกรอบวงเงิน สนับสนุนค่างานโยธา เป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และ สายสีเหลืองฯ ไม่เกิน 22,354 ล้านบาท ซึ่งผู้ชนะการคัดเลือกได้ยื่นข้อเสนอ โดยขอเงินสนับสนุนสุทธิ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ 19,823 ล้านบาท และสายสีเหลืองฯ 22,087 ล้านบาท

2. สำหรับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติการดำเนินงานโครงการ โดยกำหนดกรอบวงเงิน สนับสนุนค่างานโยธาไม่เกิน 91,983 ล้านบาท ซึ่งผู้ชนะการคัดเลือกได้ยื่นข้อเสนอโดยขอเงินสนับสนุนสุทธิ 85,432 ล้านบาท

3. การเทียบข้อเสนอของเอกชนผู้ร่วมประมูล โดยนำมาหักลบกันตรงๆ ไม่ใช่ตัวเลขการประหยัดเงินของรัฐ ตามที่นักวิจารณ์กล่าวอ้าง เพราะแต่ละโครงการมีกรอบวงเงิน และกฎเกณฑ์ในการดำเนินการที่กำหนดไว้แตกต่างกัน การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเพียงการนำตัวเลข มาเปรียบเทียบในลักษณะจับแพะชนแกะ

โดยพยายามหยิบยกตัวเลขข้อเสนอ ที่มิได้ผ่านการตรวจสอบ และ พิจารณาตามเกณฑ์การประเมิน มากดดันภาครัฐ ทั้งที่ทราบดี อยู่แล้วว่า ตามระเบียบขั้นตอน ของการประมูล ภาครัฐนั้น จะไม่สามารถนำข้อมูล ของผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมประมูลมาเปรียบเทียบได้ ซึ่งหากพิจารณา ผลต่างระหว่างข้อเสนอ ของเอกชนผู้ชนะ การคัดเลือกและ กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจะมีผลสรุปได้ ดังนี้

1. กรอบวงเงินสนับสนุนตามมติ ครม.

- สายสีชมพูฯ 20,135 ล้านบาท

- สายสีเหลืองฯ 22,354 ล้านบาท

- สายสีส้มฯ 91,983 ล้านบาท

2. ข้อเสนอการขอรับการสนับสนุนสุทธิของเอกชนผู้ชนะการคัดเลือก

- สายสีชมพูฯ 19,823 ล้านบาท

- สายสีเหลืองฯ 22,087ล้านบาท

- สายสีส้มฯ 85,432 ล้านบาท

3. รัฐประหยัดเงินสนับสนุน

- สายสีชมพูฯ 312ล้านบาท

- สายสีเหลืองฯ 267 ล้านบาท

- สายสีส้มฯ 6,551 ล้านบาท

รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการ คัดเลือกเอกชนร่วม ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและ กระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และ มติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและ เอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน

ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

logoline