svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิด 10 เหตุการณ์เด่น"เศรษฐกิจปีเสือ" มีอะไรบ้าง

28 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เศรษฐกิจไทยปีเสือเริ่มส่อแววเริ่มฟื้นตัว จากแรงส่งท่องเที่ยว -การบริโภคภาคเอกชนหนุนจีดีพีปีนี้ ไต่มาปิดบวก 3-3.2% แต่การกลับมาเริ่มเดินหน้าได้อย่างในวันนี้มีทั้งลมหนุนและลมต้านเข้ามาปะทะอย่างต่อเนื่องจะมีเหตุการณ์ที่สำคัญอะไรบ้างนั้น ตามมาไล่เรียงกันเลย 

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เปรียบเหมือนการเล่นรถไฟเหาะตีลังกา ที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามากระทบให้พลิกคว่ำพลิกหงายกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ความหวังอย่าง "การท่องเที่ยว" จะส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ชัดเจน ก็เล่นเอาต้องลุ้นกันถึงไตรมาสสุดท้ายของปี และถ้าเทียบแล้วก็ต้องยอมรับว่า การท่องเที่ยวที่แม้จะฟื้นตัวขึ้นมาได้

แต่ก็ยังห่างจากจุดสูงสุดที่เราเคยทำไว้ในปี 2562 อยู่หลายช่วงตัว ขณะที่พระเอกคนสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทย อย่าง "การส่งออก" จากที่ยังคงโชว์ฟอร์มได้จัดจ้านในช่วงต้นปี พอมาช่วงท้ายปีก็ออกอาการแผ่วปลาย ตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่จ่อเข้าสู่ภาวะถดถอยไปทุกขณะ

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง ที่ต้องย้อนบันทึกให้เป็นเหตุ การณ์สำคัญสำหรับปี 2565 ที่ผ่านมา

1.วิกฤติน้ำมัน-ความมั่นคงด้านอาหาร 

ด้วยความที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิ อาระเบีย ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อสงครามรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้น ก็ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่รุนแรงขึ้น

ผลักดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดีดตัวขึ้นสูงเกิน 130 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรและอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการถูกรุกรานในยูเครนที่ยาวนานทำให้เริ่มเกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศรุนแรงขึ้นส่งผลให้รัฐบาลยูเครนระงับการส่งออกชั่วคราวในกลุ่มเนื้อสัตว์ ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต บัควีท น้ำตาล ข้าวฟ่าง และเกลือ

ขณะที่การส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด สัตว์ปีก ไข่ และน้ำมัน จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น 

ปัญหารัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบโดยตรงต่อไทยในแง่ของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก ในขณะที่ในส่วนอื่นๆไม่มีผลกระทบโดยตรงมากนัก  

อย่างไรก็ดี ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาในห่วงโซ่อุปทานซึ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย 

2.  ไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ชุดใหญ่   ไฟเขียว “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” เริ่ม 1 พ.ค. นี้ ด้วยการยกเลิกมาตรการ Test & Go 

โดยผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เพื่อสร้างบรรยา กาศการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพียงแค่ฉีดวัคซีนครบก็สามารถเดินทางเข้ามาได้ 

ส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไล่มาตั้งแต่สายการบิน สนามบิน ที่เป็นด่านแรกในการรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ธุรกิจโรงแรง ที่พัก ร้านอาหาร สปา ไปจนถึงกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการ Reopening เศรษฐกิจ

ทั้งภาคการค้าปลีก ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค การขนส่ง โรงพยาบาล ฯลฯ เพราะหลังจากเกิดโควิด 3 ระลอกฉุดรายได้ท่องเที่ยวหายวับกว่า 1.3  แสนล้านบาท  

3.หนี้ครัวเรือนสูงสุดรอบ 16 ปี 

หนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 65 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97  ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี   โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/63 

ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ รวมถึงการปิดกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อันส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศหดตัว และเติบโตอยู่ในระดับต่ำ 

ประเภทหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล (หนี้อุปโภคบริโภค) รองลงมา เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานพาหนะ/หนี้บ้าน โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท  

4. นักศึกษาจบใหม่เตะฝุ่น  

สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ห่วงเด็กจบใหม่ปริญญาตรีว่างงานที่ 2.49% หรือกว่า 185,410 คน โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% ที่เหลือเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่นๆ  

แม้ว่าตัวเลขการว่างงานไตรมาส 3/65 จะลดลงมาอยู่ที่ 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.23% จากเดิมในช่วงโควิดที่ตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 8.7 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราว่างงาน  2.25%  

5.เงินเฟ้อสูงสุดรอบ 14 ปี

พาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น  7.86 %  สูงสุดในรอบ 14 ปีนับจากปี   51 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น การลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพต่างๆ จากภาครัฐ

รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจมายังผู้บริโภค ซึ่งทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และส่งผลกระทบให้ต้นทุนค่าแรง ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นด้วย

6. กนง.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 4 ปี

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จาก 0.5% เป็น 0.75% ต่อปี โดยเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ธ.ค. 61

เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง โดยคณะกรรมการประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง

7. เคาะเก็บภาษีขายหุ้น 

ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่  29 พ.ย.65 เคาะเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) ในอัตรา  0.11% โดยให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือน ก่อนจะเริ่มเก็บจริงวันที่ 1 เม.ย. 66 

โดยปีแรกจะเริ่มเก็บในอัตรา 0.055% หรือครึ่งหนึ่งก่อน  หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บในอัตรา  0.11%  โดยภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบัน 

แม้จะมีเสียงคัดค้านจากตลาดทุน นักวิชาการต่างแสดงจุดยืนไม่เหมาะสมและนำข้อมูลออกมาตอบโต้ แต่รัฐก็ออกมายืนยันว่าไม่เปลี่ยนใจ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้ภาครัฐได้รายได้เพิ่มขึ้น 1 – 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

8. อายัดทรัพย์นักธุรกิจฉ้อโกงหุ้น MORE  

สั่นสะเทือนทั้งวงการตลาดทุน หลังจากวันที่ 10 พ.ย. เกิดปฏิบัติการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อมีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ผ่าน 11 โบรกเกอร์  ด้วยปริมาณหุ้นจำนวนมหาศาลกว่า 1,500 ล้านหุ้น ที่ราคาเปิด 2.90 บาท

หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นานหุ้นก็ถูกถล่มถลายอย่างหนักจนทำให้ราคา ดิ่งติดฟลอร์ ที่ราคา 1.95 บาท ลดลง 30% ด้วยปริมาณการซื้อขายกว่า 7 พันล้าน  และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์นักธุรกิจฉ้อโกงหุ้น MORE จำนวน 34 รายการ มูลค่าประมาณ 5,376 ล้านบาท  

9. จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สกัดเอ็นพีแอล  

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย

เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนต่อลมหายใจธุรกิจ

หลังจากพบว่ายอดหนี้เสียในระบบมีประมาณ 8.53 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.47% จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 24 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  3 แสนกว่าล้านบาท หรือ 5% และที่เหลือเป็นของธนาคารพาณิชย์  

10 .ส่งออกหดตัวครั้งแรกรอบ 20 เดือน 

ส่งออกไทยเดือนต.ค. 65  หดตัว 4.4% ครั้งแรกรอบ 20 เดือน เป็นผลมาจากแรงเสียดทานของเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวลง จากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค และตลาดจีน ที่ยังคงใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

กระทบต่อการส่งออกสินค้าในหลายหมวดชะลอตัวลง รวมไปถึงแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2566 

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่รวบรวมมานี้ บางเหตุการณ์อาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ยังมีความไม่แน่อน และเป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทย ยังต้องเผชิญต่อไปในปี 2566

ซึ่งยังคงเป็นปีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องระดมสรรพกำลังและวิทยายุทธที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้คงต่อเนื่อง และผ่านพ้นปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบไปได้อย่างราบรื่น...

เปิด 10 เหตุการณ์เด่น"เศรษฐกิจปีเสือ" มีอะไรบ้าง

 

logoline