รัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"กำลังใกล้สิ้นสุดวาระการบริหารประเทศ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือถ้าจะให้วงปฏิทินตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566 จากนั้น "นายกฯลุงตู่" ต้องออกพระราชกฤษฏีกา"ยุบสภา" จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ขึ้นอยู่ว่า "นายกฯลุงตู่" จะประกาศเร็วก่อนกำหนดครบวาระ หรือครบวาระแล้วประกาศ ตรงนี้ต้องจับตามองความเคลื่อนไหว "นายกฯประยุทธ์" อย่างไม่กระพริบ
แม้จะประกาศก่อนหรือหลัง ถึงอย่างไร "นายกฯ" ต้องยุบสภาฯ จัดให้มีการเลือกตั้งอยู่ดี จึงทำให้ บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายไม่รอแล้ว ต่างเดินสายหาเสียงสะสมความนิยมกันล่วงหน้าไประยะหนึ่งแล้ว
เช่นเดียวกับ ฟากของผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ถือว่าได้เปรียบกว่าใครเพื่อน ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ กลไกราชการ ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะกับการออกแบบสำรวจความนิยม หรือ ที่เรียกกันว่า "โพล" ไม่ว่าเป็นโพลสันติบาล โพลข่าวกรอง โพลมหาดไทย โพลทางลับ ฯลฯ
หรือแม้แต่ "โพลรัฐบาล" ที่กระทำอย่างเปิดเผย ผ่านกลไกราชการ อย่างสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัล ที่มี "ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" เป็นรมว.ดิจิทัลอยู่ในขณะนี้ ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการผลักดันนโยบายการบริหารภาครัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการทำงานของรัฐบาลใกล้ครบวาระ กอปรกับใกล้ถึงสิ้นปี 2565 เข้าสู่ปีใหม่ 2566 จึงช่างเป็นจังหวะประเหมาะพอดีในการออกแบบโพล ด้วยการตั้งประเด็นคำถาม สำรวจความต้องการประชาชน อยากได้ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลอะไรบ้าง เพื่อนำผลสำรวจดังกล่าวมาประมวลออกมา ตอบความต้องการประชาชนให้ตรงจุด
ปรากฎว่า "โพลรัฐบาล" ในเรื่องดังกล่าวได้มีการนำเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายว่า ทีมโฆษกรัฐบาล หรือแม้แต่ ระดับ"บิ๊กรัฐบาล" อย่าง"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไม่พูดถึงหรือแม้แต่หยิบยกมาแถลงให้สาธารณชนทราบ
ไล่เลียงดู"โพลรัฐบาล"ฉบับล่าสุดกันสักหน่อย เกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะด้วยเหตุผลกลใด จึงกลายสภาพเป็น "โพลเงียบ"
การประชุมครม.เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) เสนอ ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2566 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล) ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ โดยเป็นการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,970 ราย ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อเป็นขวัญปีใหม่ในปี 2566 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
(1) ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (91.1%)
(2) ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ( 67%)
(3) แก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชตกต่ำ จัดหาตลาดรองรับผลผลิต และราคาปุ๋ยแพง (30%)
(4) แก้ปัญหาการว่างงาน ( 23.4%)
(5) เพิ่มมาตรการ,สวัสดิการ,เงินช่วยเหลือเยียวยา เช่น โครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา,ผู้พิการ
2. มาตรการ,โครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชน , หมู่บ้านมากที่สุด ได้แก่
(1) โครงการคนละครึ่ง ( 75.8%)
(2) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (69.9% )
(3) มาตรการลดค่าไฟฟ้า (59.2% )
(4) โครงการเราชนะ (25.1%)
และ (5) โครงการ ม.33 เรารักกัน ( 14.8% )
ผลสำรวจความต้องการของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนอยากได้ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพมากที่สุด ผ่านการออกนโยบาย หรือมาตรการ ชนิดที่เรียกได้ใจประชาชน
อย่าง "โครงการคนละครึ่ง" ที่เริ่มนำออกมาใช้ หลังประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนถ้วนหน้า จนมีความพยายามออกโครงการนี้มาถึงเฟส 5 และกำลังจับตาจะมีเฟส 6 อีกหรือไม่ในช่วงปลายปีนี้
แต่ทว่า การผลิตนโยบายที่อาจไม่ต่างกับนโยบายประชานิยมสักเท่าใดนัก ล้วนต้องแลกกับการสูญเสียงบประมาณ เข้าไปสนับสนุนกว่า " 2 แสนล้านบาท" โดยงบประมาณดังกล่าวอยู่ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
ผลสำรวจ"ของขวัญปีใหม่"จากรัฐบาลครั้งนี้ หากกล่าวกันตามประสาทางการเมือง ก็คือ ต้องการตรวจเช็กนโยบาย"พรรคพลังประชารัฐ" ที่ประกาศออกมา ยังตอบโจทก์ ยิงตรงจุด เพราะนอกจาก "โครงการคนละครึ่ง" ที่ออกมาในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ยังมีโครงการ"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าได้กำหนดไว้ในโยบายพรรคพลังประชารัฐก่อนมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบ"โพลรัฐบาล" ในหัวข้อถัดไป เริ่มมีประเด็นให้ชวนวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น เพราะในการออกแบบผลสำรวจครั้งนี้ไม่ได้ตั้งคำถามอยากได้ของขวัญปีใหม่อะไรบ้างเท่านั้น หากแต่ยังพ่วงการตั้งคำถามความพึงพอใจต่อการบริหารงานรัฐบาลที่ผ่านมา โดยปรากฎอยู่ในหัวข้อที่ 3
พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด 42.1 % แบ่งเป็นพึงพอใจมากที่สุด 7.7 % และพึงพอใจมาก 34.4 % ระดับปานกลาง 41%ระดับน้อย-น้อยที่สุด 14.7 % แบ่งเป็น พึงพอใจน้อย 11.8 % และพึงพอใจน้อยที่สุด 2.9 %และไม่พึงพอใจ 2.2 %
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ( 62.2 %) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความพึงพอใจ ในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น ( 22.2% )
นอกจากนี้ ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุ นักเรียน นักศึกษา และผู้ว่างงาน มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
ขณะที่ หัวข้อที่ 4. ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
โดยประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด (35.4 %) แบ่งเป็นเชื่อมั่นมากที่สุด 5.8 % และเชื่อมั่นมาก 29.6% ระดับปานกลาง 40.8% ระดับน้อย-น้อยที่สุด 20.6 % แบ่งเป็น เชื่อมั่นน้อย 15.7 % และเชื่อมั่นน้อยที่สุด 4.9% และไม่เชื่อมั่น 3.2%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าคนอื่น ( 54.8% ) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น ( 19 %)
นอกจากนี้ ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุ นักเรียน นักศึกษา และ ผู้ว่างงาน มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
"โพลรัฐบาล" ในส่วนของการสอบถามความพึงพอใจการบริหารงานรัฐบาล"ลุงตู่" เปรียบกับการให้คะแนนสอบ ถือว่าอยู่ในระดับคาบลูกคาบดอก พร้อมที่จะเอนไปทางอาจสอบไม่ผ่านในสายตาประชาชน
(อีกทั้งจำแนกกลุ่มคนช่วงระหว่างวัย จริงอยู่ที่คนวัยมากกว่า 40 ปี ยังนิยมรัฐบาลลุงตู่สูงอยู่ ขณะที่ วัยต่ำกว่า 40 ปี ลงมาให้ความนิยมน้อยลงแล้ว ก็ตาม )
แต่อีกประเด็นที่สามารถนำไปทาบทับกับกิจกรรมการลงพื้นที่ในเชิงยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ก็คงเป็นกรณีการสอบถามความนิยมระดับพื้นที่ พบว่า ความนิยมนายกฯลุงตู่ ในพื้นที่ภาคใต้ ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ พื้นที่กทม. ตกต่ำกว่าภาคอื่นๆ สอดคล้องกับ"โพล"ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ออกมาอยู่เหมือนกัน
ผลสำรวจออกมาประการฉะนี้ คงจะสรรหาข้ออ้างหรือปฏิเสธไม่ได้อีก แต่ต้องยอมรับความจริง เพื่อปรับปรุงและแก้ไขเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง หากยังต้องการกลับมาเป็นรัฐบาล
เพราะนี่คือ "โพลรัฐบาล" เป็นความจริงที่ต้องยอมรับมันให้ไหว