svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ตัวชี้วัดการยุติความรุนแรงใน"เมียนมา" โดย "ฐิติวุฒิ  บุญยวงศ์วิวัชร"

25 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความยืดเยื้อของ"สงครามกลางเมือง"ในเมียนมาส่งผลกระทบต่อการวางท่าทีของประเทศ"สมาชิกอาเซียน"ภายหลังประชุมอาเซียนซัมมิตที่ผ่านมา มีความพยายามนำเสนอตัวชี้วัดยุติความรุนแรง ติดตามได้เจาะประเด็น โดย "ฐิติวุฒิ  บุญยวงศ์วิวัชร"

 

เกิดข้อตักเตือนและการกระตุ้นให้ทางการเมียนมาสร้าง "ตัวชี้วัด" ในการยุติความรุนแรงสงครามกลางเมืองให้เห็นได้อย่างชัดเจน มิเช่นนั้นแล้วตัวแทนระดับสูงของเมียนมาก็จะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดๆของทางการอาเซียนต่อไป

 

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 ที่ผ่านมา

 

ภายหลังการแสดงท่าทีดังกล่าวออกมาจะพบว่าทางการเมียนมาไม่ได้ ตอบกลับในเชิงบวกมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงท่าทีต่อต้านและขัดขืนโดยเฉพาะการพยายามชี้ให้เห็นได้ว่าการแสดงออกของสมาชิกอาเซียนนั้นเป็นการละเมิดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางการเมียนมาพยายามขีดเส้นแบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรื่องในบ้านใครจะแตะ!!!

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจจากวิวาทะระหว่างแถลงการณ์ของอาเซียนกับท่าทีการต่อต้านจากทางการเมียนมานั่นก็คือ อะไรคือความหมายของตัวชี้วัดว่ากระบวนการยุติสงครามกลางเมืองมีความก้าวหน้า? และหากมองให้พ้นไปกรอบของกระบวนการสันติภาพที่เคยมีมา ซึ่งพยายามทำให้ทุกฝ่ายหันเข้ามาเจรจาโดยใช้กลไกทางด้านการเมืองมากกว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ

 

อีกทั้งในกรณีของเมียนมานั้นการมองนอกกรอบดังกล่าวยังทำให้เห็นได้ว่าภายสถานการณ์ใต้ปัจจุบัน กระบวนการสันติภาพแตกแยกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนและเป็นไปไม่ได้ที่จะมองภายในกรอบเดิม กล่าวคือ กระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยลงนามแต่เดิมนั้นปัจจุบันนี้เกิดการชะงักงันหรือวงจรชีวิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

 

แฟ้มภาพ  -ผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยทะลักหนีการสู้รบเข้าเขตชายแดนไทย ที่อ.แม่สอด จ.ตาก

 

แต่อีกด้านหนึ่งกระบวนการสันติภาพที่มีการจัดขึ้นกับกลุ่มกองกำลังที่เคยมีการลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายไปแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำให้ทางการเมียนมาชี้ให้ประชาคมโลกเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะเจรจาให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะการเจรจากับกลุ่มที่ไม่เคยมีการปะทะมาเกือบ 20 ปีแล้วโดยเฉพาะกรณีของกลุ่มว้าหรือ UWSA หากพิจารณาในแง่นี้นั่นหมายความว่ากระบวนการสันติภาพของเมียนมาไม่ได้มีความคืบหน้า แต่เป็นการจัดพบปะกับมิตรสหายเดิมมากกว่าจัดพบปะกับศัตรูเพื่อยุติความรุนแรง


ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการสันติภาพในความหมายแคบที่หลายฝ่ายหวังว่า จะสามารถทำให้เกิดข้อยุติข้อขัดแย้งทางด้านการเมืองกับฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะกองกำลังปกป้องประชาชนอยู่ที่อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งได้ประสานร่วมมือกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นั้นจะพบว่าโดยกลไกเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างชัดเจนหาก แต่ความหวังอย่างเดียวที่เป็นไปได้คือ "การหยุดยิง" ให้ได้ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า  

 

อีกนัยหนึ่ง การหยุดยิงหรือการยุติความรุนแรงคือสิ่งหนึ่งที่อาเซียนพยายามเรียกร้องให้เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาคำถามสำคัญที่เกริ่นไว้ในข้างต้นนั้นนั่นคือ ดัชนีชี้วัดจะสามารถทำให้เกิดความหวังขึ้นอีกครั้งว่าแนวทางการยุติความรุนแรงนั้นจะสามารถเป็นไปได้และเกณฑ์อะไรในการตรวจสอบ 

 


หากกล่าวให้กระชับ ตัวชี้วัดลำดับแรก ซึ่งจะกลายเป็นตัวชี้วัดที่จะสามารถทำให้เห็นได้ว่าทางการเมียนมาร์มีความกระตือรือร้นในการยุติ ความรุนแรงทางการเมืองนั่นก็คือ "จำนวนการโจมตีด้วยเครื่องบินต่อเป้าหมายที่ขอให้เป็นพลเมืองลดลง" เนื่องจากปัจจุบันการตอบโต้ของฝ่ายรัฐในการเลือกโจมตีที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายทางด้านการทหาร ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ ความต้องการล้างแค้นในฐานะที่รัฐบาลและกองทัพเป็นฝ่ายศัตรูที่เข่นฆ่าประชาชน


ตัวชี้วัดประการที่สอง "จำนวนของผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศและผู้อพยพที่อยู่บริเวณชายแดนเมียนมากับเพื่อนบ้านมีจำนวนที่ลดลง” ซึ่งตัวชี้วัดนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวชี้วัดที่สามารถทำให้เห็นได้ว่าประชาชนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหลบหนีหรือลดความหวาดกลัวต่อการปฏิบัติการทางด้านการทหารของคู่สงคราม


ตัวชี้วัดประการที่สาม “จำนวนพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ทั้งพื้นที่และปริมาณกลุ่มคนที่ได้รับความช่วยเหลือมีเพิ่มมากขึ้น” ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวนี้ยังเป็นตัวที่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าฝ่ายรัฐมีความจริงใจ ในการยุติความรุนแรงและเปิดโอกาสให้การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติสามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

ตัวชี้วัดทั้งสามตัวที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นตัวชี้วัดระดับแรกที่จะสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า ความต้องการยุติความรุนแรงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลเมียนมาเองจะต้องตระหนักและให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง การใช้กลไกทุกอย่างเพื่อมุ่งเป้าไปสู่การเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีหน้านั้นอาจจะเป็นกลไกในการกระตุ้นก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นอีกครั้งหนึ่งและกลายเป็นปัจจัยเสริมที่จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า "ยิ่งต้องการเลือกตั้งสงครามกลางเมืองยิ่งปะทุ" 

 

การติดกระดุมเม็ดแรกที่ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ของการยุติความรุนแรงและสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ประการที่อาเซียนต้องการทำให้เมียนมากลับคืนสู่สภาวะปกติให้ได้รวดเร็วมากที่สุดจึงมีความสำคัญยิ่ง 

logoline