svasdssvasds
เนชั่นทีวี

วันนี้ในอดีต

"เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อย่างไร ให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธ

11 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อาสาฬหบูชา" และ "เข้าพรรษา" ปีนี้ "เวียนเทียน" อย่างไรให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ไม่ใช่แค่การเดินรอบพระอุโบสถ 3 รอบให้จบๆ

ในช่วงวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 ถือเป็นช่วงวันหยุดยาวของใครหลายๆคน อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญสำหรับชาวพุทธ นั่นคือ “วันอาสาฬหบูชา” และ “วันเข้าพรรษา” หลายคนมักนิยมพาครอบครัว คนรักไปทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หนึ่งในกิจกรรมของการทำบุญที่สำคัญคือการ “เวียนเทียน” แม้ปีนี้ประเทศไทยของเรายังอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลือกไปเวียนเทียนที่วัด มากกว่าเวียนเทียนออนไลน์ เพราะเชื่อว่าได้ความขลังและศักดิ์สิทธิ์มากกว่า  แต่ก็มีคนไม่น้อยเช่นกันที่ยังไม่เข้าใจข้อปฏิบัติของการเวียนเทียนอย่างถ่องแท้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การเดินรอบพระอุโบสถ 3 รอบแล้วเป็นอันจบกันไป

 

ดังนั้นวันนี้  ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกิจกรรมการ “เวียนเทียน” ที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา รวมถึงข้อปฏิบัติให้ได้บุญแบบเต็มๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

"เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อย่างไร ให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธ

เวียนเทียน คืออะไร ?

 

การเวียนเทียน คือ การเดินเวียนรอบปูชนียวัตถุสำคัญ หรือปูชนียสถานทางศาสนา เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นการเวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตามลำดับ

 

เวียนเทียนวันไหนบ้าง ?

 

มักทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่

 

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของทุกปี ความสำคัญของวันมาฆบูชาคือ พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามแคว้นต่างๆ กลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย

 

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนมิถุนายน ความสำคัญของวันวิสาขบูชาคือ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ทั้ง 3 เหตุการณ์

 

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือประมาณเดือนกรกฎาคม ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาคือ วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

 

วันอัฏฐมีบูชา คือ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 7 นับถัดจาก วันวิสาขบูชาไป 7 วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมือง กุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง (วัดบางที่จะจัดเวียนเทียน)

 

"เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อย่างไร ให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธ

 

ขั้นตอนเวียนเทียนให้ถูกต้อง

 

ชำระร่างกายและจิตใจ

 

อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ งดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น หรือเสื้อสายเดี่ยว ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด กางเกงหรือกระโปรงยาวเลยเข่า

 

เตรียมเครื่องบูชา

 

เครื่องบูชา 3 อย่าง คือ ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือจะใช้พวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระก็ได้ ต่อมาก็ธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม

 

ไหว้พระประธาน

 

เมื่อไปถึงวัด ควรสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน หัวแถวจะมีพระภิกษุเดินนำ ต่อด้วยสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา ชายหญิงทั่วไป

 

เวียนประทักษิณาวัตร

 

จุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์ เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตามลำดับ

 

"เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อย่างไร ให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธ

 

บทสวดมนต์เวียนเทียน

 

รอบที่ 1 (บทสวดเพื่อระลึกถึงพระพุทธ)

 

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

 

รอบที่ 2 (บทสวดระลึกถึงพระธรรม)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ

 

รอบที่ 3 (บทสวดระลึกถึงพระสงฆ์)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

 

หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่ทางวัดเตรียมไว้ ส่วนใหญ่จัดวางไว้ด้านหน้าพระอุโบสถ

 

ข้อควรระวัง

 

ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย  ไม่ควรเดินไปแล้วถ่ายภาพไปเพื่อเช็กอินอวดกันในโซเชียล ต้องทำใจให้ว่างท่องบทสวด ควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น  และไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เนื่องจากเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่สำคัญ

 

"เวียนเทียน" วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อย่างไร ให้ได้บุญถูกต้องตามหลักพุทธ

 

 

logoline