svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ผ่าแนวคิด "กรรณภว์ ธนภรรคภวิน" แก้จนในมุมมอง"นักธุรกิจ"

17 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัปดาห์นี้ พาไปสัมผัสมุมมอง "ส.ว.กรรณภว์ ธนภรรคภวิน"ประธานและกรรมการบริษัทหลายแห่ง มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจค้าขายกับจีน มองเห็นจีนยุคที่ยากจนล้าหลังกระทั่งวันนี้ก้าวทะยานขึ้นเป็นผู้นำโลก ในเจาะประเด็นโดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

"ส.ว.กรรณภว์ ธนภรรคภวิน" เป็นประธานและกรรมการบริษัทหลายแห่ง อดีตผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ  ผู้แทนฝ่ายการค้าและการลงทุนของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และที่ปรึกษารัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจค้าขายกับจีน มองเห็นจีนยุคที่ยากจนล้าหลังจนกระทั่งวันนี้ก้าวทะยานขึ้นเป็นผู้นำโลก 

 

ปัญหามี ของดีมาก


ความยากจนของคนไทยมีมาช้านาน ทั้งโครงสร้างและตัวบุคคล ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยค่อนข้างซับซ้อน ถูกครอบครองโดยกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ไม่หลากหลายเท่าที่ควร คนไทยส่วนใหญ่ยังทำเกษตรกรรม ผลผลิตไม่สามารถขายโดยตรงถึงผู้บริโภคหรือส่งออก มีคนกลางรับผลประโยชน์ทางรายได้มากที่สุด ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาได้ 

 

ตลอดสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จลงพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร สู้กับความยากจนเพื่อพสกนิกรของท่าน ด้วยโครงการพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ แม้ในรัชกาลปัจจุบันก็มีถึง  24 โครงการแล้ว องค์พระพันปีหลวงทรงฝึกแม่บ้าน จัดให้มีศูนย์ศิลปาชีพ ส่งเสริมศิลปหัตถกรรม จากการสำรวจ 113 ประเทศ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการหญิงมากกว่าชายอยู่ในลำดับ 1 ใน 3 ของโลก แม่บ้านบางรายสามารถเปลี่ยนอาชีพเสริมให้เป็นรายได้หลักของครอบครัว 

"ส.ว.กรรณภว์ ธนภรรคภวิน"

 

ความพยายามรัฐ


รัฐบาลได้จัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่กระจัดกระจายให้เป็นศูนย์เดียวทุกข้อมูล มีการไปเคาะประตู เพื่อแก้ให้ตรงเป้า จัดทำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ TPMAP ( Thai People Map and Analytics Platform) จัดเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจข้อมูลตรงนั้นเลยว่าปัญหาคืออะไร อยู่ตรงไหน โดยมีหลากหลายเมนูในการแก้ไข 

 

การแก้ไขความยากจนถูกบรรจุเข้าไว้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ฉบับที่ 13  น่าจะตรงประเด็น แก้ปัญหาทั้งระยะยาวและระยะสั้น มีโครงการรัฐสวัสดิการออกมามากพอสมควร เพื่อให้ผู้ยากไร้สามารถดำเนินชีวิตไปได้  ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ทำเราหนักหนาพอสมควร  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราก็ยังดีกว่า

 

 

 

มองจีนแก้จน


ระหว่างปี 1980–1990 จีนได้ส่งผู้แทนหลายคณะมาเยี่ยมชมและศึกษาจากโครงการพระราชดำริ  แสวงความรู้และหาทางออก เอาเครื่องจักรเครื่องกลมาช่วยเหลือ มีพันธุ์พืช พันธุ์ดอกไม้ พันธุ์ผลไม้ หรือพันธุ์สัตว์มาแลกเปลี่ยนกัน  

 

ยุคที่เติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศ จีนยังยากจนมาก คนจีนอพยพมาเมืองไทยกันมากในช่วงก่อนหน้านั้น หลีกหนีความยากจน มีเสื่อผืนหมอนใบ จีนพยายามที่จะสร้างกลุ่มคนรวยขึ้นมากลุ่มหนึ่งก่อน จะให้จนหมดเสมอกันไม่ได้ กลุ่มคนที่รวยจะเป็นแบบอย่างและกลับมาช่วยแก้ความยากจน  ในยุคนั้นคนจีนใส่เสื้ออยู่ 2 สี มีจักรยานขี่กันไม่มาก ชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนมักซื้อจักรยานเก่า จักรเย็บผ้าเก่า เสื้อผ้าเก่า รวมทั้งซื้ออาหารการกินจากฮ่องกง นั่งรถประจำทางเข้าไปให้ถึงบ้านเกิด 

 

ปี 2008  ในวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์  ปีนั้นประเทศจีนมีงบประมาณการพัฒนาประเทศ 5 ล้านล้านหยวน เชื่อหรือไม่ รัฐบาลได้ตัดเงินออกมา 4,000 ล้านล้านหยวน เอามาพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้ทุกหมู่บ้านมีถนนถึง ทุกอำเภอมีทางด่วนลง ทุกมณฑลมีรถไฟความเร็วสูงผ่าน มีไฟฟ้าใช้ มีอินเทอร์เน็ต ไม่มัวถามความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่าถนนไปถึงไหนความเจริญไปถึงตรงนั้น 

 

ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องการดูทีวี ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวหน้า พัฒนาแบบต่อเนื่อง พอถึงจุดที่มีมาตรฐานก็ส่งออก อินเตอร์เน็ตทำให้ทุกหมู่บ้านสามารถนำผลผลิตขึ้นขายทางแพลตฟอร์ม E-commerce  ผู้ผลิตสามารถขายตรงถึงผู้บริโภค 

 

กล้าสู้กล้าเอาชนะ


ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2020 ประเทศจีนจะต้องไม่มีคนจน ทั้งที่ขณะนั้นมีคนยากจนเหลืออยู่อีกประมาณ 70 ล้านคน  จีนนิยามคำว่า “ยากจน” โดยมาตรฐานรายได้ของประชาชน  ถ้าต่ำกว่า 1.9 เหรียญ (USD) ต่อวัน จะถือเป็นคนยากจน 

 

พยายามสร้างงาน จับคู่แก้จน สร้างแฟ้มประวัติครัวเรือน ทำข้อมูล BIG DATA  และทำโครงการแก้ไขปัญหาโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปประกบ พัฒนาอาชีพให้มีรายได้มากกว่า 1.9 เหรียญ มีนโยบายต่อความจำเป็นพื้นฐาน รายได้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หลักประกันสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี (ของเรา 12 ปี) ที่อยู่อาศัยและน้ำดื่มสะอาด  

จีนอพยพคน 1 ล้านครอบครัวในช่วง 5 ปี (2015-2020) จากแหล่งทุรกันดารที่รัฐบาลมองแล้วว่ายากหรือไม่คุ้มค่าต่อการไปช่วยเหลือพัฒนา ใช้วิธีหาที่อยู่ใหม่ สร้างบ้านให้  ส่วนคนที่ไม่สามารถพัฒนาอาชีพ เช่น คนสูงอายุ คนป่วย ติดบ้านติดเตียง คนพิการ จีนกำหนดไว้ว่าคนหนึ่งต้องมีรายได้ มีเงินใช้ไม่ต่ำกว่า 2,300 หยวนต่อปี คำนวณค่าเงินเฟ้อให้ด้วย ปี 2020 ขยับเป็น 4,000 หยวนต่อหัว  ซึ่งบัดนี้ทำให้ทุกคนพ้นความยากจนได้หมด  

 

สร้างความมั่งคั่งร่วมกัน


ในสมัชชาประชาชนครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านไป สีจิ้นผิงให้นโยบายว่าด้วย“ความมั่งคั่งร่วมกัน” Common Prosperity  ให้คนรวยช่วยเหลือคนอื่นให้รวยไปด้วยกัน เปิดช่องให้คนที่ยากจนมีโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ให้มณฑลที่เจริญกว่าไปช่วยเหลือจับคู่มณฑลยากจน แลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหา ให้มั่งคั่งไปด้วยกัน สร้างระเบียบเรื่องเงินทุน ไม่ปล่อยให้ใครแสวงหาผลกำไรสูงสุดอย่างไรก็ได้ จึงมีข่าวว่าแจ็คหม่าถูกเบรคว่า “อย่ารวยคนเดียว”   

 

จีนมุ่งโครงสร้างรายได้ประชากรให้เป็นแบบลูกสมอ(หนำเลียบ) หมายความว่าคนจนมาก คนรวยมากให้มีแต่น้อยตรงปลายของลูกสมอ  ส่วนชนชั้นตรงกลางให้มีมากที่สุด เพราะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจการพัฒนาประเทศ ตั้งเป้าขยับเพิ่มจาก 200 ล้านคนเป็น 500 ล้านคน เน้นคนมีความขยันและมีนวัตกรรม ยึดมั่นในการพัฒนาสังคมให้เจริญไปด้วยกันในทุกภูมิภาค ไม่ให้สัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้กับประชาชน ที่สำคัญที่สุดไม่ให้รัฐสวัสดิการแก่คนขี้เกียจ จึงมีการพัฒนารายได้ของบุคคล สังคมอย่างต่อเนื่อง

logoline