svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"กยศ."แบบฉบับนักการเมือง ปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ จะไปทางไหน

06 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา"จัดตั้งขึ้นตามมติครม.เมื่อปี 38 มาถึงตอนนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ในลักษณะให้การกู้ยืม "กยศ."แบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ติดตามได้ที่เจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในการพิจารณาวาระ ๓  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าพร้อมจะให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามนั้น


สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบปลอดดอกเบี้ย ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย 

 

"กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ "กยศ." จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘มีนาคม ๒๕๓๘ และวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๙ เริ่มดำเนินการในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน วัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา 

 

โดยหลักการให้เป็นกองทุนเพื่อการกู้ยืม ไม่ใช่เป็นการให้เปล่า เมื่อเป็นกู้ยืมก็ต้องมีการใช้คืน จะเท่าจำนวนเดิมเดิมหรือต้องมีดอกเบี้ย โดยทั่วไปกู้ยืมต้องคิดดอกเบี้ย จะมากหรือน้อย  แต่ถ้าให้ยืมเฉยๆอาจไม่มีดอกเบี้ย แล้วรายได้จากดอกเบี้ยส่วนต่างนั้นถูกนำกลับมาใช้เพื่อใช้บริหารจัดการและหมุนเวียนให้คนอื่นมากู้ยืมต่อ

 
กองทุนตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ที่ดี เกือบ ๓๐ ปีที่ปฏิบัติมาสะสมประสบการณ์และปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ย วิธีการชำระหนี้ ระยะเวลา และเรื่องการปรับกรณีที่ผิดนัดชำระ ซึ่งทราบว่าปัจจุบันมีการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็น ๑ %ต่อปี แต่ถ้าผิดนัดชำระจะถูกคิดค่าปรับสูงถึง ๑๒-๑๘ %ต่อปี

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอข้อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนั้นยังแนวคิดที่หลากหลาย อาทิ ยกเลิกระบบดอกเบี้ย หรือให้ยุบกองทุนหรือยกเลิกกันไปเสียเลย 

 

โดยหลักการแล้ว ผมเห็นว่าระบบดอกเบี้ยยังจำเป็นต้องมีเพราะเป็นเงินกู้ยืม หากยกเลิกไปเลยจะไปกระทบกับระบบเงินกู้ยืมในระบบกองทุนอื่นๆ จะทำให้รวนเรไปหมด เสียนิสัย เสียวินัยการคลัง คุณทำได้ ฉันก็ทำได้ เป็นการเสียหลักการและตัดโอกาสคนรุ่นหลังที่รอจะใช้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาบ้าง 


จากกรณีศึกษาของ "กยศ."  สะท้อนให้เห็นปัญหาทัศนคติของคนที่ออกกฎหมายที่ควรปรับ นั่นคือ สมาชิกรัฐสภา ไม่ควรมองประชาชนหรือคนที่ด้อยโอกาสว่าเป็นตัวปัญหา จึงมุ่งที่จะให้รัฐทำโทษ เป็นแนวคิดที่ใช้อำนาจตามใจคิดของคนออกกฎหมาย ไม่ได้มองว่าประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้หรือไม่

 

อันดับแรกต้องปรับทัศนคติของรัฐ ทั้งผู้ออกกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ฝ่ายประชาชนก็ต้องปรับทัศนคติด้วยเหมือนกัน 

 

กรณีส่งเงินชำระหนี้ กองทุนจะนำไปหักจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมของรัฐก่อน จ่ายค่าปรับก่อน แล้วจึงค่อยมาตัดดอกเบี้ยและตัดเงินต้นเป็นส่วนสุดท้าย  ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ว่า ส่งเงินไปเท่าไรเงินต้นก็ยังคงเท่าเดิม หรือการใช้หนี้ที่กำหนดว่าต้องใช้จำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกปีจะได้หมดหนี้เร็วขึ้น แต่สมมติฐานที่ว่าเจ้าตัวจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนั้นไม่ค่อยเป็นจริง จึงหมดกำลังใจ หมดแรง 


อีกหนึ่งประเด็น คือ การบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องมาใช้หนี้แทน ในความเป็นจริงนักเรียนผู้ยืมเงินต้องไปขอให้ครูค้ำ ครูเองก็มีหนี้เยอะอยู่แล้ว แต่ด้วยความสงสารเด็ก ครูก็ต้องช่วย เมื่อเด็กไม่สามารถใช้ได้ก็ไปบังคับเอากับครู ด้วยเหตุนี้ จึงคิดว่าต้องปรับใหญ่ ต้องถึงขั้นปฏิรูปวิธีคิดและวิธีออกกฎหมาย 


ข้อเสนอ คือ ต้องปรับทัศนคติทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนหรือลูกหนี้ ต้องใช้กระบวนการทางสังคมเข้ามาช่วย ถ้าใช้กระบวนการทางกฎหมายมาบังคับฝ่ายเดียวจะไปไม่รอด หมายถึงว่า ต้องมีหลักการในการเอื้ออาทร ต้องไม่ทำให้ลูกหนี้ตาย ลูกหนี้ต้องอยู่รอดและสามารถใช้เงินคืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีตามสมควร การใช้กระบวนการทางสังคม เป็นเรื่องการเจรจาต่อรอง ไกล่เกลี่ย 


รวมทั้งหลักการที่ว่าเมื่อมีการใช้เงินคืนมาเท่าไหร่ ต้องเปลี่ยนใหม่ต้องมาตัดต้นก่อน เพื่อให้เขาหายใจได้ แล้วจึงไปตัดดอกหรือค่าธรรมเนียมปรับที่หลัง ซึ่งแนวทางนี้เป็นข้อเสนอจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย  อีกทั้งควรยกเลิกการบังคับผู้ค้ำประกันให้มาชำระหนี้แทน อาจมีการนิรโทษกรรมในบางเงื่อนไขบางระดับ 

 

เรื่องวงเงินการชำระหนี้ เสนอว่าควรชำระเฉลี่ยเท่า ๆ กัน เพื่อที่ผู้กู้ยืมจะบริหารจัดการรายได้ รายรับ รายจ่ายของตนได้ และระยะเวลาชำระหนี้ ๑๕ ปี อาจจะยืดออกได้อีก เช่น ๒๐-๓๐ ปี นั่นคือ ช่วยให้ลูกหนี้ไม่ตาย แล้วสามารถพลิกคืนและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นกำลังเพิ่มผลิตภาพของสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป 

 

โดยสรุปในเรื่องนี้ ควรต้องใช้ทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปในทาง "ยกเลิกหมด" ไม่สุดไปในทาง "ชักดาบ" พลเมืองที่ดีต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม  แต่ว่าจะปรับเรทอัตราดอกเบี้ยอย่างไร ระยะเวลาใช้หนี้นานแค่ไหน ทุกอย่างมีทางออก ถ้าดูไปในรายละเอียด โดยเฉพาะทางออกที่เป็นทางสายกลาง
 

logoline