เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ปรากฎการณ์ "เอกสารหลุด" มีมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ วันที่ทีมนายกฯ ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ได้ส่งคำชี้แจงปม "นายก 8 ปี" ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เช่นเดียวกับ การที่ศาลรธน.ได้ขอคำชี้แจง บันทึกการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จาก "มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง "ปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ก็ได้ส่งคำชี้แจง ไปถึงศาลรธน.เป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน พร้อมกับมีข่าวสะพัด เอกสารของ"ปกรณ์" คือเอกสารชุดล่าสุดที่หลุดออกมาถึงสื่อมวลชนบางส่วนแล้ว
เรียกได้ คำชี้แจงของบุคคลที่ศาลรธน.เรียกเอกสารไป ถูกนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะเกือบครบทุกคน พ่วงด้วยของแถมว่าด้วยเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรธน. ไม่ว่าเป็นครั้งที่ 500 หรือครั้งที่ 501/ 2561 กระจายออกมาให้สาธารณะศึกษาอ่านประกอบก่อนถึงวันดีเดย์วินิจฉัย
ไม่แปลกที่ "เชาวนะ ไตรมาศ" เลขาธิการศาลรธน. จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวด่วนต่อสื่อมวลชนเมื่อบ่ายวันที่ 7 ก.ย.อันเป็นวันก่อนที่ศาลรธน.จะมีการประชุมนัดพิเศษวันที่ 8 ก.ย.
"หลักใหญ่ใจความของการแถลง เป็นการถ่ายทอดความห่วงกังวลจากประธานศาลรธน. กรณีที่มีเอกสารคำชี้แจง ปม"นายกฯ 8 ปี" รั่วไหลราวน้ำทะลัก พร้อมกับยืนยันจะเพิ่มมาตรการควบคุมให้เข้มข้นขึ้น"
นั่นเป็นมุมของศาลรธน.ที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นควบคุมดูแลเอกสารมิให้ร้่วไหลอีกต่อไป
แต่ทว่า ปรากฎการณ์เอกสารหลุดรั่วครั้งนี้ กลับถูกมองไปอีกมุมหนึ่ง ผ่านการเจียรไนเนื้อหาคำชี้เเจง"ปมเเปดปี" ไม่ว่าจะเป็นคำชี้แจงของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี "มีชัย ฤชุพันธ์ุ" อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผสมโรงการให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นของ "เนติบริกร" วิษณุ เครืองาม ชนิดเล่นบทคีย์เดียวกัน เกี่ยวกับสถานะเรือเหล็ก
"ชนิดที่บอกได้ ณ ตอนนี้ คลายอาการคาดเดาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกูรูเเละเซียนการเมืองหลากสำนักกันได้เเล้ว เเละความร้อนแรงทางการเมืองน่าจะบรรเทา"
เเน่นอนว่า เผือกร้อนหลังเอกสารรั่วคราวนี้ อยู่ในมือของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมส่วนใหญ่มองสามเเนวทางวินิจฉัยไว้เเล้ว เเละเมื่อคำตอบของผู้ถูกร้อง ( ลุงตู่ ) กับพยาน (อดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญ/กฤษฎีกา) เผยข้อต่อสู้การนับอายุสร.1 ว่าครบแปดปีเมื่อใดนั้น
"พบลายเเทงว่า เริ่มต้นวันที่ 6 เมษายน 2560 มิใช่เริ่มต้น 24 สิงหาคม 2557 เเปลว่า ตรงนี้คำตอบตรงกัน ดังนั้นรอคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กรว่าจะตัดสินอย่างไร?"
เเต่ที่เเน่ๆยามนี้ ความร้อนเเรงทางการเมืองน่าจะคลายตัวไป (เว้นเเต่ฝ่ายต้านลุงตู่เเบบหัวชนฝาที่ปั่นกระเเสในหลากเเพลทฟอร์ม) เเต่เชื่อว่าบรรดาคีย์เเมนหลากพรรคเบาใจไปเเล้วว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นเเน่นอน ห้วงเวลาหกเดือนที่เหลืออยู่ของครม.ปัจจุบัน ต้องอ่านใจ"ลุงตู่"ว่าจะยุบสภา/ปรับครม.เมื่อใด? เพราะเงื่อนไขข้างต้นนั้นกระเทือนเเทบทุกพรรคในวันข้างหน้าหาก"ลุงตู่"ได้รับไฟเขียวอีกสองปี
เริ่มกันที่ของร้อนก่อน คือ"การปรับครม." หลัง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" สร.2 ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย้ำเเล้วว่า "ตอนนี้รอการตัดสินเคสลุงตู่ ยังไม่ปรับครม." เเปลว่า"ลุงป้อม"น่าจะรอ"ลุงตู่"มาจัดโผเอง เพราะสองเก้าอี้รมช.โควต้าพรรคลุงป้อมเเละหนึ่งรมช.มหาดไทยโควต้าพรรคประขาธิปัตย์ว่างเเน่นอน เเละรอว่าที่รมต.มาบังคับบัญชา เเล้วอย่าลืมว่าหนึ่งรมช.ศึกษาธิการโควต้าพรรคภูมิใจไทยจะปรับไปด้วยหรือไม่ (กนกวรรณ วิลาวัลย์ หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีสนับสนุนการรุกป่าเขาใหญ่ )
สามรัฐมนตรีช่วยที่ว่างของพรรคอันดับ1 เเละพรรคอันดับ 3 บนเรือเหล็กนั้น ปชป.ปรับเเน่นอน เเต่พปชร.ยังต้องลุ้นเพราะเก้าอี้ว่างมาราวหนึ่งปีเเล้ว งวดนี้"3ป." คงต้องคลายล็อกให้บางมุ้งในพปชร.ได้โอกาสเป็นรมต.ไว้ไปหาเสียงบ้าง ?
เเต่ต้องจับตาว่า การเขย่าขวดรอบนี้ของพปชร.มุ้งใดจะเปิดเงื่อนไขบ้าง โดยเฉพาะเก้าอี้มท.1ของ"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา"ที่หลายคนมองว่ามีผลยิ่งกับการเลือกตั้งเเละหวังให้สร.2คนปัจจุบันไปบัญชาการ
ตรงนี้รับกับการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค(16-18พ.ย.2565)ด้วยเพราะสร.1จะเเบ่งงานให้ครม.รับภารกิจที่เเต่ละกระทรวงร่วมเป็นเจ้าภาพ ต้อนรับเเขกวีไอพีจากประเทศสมาชิก เเละอย่าน้อยเป็นเครดิตไว้ในห้วงหาเสียงของเสนาบดี
ของร้อนลำดับถัดมาคือการเช็กชื่อส.ส.ว่า กลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป ใครจะย้ายค่ายบ้าง ( กฎหมายให้ส.ส.เขตย้ายพรรคได้ ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อมเพราะอายุสภาผู้เเทนฯเหลือหกเดือน ส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หากย้าย เลื่อนลำดับต่อไปเเทนทันที ) โดยเฉพาะพปชร.ที่หวังกวาด 150 ส.ส.เพื่อสู้ภาวะเเลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยที่หวังทะลุ 250 ส.ส.ในการชิงโอกาสเเกนนำตั้งรัฐบาล โดยจับตาส.ส.ฝากเลี้ยง (ไม่ต้องนับผู้เเทนฯงูเห่าจากฝ่ายค้านเพราะเเสดงตนชัดมาหลายวันเเล้ว)ว่าจะเปิดตัวย้ายพรรคเพิ่มกี่คน?
ปัจจัยนี้เชื่อว่า"3ป."หารือกันไม่ยิ่งหย่อนกว่าการปรับครม. สะท้อนว่าพปชร.จะเเตะ 150 ส.ส.ตามที่ลุงป้อมวางตัวเลขนี้ไว้หรือไม่?
บวกกับการชงชื่อว่าที่"เเคนดิเดตสร.1" สามอันดับของพปชร.(ต้องอ่านใจ"ลุงตู่" ว่าหากได้ไปต่อจะรับหน้าที่สร.1อีกสองปีหรือไม่? หาก"ลุงตู่" พอเเค่นี้ต้องจับกระเเสว่า"3ป." จะชงชื่อใครเข้าชิงเก้าอี้สร.1บ้าง) เพราะสองเรื่องนึ้ผูกพันกันเเนบเเน่นยิ่ง..
ของร้อนอันดับต่อไปที่หลายพรรครอคือ"ลุงตู่" หากได้อยู่ต่อจะยุบสภาเมื่อใด
เงื่อนไขนี้มีสองวาระที่ต้องวัดดวง โดยเฉพาะความพรัอมของพปชร.เเละสาเเหรกพรรคอื่นๆที่หนุน"ลุงตู่"คือ
1. อยู่จนครบวาระแล้วยุบสภาฯ เพราะหากอยู่ครบวาระสี่ปี( 23 มีนาคม2566 ) จะทำให้ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้เเทนฯสิ้นอายุ( รธน.มาตรา102 ) และผู้ที่สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน
2.แต่หากยุบสภาก่อนครบวาระ จะทำให้มีระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งอยู่ในกรอบ 45-60 วัน( รธน.มาตรา103 ) และ ผู้ที่จะสมัคร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมือง ระยะเวลาจะลดลง(เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 30วัน )ทำให้สะดวกต่อการย้ายพรรค
ดังนั้นสิ่งที่ลุ้นมาหลายวันก็เเทบไม่ต้องลุ้นอะไรกันเยอะเเยะ รอเพียงวันเวลาที่"ศาลรัฐธรรมนูญ"จะนัดอ่านคำวินิจฉัยเท่านั้น
ประเด็นอื่นเเทบไม่มีอะไรตื่นเต้นเเล้วสำหรับวาระเเปดปีสร.1!