svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ชนวนร้อน ชี้ชะตา "8 ปีนายก"จุดระเบิด- 23 สิงหาคมโดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

10 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ไม่มีอะไรเป็นประเด็นร้อนเท่ากับปัญหาตีความ " 8 ปี นายก" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค.57 ตามที่ปรากฎใน "ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี" ติดตามได้จากเจาะประเด็น "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

แต่เมื่อใกล้ระยะเวลาที่จะครบ 8 ปีตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับนำไปสู่การตีความในทางกฎหมายด้วยคำอธิบายที่หลากหลาย ซึ่งคำตอบย่อมต้องออกมาใน 2 ลักษณะ คือ 

 

อยู่ได้ไปอีก ด้วยการอาศัยความกำกวมของปัญหาเวลา และตีความให้เอื้อกับการอยู่ต่อไปในอำนาจ

 

ครบวาระแล้ว เพราะการเข้าดำรงตำแหน่งตามคำประกาศข้างต้นมีความชัดเจนในตัวเอง

 

อดีต 2535 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นการตีความทางนิติศาสตร์ แต่หากลองหันมามองในทางรัฐศาสตร์บ้างว่า ประเด็นนี้จะนำไปสู่ปัญหาอะไร

 

เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬปี 2535

 

หากเราลองย้อนอดีตสักนิด หันกลับไปสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งอยากจะขอเรียกว่า "พฤษภาประชาธิปไตย" นั้น ชนวนที่เป็นจุดตั้งต้นของวิกฤตมาจากปัญหาพื้นฐานคือ ความไม่พอใจรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร 

 

ปัญหานี้ยังเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สังคมไม่ตอบรับกับการยึดอำนาจของผู้นำทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แล้ว แต่สังคมอาจจะไม่แข็งแรงพอที่ตอบโต้การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นได้โดยตรง ความไม่พอใจในทางจิตวิทยาการเมืองดังกล่าวจึงสะสมกลายเป็น “คับข้องใจทางการเมือง" ที่ทวีขึ้น 

 

พล.อ.สุจินดา คราประยูร  อดีตนายกรัฐมนตรีในยุคเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ35

 

ผลพวงของการสะสมของ "ความคับข้องใจทางการเมือง" หรือในทางทฤษฎีจิตวิทยาการเมืองเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า "political frustrations" ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง การสะสมเช่นนี้จะนำไปสู่ "จุดระเบิด" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

จุดระเบิดในปี 2535 คือ คำกล่าวของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำการรัฐประหารที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เขายืนยันมาตลอดว่าจะไม่รับตำแหน่งดังกล่าว

 

แต่เมื่อต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาอธิบายว่า "มีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ…" 

 

ผู้นำทหารอาจจะเชื่อมั่นในอำนาจปืนว่าจะใช้คุมทุกอย่างในสังคมไทยได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง กลับเป็นการขยายตัวของการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง

 

ด้วยความเชื่อมั่นว่า กองทัพคุมได้หมด พลเอกสุจินดา ถึงกับกล้าท้าทายการต่อต้านที่เกิดขึ้นบนถนนว่า "ไม่สามารถกดดันได้ เดี๋ยวก็หมดแรงกันไปเอง…" แล้วในท้ายที่สุด
การต่อต้านนายกรัฐมนตรีกลายเป็นวิกฤตการเมืองใหญ่อีกครั้งที่เกิดการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 แต่การใช้กำลังกลับจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพ ไม่ต่างกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

 

ชนวนร้อน ชี้ชะตา "8 ปีนายก"จุดระเบิด- 23 สิงหาคมโดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

วิกฤตการเมืองชุดนี้จบลงด้วยการลาออกของนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันถัดมา อันเป็นการสิ้นสุด "ยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ" หรือ "รัฐบาลพันทาง" หรือเป็นการปิด "ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของรุ่น 5"

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  อดีตหัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน

 ปัจจุบัน 2565 

ถ้าคำตอบในทางกฎหมายยืนยันว่า พลเอกประยุทธ์ สามารถที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปได้ด้วย "อภินิหาร" ของการตีความแล้ว น่าสนใจอย่างมากว่า คำตอบในแบบนิติศาสตร์จะกลายเป็น "จุดระเบิด" ของสถานการณ์แห่งความคับข้องใจทางการเมืองที่สะสมมาตั้งแต่รัฐประหารหรือไม่

 

เราอาจจะตอบอนาคตไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราเห็นการประกาศการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีกำลังก่อตัวขึ้นไม่หยุด ฉะนั้นเราอาจมองในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า คำตอบในวันที่ 23 สิงหาคม เพื่ออนุญาตให้พลเอกประยุทธ์อยู่ต่อ จึงน่าจะเป็น "จุดระเบิด" สำคัญ ส่วนจะนำไปสู่ "พฤษภาประชาธิปไตย 2535" หรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างยิ่ง

ชนวนร้อน ชี้ชะตา "8 ปีนายก"จุดระเบิด- 23 สิงหาคมโดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

ฉะนั้น วาระครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จึงวนกลับท้าทายว่า การตีความให้อยู่ต่อจะเป็นเสมือนกับการ "การเสียสัตย์เพื่อชาติ" หรือไม่ 

 

เพราะคำประกาศตั้งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีความชัดเจนในตัวเอง จึงทำให้นักรัฐศาสตร์มองไม่เห็นความจำเป็นในการตีความแต่อย่างใด

 

การอยู่ต่อได้จึงอาจถูกตีความว่า เป็นการ "เสียสัตย์"  ของคำประกาศตั้งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

logoline