svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"เมืองโบราณคูบัว" ร่องรอยทวาราวดี รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

06 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัปดาห์นี้ คุณหมอ"พลเดช ปิ่นประทีป" สมาชิกวุฒิสภา ชวนไปตามรอยความเจริญในยุคสมัยทวาราวดี ณ เมืองคูบัว เมืองโบราณ อยู่ห่างจากเมืองราชบุรีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 12 กิโลเมตร คาดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 และเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของอาณาจักรทราราวดี

 

"เมืองคูบัว" เป็นเมืองโบราณอยู่ห่างจากเมืองราชบุรีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 12 กิโลเมตร คาดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 และเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญของอาณาจักรทราราวดี

 

ลักษณะทางกายภาพของเมือง มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย ลำห้วยเหล่านี้เป็นลำห้วยสาขาของลำน้ำสายใหญ่ คือ แม่น้ำอ้อม(แม่กลองสายเดิม) และแม่น้ำแม่กลอง

 

"เมืองโบราณคูบัว" ร่องรอยทวาราวดี รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

การสำรวจเมืองคูบัวตั้งแต่ พ.ศ. 2504 พบโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกคูเมืองจำนวน 67 แห่ง กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งแล้วจำนวน 23 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นซากฐานสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นสืบเนื่องกับศาสนาพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

 

เมืองโบราณสมัยทวาราวดีโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกันตั้งแต่พื้นที่ตั้งและผังเมือง กล่าวคือมักตั้งอยู่บนดอนในที่ลุ่มใกล้ทางน้ำ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมมุมมนหรือค่อนข้างกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบหนึ่งหรือสองชั้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หรือป้องกันน้ำท่วม 
   

"เมืองโบราณคูบัว" ร่องรอยทวาราวดี รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

ขอบคุณภาพจาก เว็บ Thai-Tour.com

 

โบราณสถานขนาดใหญ่มักตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง เช่น เมืองนครปฐมโบราณ มีวัดพระประโทน และเจดีย์จุลประโทนตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี มีโบราณสถานหมายเลข 18 ในวัดโขลงสุวรรณคีรีตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง เมืองในของเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง เป็นต้น

 

ศาสนสถานที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นศาสนาพุทธในมหายานและเถรวาท  ในส่วนโบราณสถานศาสนาพุทธแบบมหายาน มักนิยมตกแต่งอาคารด้วยลวดลายทั้งที่เป็นแผ่นภาพดินเผา แผ่นภาพปูนปั้น ตลอดจนประติมากรรมนูนสูงทั้งดินเผาและปูนปั้น รูปพระโพธิสัตว์, เทวดา, อมนุษย์, และรูปสัตว์ โดยเฉพาะเศียรพระโพธิสัตว์ 

 

"เมืองโบราณคูบัว" ร่องรอยทวาราวดี รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

ดินเผาที่แสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง รูปพระโพธิสัตว์ดินเผาที่ส่วนองค์ยังคงสภาพดีอยู่ ล้วนยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงสะโพก) ลักษณะเดียวกับประติมากรรมในศิลปะอินเดีย จนมีผู้สันนิษฐานว่าประติมากรรมดินเผาที่พบนี้ อาจจะทำขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณเมืองคูบัว ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13

 

โบราณสถานศาสนาพุทธแบบเถรวาท ไม่นิยมการประดับตกแต่งมากนัก อาจมีเพียงแผ่นอิฐแต่งลวดลายหรือชิ้นส่วนลวดลายดินเผาประดับ หรืออาจเป็นแผ่นภาพเล่าเรื่องในศาสนาพุทธ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง ปรากฏหลักฐานทั้งแบบมหายานและแบบเถรวาท ตั้งอยู่เกือบกลางเมืองคูบัว มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในบรรดาโบราณสถานเมืองคูบัว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานของวิหาร เพราะมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางขึ้นทางเดียว นอกจากนี้ยังได้พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์สำริดขนาดเล็ก มีรูปแบบคล้ายคลึงกับประติมากรรมที่พบในภาคใต้

 

"เมืองโบราณคูบัว" ร่องรอยทวาราวดี รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

โบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ โบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งได้พบผอบทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุครอบด้วยผอบเงิน ฝาแกะลวดลายดอกบัว บรรจุในช่องกลางของกล่องรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเจาะเป็นช่องห้าช่อง วางอยู่ใต้ฐาน เพื่อบรรจุรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องจักรวาลที่มีอิทธิพลมาจากอินเดีย ทั้งหมดสะท้อนเห็นถึงความเชื่อในเรื่องการเคารพบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคาร ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นก้อนอิฐขนาดใหญ่ ความกว้างประมาณ 18 เซนติเมตร ความยาว 34 เซนติเมตร และความหนา 8 เซนติเมตร ดินที่ใช้เผามีส่วนผสมของแกลบข้าวเมล็ดใหญ่ โบราณสถานส่วนมากใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้าง มีโบราณสถานเพียงแห่งเดียวที่มีฐานก่อด้วยศิลาแลง คือ โบราณสถานหมายเลข 18 หรือวัดโขลง 

 

โบราณวัตถุที่พบภายในเมืองคูบัว เป็นโบราณวัตถุเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตประจำวัน พบประติมากรรมประดับอาคารศาสนสถาน, พระพุทธรูปดินเผาและปูนปั้น, พระพิมพ์ ทั้งที่ทำจากดินเผาและหินชนวน, ชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา, ประติมากรรมรูปบุคคลที่ทำด้วยดินเผาและปูนปั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนภายในเมืองคูบัว เช่น ภาพดินเผารูปผู้ชายไว้เครา แต่งกายมีผ้าโพกศีรษะแหลม สวมรองเท้าบู๊ท สันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวอาหรับที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

 

โบราณวัตถุที่ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยดินเผา ตะคัน ตะเกียง แว ลูกกระสุน ที่ประทับลวดลาย เครื่องประดับโลหะ เครื่องมือโลหะ ลูกปัดแก้ว เครื่องใช้ และเครื่องประดับ

logoline