svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เปิดคู่มือ"อภิปรายไม่ไว้วางใจ"ศึกสุดท้าย พรรรคการเมืองชิงความได้เปรียบ

19 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชำแหละแผล นายกฯ และ 10 รมต. ในศึก"อภิปรายไม่วางใจ"ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้าย เผยการวางหมากอภิปรายตั้งแต่วันที่ 19-22 ก.ค. ที่เปลี่ยนจากรูปแบบเดิม เหล่านี้ล้วนมีนัยยะที่น่าสนใจ ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย อสนีบาต

 

สิ้นสุดการรอคอยกับการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาญัตติ"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" นายกรัฐมนตรีและ 10 รัฐมนตรี ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 -22  ก.ค.นี้  การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีครั้งนี้ ตกเป็นที่จับตามองอีกครั้ง ถึงบทบาทการทำหน้าที่"ฝ่ายนิติบัญญัติ"

 

สุชาติ  ตันเจริญ  รองประธานสภาคนที่ 1 จะขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ชุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก เนื่องจาก ชวน หลีกภัย ติดปัญหาทางสุขภาพ

 

ทั้งฝ่ายค้านในการหาข้อมูลหลักฐานตรวจสอบรัฐบาล ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง 10 รมต. ต้องพยายามชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาทั้งหลายแหล่ ก่อนนำไปสู่การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันสุดท้าย   

 

นับตั้งแต่ รัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์" เข้ามาบริหารประเทศ ฝ่ายค้านใช้สิทธิการยื่นญัตติ"อภิปรายไม่ไว้วางใจ"รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่แล้ว  หากแต่ครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย ตามวาระการทำงานของรัฐบาล ก่อนจะมีการคืนอำนาจให้ประชาชนทำการเลือกตั้งใหม่ประมาณ กลางปีหน้า (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดโดยเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐบาลครบวาระการทำงาน)  

 

ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เปิดหัว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรมต.

 

เมื่อเป็น"ศึกสุดท้าย"ของการตรวจสอบ จึงทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีการปรับแผนกำหนดกลยุทธ์แตกต่างจากการ"อภิปรายไม่ไว้วางใจ"สามครั้งที่ผ่านมา  ดังเห็นได้จากการโหมโรงของพรรคเพื่อไทย ที่มีการปล่อยภาพโฆษณาเชิญชวน ประชาชนติดตามการอภิปราย โดยรับรู้ว่า กระแสโซเชียลมีเดียวมีความสำคัญและเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าการสื่อสารในอดีต  เช่นเดียวกับ "พรรคก้าวไกล" พรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ ผ่านภาพโปสเตอร์ ที่ออกไปทำนองไว้อาลัยรัฐบาลลุงตู่ 

 

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอยังนำไปใช้ในสภา ดังปรากฎถ้อยแถลงของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นไปตาม สูตร  2 : 3: 3 : 3 กล่าวคือ

 

วันแรก ประเดิมอภิปรายรมต.จากพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน  ชาญวีรกูล  รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รมว.คมนาคม 

 

ถัดมาเป็นคิวเชือด"พรรคประชาธิปัตย์" คือ นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกฯและรมว.พาณิชย์  และหัวหน้าหน้าพรรคประชาธิปัตย์  นายจุติ ไกรฤกษ์  รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   และนายนิพนธ์  บุญญามณี รมช.มหาดไทย  

 

เลข 3 ในวันที่ 3 ของการอภิปราย เป็นคิวของรมต.จาก"พรรคพลังประชารัฐ"  นั่นคือ  นายสันติ พร้อมพัฒน์  รมช.คลัง  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดีอีเอส  และ นายสุชาติ ชมกลิ่น  รมว.แรงงาน  

 

 

สามสุดท้าย คือ การวางหมากอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีกลุ่ม 3 ป. ผู้มีความผูกพันทางการเมือง และเป็นเสาเข็มหลักในการตั้งรัฐบาลหนนี้ นั่นคือ  พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ และตบท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯ และ หนึ่งใน 3 ป. ถูกกำหนดให้อภิปรายไม่ไว้วางใจในวันสุดท้าย

 

เห็นได้ว่า การวางหมากอภิปรายรอบนี้ ต่างมองกันว่า หากเป็นการเปิดหัวอภิปรายนายกฯ เป็นคนแรกเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ย่อมทำให้ทุกสายตารวมถึงประชาชนที่ติดตามการอภิปรายให้ความสำคัญในชั่วโมงยามของวันแรกๆเท่านั้น  จากนั้นประเด็นการอภิปรายรมต.ที่เหลือ แทบจะลดความสนใจลงชนิดที่เรียกได้ว่า แค่ตัวประกอบฉากญัตติที่ว่ากันว่า เป็นมาตรการตรวจสอบที่รุนแรงที่สุด แต่กลับไม่ขลังสมคำร่ำลือ

 

ขณะเดียวกัน การกำหนดตัวผู้ถูกอภิปราย "3 ป." เป็นวันสุดท้าย ฝ่ายค้านประเมินว่า ทำให้ผู้ติดตามการอภิปรายได้รับชมบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลแบบต่อเนื่อง ชนิด นวดไปเรื่อยๆ จากเล็กไปหาใหญ่ ทำให้ประชาชนเฝ้าติดตาม กลุ่มตัวเอกของเรื่องที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่น และเป็นหัวใจรัฐบาลก็คือ เหล่า 3 ป.  พล.อ.ประวิตร - พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ 

 

แม้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรมต. ที่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาจะมีเนื้อหาแบบกว้างๆ หากแต่ชำแหละลงไปในรายละเอียด ทำให้เห็นหัวข้อสำคัญ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมถล่ม

 

เปิดคู่มือ"อภิปรายไม่ไว้วางใจ"ศึกสุดท้าย พรรรคการเมืองชิงความได้เปรียบ

 

เริ่มตั้งแต่  "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ และรมว.กลาโหม 
ข้อกล่าวหา เน้น 8 ปีบริหารผิดพลาดทุกด้าน ชนิดที่อภิปรายแบบเหมารวม 

-แตกย่อยด้วยการนำเสนอสถิติมีการทุจริตในรัฐบาลชุดนี้ สูงสุดประวัติการณ์

-ก่อหนี้มหาศาลจากการนำมาแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโควิด-19   

-พลาดไม่ได้ คือ การตรวจสอบงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สวนทางวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้  เช่น  กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่จำเป็น แถมยังขาดอะไหล่   กรณีการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับไม่ติดอาวุธ  พร้อมกับย้อนรอยปม GT200 หรือที่ฝ่ายค้านเปรียบเปรยเป็นไม้ตรวจวิญญาณมาตรวจหาสัญญาณวัตถุระเบิด ฯลฯ
 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดนข้อกล่าวหา ด้วยการขับเน้นไปที่ปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวของสินค้า อาหารสัตว์ อย่างเป็นลูกโซ่ 

 

อีกประเด็นที่ถูกจับตาคือการปล่อยปละละเลยให้ทุจริตในองค์กร หน่วยงานราชการที่กำกับดูแลและการแสวงผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องซึ่งฝ่ายค้านออกตัวก่อนหน้านี้ว่ามีข้อมูลที่จะทำให้ คนในพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีลงมติไม่ไว้วางใจ"นายจุรินทร์" ได้ 

 

"นายอนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข  ข้อกล่าวหา
เน้น การบริหารงานกระทรวงสาธารณสุขบกพร่อง โดย"ฝ่ายค้าน"อ้างว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผิดพลาด ซึ่งประเด็นนี้ คงต้องติดตามอีกครั้ง เพราะกรณีของปัญหาแพร่ระบาดโควิด เคยถูกนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อน แต่นายอนุทิน สามารถชี้แจงด้วยเอกสารหลักฐานได้ จึงอยู่ที่ว่าฝ่ายค้าน จะมีประเด็นใหม่อะไรหรือไม่ให้ดูน่าเชื่อถือ  

 

อนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประเดิมโดนอภิปรายเป็นคนแรก

 

อย่างไรก็ดี กรณีของ"นายอนุทิน" กลับถูกเขียนไว้ในญัตติอภิปรายไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ กรณีการดึง ส.ส.พรรคอื่นเข้าสังกัด ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยปรากฎประเด็นการเมืองแบบนี้อยู่ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ท่ามกลางคำถาม ฝ่ายค้านจะใช้กลวิธีอย่างไรชี้ให้เห็นว่า การดึงส.ส.เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยเป็นเรื่องที่ส่อให้เห็นเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ 

 

อีกประเด็น ฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายคือ เรื่องของการใช้งบประมาณเกินความจำเป็นไม่เกิดประโยชน์ แน่นอนพุ่งเป้าไปที่เรื่องการอนุมัติจัดหาวัคซีนสู้ภัยโควิดนั่นเอง 

 

มาที่ "พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ"  รองนายกฯ ข้อกล่าวหา  เน้นการแทรกแซงกลุ่มการเมือง  ด้วยการใช้สถานที่ราชการ ( มูลนิธิป่ารอยต่อฯ)เคลื่อนไหวการเมือง ซึ่งประเด็นนี้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล โดย "นายรังสิมันต์  โรม"  จะเป็นผู้อภิปราย  พร้อมกันนี้ "พล.อ.ประวิตร" ยังจะถูกอภิปรายด้วยข้อกล่าวหา มุ่งสร้างความมั่งคั่งในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกจับจ้องกรณีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคเล็กร่วมสนับสนุนรัฐบาลในทุกวาระนั่นเอง 

 

"พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย  ข้อกล่าวหา ปล่อยปละละเลยให้ทุจริตในหน่วยงานในกำกับดู /ปมข้อสอบผู้บริหารท้องถิ่นผิดพลาดจนมีการร้องเรียนผ่านศาลปกครอง  รวมไปถึงเบื้องหลังทำค่าไฟแพงซ้ำเติมภาระประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ 

 
"นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม   ข้อกล่าวหา เน้นไปที่เรื่องเดิมซึ่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเกือบทุกครั้ง นั่นคือ  ปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ โดยที่มีบุคคลทางการเมือง ครอบครองอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย  การอภิปรายผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่ได้มีการแก้ไขหาความกระจ่าง  ซึ่งจะมีการอภิปรายเทียบเคียงกับกรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์  อดีตส.ส.ราชบุรี  ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ตัดสินผิดจริยธรรม แต่เหตุฉไน ยังมีนักการเมืองที่อยู่ในข่ายครอบครองที่ดินมิชอบ กลับไม่ได้ถูกพิจารณาตัดสิน 

 

นอกจากนี้ "นายศักดิ์สยาม" ยังต้องเผชิญกับการอภิปรายกรณีการแก้ปัญหาโครงการประมูลรถไฟฟ้าหลายสีที่มีเงื่อนงำอีกด้วย 
 

"นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" รมว.ดีอีเอส  ข้อกล่าวหา  เน้นไปที่ขาดความรู้ในการบริหารงานและใช้เครื่องมือรัฐ เอาผิดฝ่ายตรงข้ามที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนไหวทางการเมือง  

 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดีอีเอส จากพรรคพลังประชารัฐถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่สาม

น่าสนใจกว่านั้น ตามญัตติอภิปรายนายชัยวุฒิ กลับระบุเรื่อง"มีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี" จึงน่าพิจารณาอย่างยิ่งฝ่ายค้านจะตีแผ่เรื่องราวการสร้างความเสื่อมเสียศีลธรรมออกมาอย่างไร เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องส่วนรวม ?!?

 

"นายจุติ ไกรฤกษ์" รมว.พัฒนาสังคมฯ ข้อกล่าวหา เน้น มุ่งแสวงหาประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง  ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย 

 

"นายสันติ พร้อมพัฒน์" รมช.คลัง  ข้อกล่าวหาเน้น ปล่อยปละให้มีการทุจริต ซึ่งหนีไม่พ้น ปมปัญหาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี  โดยฝ่ายค้านมองว่า การประมูลโครงการของกลุ่มบริษัทเอกชนอย่างผิดปกติ 
        
 

นิพนธ์  บุญญามณี  รมช.มหาดไทย เป็นหนึ่งในสามรมต.ประชาธิปัตย์ถูกอภิปรายวันที่สอง
 

"นายนิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย  ข้อกล่าวหาตามญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านเน้นเรื่องพฤติการณ์สนับสนุนให้มีการทุจริต นั่นคือ กรณีปัญหาถือครองที่ดินในจังหวัดสงขลา  และกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด รถเอนกประสงค์อบจ.สงขลา ในช่วงที่ นิพนธ์ เคยดำรงตำแหน่งนายกฯอบจ.สงขลา

 

ว่ากันว่า  กรณีโครงการรถเอนกประสงค์ ถือเป็นเป้าหลอก แต่เป้าหลักกลับเป็นเรื่อง ปมปัญหาความเกี่ยวพันการถือครองที่ดินในจังหวัดสงขลา  ซึ่งขุนพลพรรคก้าวไกลรับผิดชอบ มีร่องรอยการค้นหาข้อมูลบุคคล เพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย กล่าวหารัฐมนตรีเป็นแลนด์ลอร์ด ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ สำทับข้อกล่าวหา ป.ป.ช.เรื่อง"ผู้มีอิทธิพล" และโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีการกว้านซื้อที่ดินเตรียมขายให้เอกชนที่เข้าทำโครงการเป็นอย่างไร ต้องติดตามจากการอภิปราย 

 

"นายสุชาติ ชมกลิ่น" รมว.แรงงาน  ข้อกล่าวหาเน้นใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง  มีการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใหญ่จากแรงงานผิดกม.

 

เหล่านี้ คือ ประเด็นหลักที่ นายกฯ และ 10 รมต. จะถูกอภิปราย พร้อมกับการวางหมาก จัดลำดับจากเล็กไปหาใหญ่ คือ "3ป." ในวันสุดท้าย เพื่อเพิ่มน้ำหนักโน้มน้าวส.ส.ในสภาลงมติ คู่ขนานไปกับที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดช่องทางให้ประชาชนที่ติดตามลงมติผ่านเครื่องมือสื่อสาร ที่แต่ละพรรคจัดทำขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ 

 

นี่เป็นโอกาสสำคัญ และครั้งสุดท้ายในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง สร้างความนิยมก่อนเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้น 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะชี้แจงแสดงเหตุผล สร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน กับศึกสุดท้ายครั้งนี้ 

logoline