svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

โรดโชว์"พลังประชารัฐ"เดิมพันความนิยม หรือ โดดเดี่ยว"ลุงตู่"

28 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลการผลักดันนโยบายเอาใจประชาชนได้รับคำชื่นชมเฉพาะหน้าแต่ไม่ได้กินใจถาวร ตอกย้ำผ่านโพลต่างๆ พบว่า ความนิยมรัฐบาล"ลุงตู่" ตกอยู่ในสภาพ สาละวันเตี้ยลง นี่เป็นอีกเหตุผล จำเป็นต้องมีการจัดโรดโชว์"พลังประชารัฐ" เดิมพันวัดกระแสลุงตู่ อีกครั้ง เจาะประเด็นโดย อสนีบาต

 

"พรรคพลังประชารัฐ" (พปชร.) ถือเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยการผลักดัน "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารบ้านเมืองมาเกือบจะครบ 8 ปีในเร็วๆนี้  

 

ไม่น่าเชื่ออยู่เหมือนกัน ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศ ภายใต้การนำ "นายกฯลุงตู่" โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแบ็คอัพ  ต้องเผชิญสถานการณ์จากภายในและภายนอก บีบรัดรัฐบาลให้ตกอยู่ในสภาพเจียนอยู่เจียนไป  ไม่ว่าเป็นปัจจัยจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 พ่นพิษ กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้คนเริ่มไม่เชื่อมั่นการทำงานรัฐบาล  แรงเขย่าจากการชุมนุมสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความรุนแรง รวมถึง ความพยายามจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามสร้างเรื่องดิสเครดิตทุกสามเวลาหลังอาหาร  

 

ภาพพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยขึ้นเวทีหาเสียงโค้งสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐเมื่อการเลือกตั้งปี 2562

 

บ้างมองว่า "รัฐบาลลุงตู่" อยู่ไม่ครบวาระบ้าง บ้างมองว่ารัฐบาลจะโดนจำนวนเสียงในสภาคว่ำกฎหมายสำคัญเป็นผลให้นายกฯต้องประกาศยุบสภาบ้าง แต่ทว่า ผลคาดการณ์เหล่านั้นก็ดูพลิกออกมาตรงกันข้ามเสมอ โดยข้อเท็จจริงจนถึงขณะนี้ รัฐบาล "ลุงตู่" ยังสามารถลากมาได้จนใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2566  

 

ภาพเหตุการณ์ การรวมตัวตั้งพรรคพลังประชารัฐหาเสียงยุคแรกๆที่อุดมด้วยบุคลากรคุณภาพแต่ปัจจุบันแตกตัวย้ายไปตั้งพรรคใหม่

อย่างไรก็ดี แม้มีความพยายามลากรัฐบาลให้ครบวาระ แต่ต้องยอมรับประการหนึ่ง ระหว่างทางของการบริหารประเทศ  "นายกฯลุงตู่" และพรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในสภาพความนิยมเสื่อมทรุดอย่างต่อเนื่อง

 

การจะขับเคลื่อนผลักดันนโยบายเอาใจประชาชน ก็เป็นเพียงได้รับคำชื่นชมเฉพาะหน้าแต่ไม่ได้กินใจถาวร ดังเห็นได้จากผลการสำรวจของสำนักโพลต่างๆ  นับแต่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย พบว่า ความนิยมรัฐบาลลุงตู่ ตกอยู่ในสภาพ สาละวันเตี้ยลง  ไม่เพียงเท่านั้น ผลโพลยังสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ต้องการเปลี่ยนผู้เล่นบนกระดานแห่งอำนาจ  หรือจะกล่าวกันแบบตรงๆ  "ต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำ"

 

ในขณะที่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล ต่างก็ใช้จังหวะที่"รัฐบาลลุงตู่"เพลี่ยงพล้ำ เดินเกมเก็บแต้มสะสมคะแนนความนิยมกันอย่างเข้มข้น  ยิ่งทำให้เกิดภาพความแตกต่างในเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

 

เพราะฝ่ายรัฐบาลซึ่งอยู่ในอำนาจ มีเครื่องไม้เครื่องมือกลไกข้าราชการ งบประมาณ  แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงการใช้ปัจจัยเหล่านี้สร้างความได้เปรียบทางการเมืองแม้แต่น้อย  

 

โรดโชว์"พลังประชารัฐ"เดิมพันความนิยม หรือ โดดเดี่ยว"ลุงตู่"

 

อย่าได้แปลกใจ เมื่อนิด้าโพล เปิดผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ด้วยการถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้  พบว่า  "อุ๊งอิ๋ง" แพทองธาร ชินวัตร  หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาเป็นอันดับหนึ่ง  ขณะที่ "นายกฯลุงตู่"   ร่วงหล่นลงไปอันดับสี่ ซึ่งเป็นสภาพที่ฝ่ายสนับสนุน"ลุงตู่"เป็นนายกฯ ต้องขบคิดกันให้หนักแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเป็นแบ็คอัพลุงตู่ ที่ชื่อ  "พรรคพลังประชารัฐ"  

 

แต่เมื่อเข้าไปดูกลไกภายในพรรคพปชร. ย่อมบ่งชี้เข้าไปอีกถึงความไม่พร้อมที่จะสามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อ เหมือนช่วงข้าวใหม่ปลามันก่อนการเลือกตั้งปี 62   

 

โรดโชว์"พลังประชารัฐ"เดิมพันความนิยม หรือ โดดเดี่ยว"ลุงตู่"

 

สภาพของพลังประชารัฐเพลานี้อยู่ในอาการรอความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จะโดดมาเป็นหัวขบวนตัวจริง ด้วยการลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ ขณะที่สภาพของพรรคมีลักษณะกลุ่มก๊วน แถมมีกลุ่มม้าพยศ ออกไปสร้างอาณาจักรของตนเองอย่างผู้กองคนดังที่ไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย  คำถามตามมาสภาพการณ์พรรคพลังประชารัฐตอนนี้ จะช่วยหนุน"ลุงตู่"ได้อย่างไรบ้าง 

 

ภาพตอกย้ำ จากความพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมหลายสนามที่ผ่านมา จากพื้นที่ภาคใต้ หรือแม้แต่เลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ กทม. รวมถึงการส่งผู้สมัครชิงชัยในสนามส.ก. เป็นคำตอบได้อย่างดีว่า พปชร.ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

ไม่เหมือนกับที่เคยได้รับความนิยมก่อนเลือกตั้ง ปี 62 

 

หากย้อนกลับไปดูถึงช่วงความพยายามฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19  "รัฐบาลลุงตู่" ดำริให้จัดประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ สามารถเรียกความเชื่อมั่นสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้ประเทศไทยระดับหนึ่ง แต่ในทางการเมือง การสร้างความนิยมระดับพื้นที่กลับเป็นไปด้วยความหงอยเหงา

 

อย่าได้แปลกใจในเวลาต่อมา จึงไม่มีวี่แววจะให้มีการจัดประชุมครม.สัญจรในรอบต่อไป ทั้งที่มีข้อเสนอว่าจะให้มีการกระจายไปในแต่ละพื้นที่อย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่นี่ผ่านมาเกือบครบหนึ่งปีนับแต่มีการประชุมครม.สัญจรกระบี่เมื่อปี 64 ไอเดียอันบรรเจิดถูกพับเก็บไป พร้อมกลับเป็นไปในลักษณะ "นายกฯลุงตู่" วันแมนโชว์ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดต่างๆตามประสา เช่นเดียวกับ ปลายเดือนมิ.ย.ที่จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามนโยบายแก้จน และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น  ส่วนจะหวังผลการเมืองระดับพื้นที่ ก็อยู่ในสภาพ"ตัวใครตัวมัน" 

 

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ วางโรดแมปลงพื้นที่หาเสียงชนิดเป็นรายวันรายสัปดาห์ คำถามว่า "พรรคพลังประชารัฐ"ที่ยังคงประกาศสนับสนุนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  ทำอะไรไปแล้วบ้าง  เมื่อมีรายงานออกมาว่า  "พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ"  หัวหน้าพรรค  เตรียมจัดโรดโชว์ ภายใต้ชื่อ  "พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติไทย"   

 

โรดโชว์พปชร.  ได้มีการวางแผนแบ่งพื้นที่ให้แกนนำแต่ละคนรับผิดชอบ  เบื้องต้นพื้นที่ภาคใต้ และกทม. โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคเข้าไปช่วยที่ภาคใต้ และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค เข้าไปช่วยพื้นที่ กทม.

 

ส่วนภาคกลาง แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ภาคกลางตะวันออกและภาคกลางตะวันตก มีรัฐมนตรี 4 คนรับผิดชอบ ประกอบด้วย สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผอ.พรรค  ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค  อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรค และ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่อีสานใต้มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะกรรมการบริหารพรรครับผิดชอบ ขณะที่อีสานเหนือ มีพล.อ.ธัญญา เกียรติสาร กรรมการบริหารพรรค และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบ และจะมีพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ซึ่งจะพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ครบ 2 ปีในวันที่ 1 ต.ค.2565 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาร่วมด้วย

 

ภาคเหนือ มอบหมายให้ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค กับนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ และกรรมการบริหารพรรค รับผิดชอบ ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบแต่ละภาคจะดูแลเรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.และจัดทำนโยบายกิจกรรมพื้นที่

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ สันติ จัดกิจกรรมโรดโชว์เดินสายพรรคแต่ละภาค ให้แกนนำที่รับผิดชอบแต่ละภาคไปเตรียมความพร้อม เพื่อสรุปตารางกิจกรรม และรายละเอียดในการลงพื้นที่ โดยใช้ชื่อว่า "พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติไทย" เบื้องต้น พื้นที่อีสานใต้ จัดกิจกรรมที่ จ.นครราชสีมา อีสานเหนือ จ.มหาสารคาม ภาคเหนือ ที่ จ.พิษณุโลก หรือจ.เพชรบูรณ์ ภาคใต้ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาคกลางตะวันออก ที่ จ.ชลบุรี ภาคกลางตะวันตก จ.เพชรบุรี และกทม.ย่านชานเมือง โดยจะเริ่มกิจกรรมเดือน ก.ค.

 

นี่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างพอสมควรกับแผนการชิงพื้นที่ขอคะแนนสร้างความนิยมรอบล่าสุด   

 

แต่ย่อมเผชิญคำถาม  เหตุใดถึงเพิ่งเริ่มคิดและทำ  นอกจากนี้การกำหนดตัวบุคคลมอบหมายเป็นหัวขบวนประจำพื้นที่ บางคนตกอยู่ในสถานะติดคดีความ ยังไม่รู้อนาคตทางการเมืองจะเดินไปต่อได้หรือไม่ อย่างเช่น แม่ทัพภาคอีสานอย่าง วิรัช รัตนเศรษฐ์   ที่ศาลฯสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคดีทุจริตสนามฟุตซอล 

 

อีกประการ สภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์  ไม่อินังขังขอบกับความเป็น "พลังประชารัฐ" สักเท่าไหร่  วางตนอยู่บนหอคอยงาช้างรอให้พรรคเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯสมัยหน้าเท่านั้น  แต่เกมวันนี้เปลี่ยนไปแล้วอันสืบเนื่องจากผลโพลบ่งบอกชัดถึงความนิยมผู้นำลดลง 

 

กอปรกับความไม่ชัดเจนในตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคพปชร. หรือไม่  ผสมโรงอาการขุ่นมัวของคนในพปชร. ที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตอกย้ำบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองว่าจะสนับสนุนประยุทธ์ต่อไปดีหรือไม่  และยังมีคำถามต่อไปอีกถ้าไม่สนับสนุน ตัวเลือกใหม่ เป็นใครก็ยังไม่โผล่ออกมาอีก  

 

การขับเคลื่อนโรดโชว์ คือกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่การหวังผลเพื่อเตรียมตุนพลังความนิยมรองรับเลือกตั้ง ภายใต้สภาพการณ์พลังประชารัฐที่ดูเหมือนเป็นพรรคใหญ่มั่นคงแต่ภายในไม่มั่นคงเสียแล้ว 

 

บอกได้คำเดียว "อาการน่าเป็นห่วง" 

logoline