svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ตะลอนเมืองทุเรียน ส่องความก้าวหน้า "เกษตรแข็งขัน จันทบุรี" โดย ส.ว.พลเดช

06 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จันทบุรี" เป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดจันทบุรีเกินครึ่งหนึ่งมาจากภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การศึกษาและอื่น ๆ  ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ในมุมมองของยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน ย่อมให้ความสำคัญต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้นแบบมักไม่พ้นรายได้หลักที่มาจากอุตสาหกรรม แต่ประชาชนชาวบ้านที่จันทบุรีกลับรู้สึกต่อต้านค่อนข้างแรง เพราะเขามีการเกษตร ท่องเที่ยว เจียระไนพลอย และการค้าชายแดนที่มาทดแทนได้ดีและสมดุลมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ระยองที่อยู่ติดกัน

 

จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดจันทบุรีเกินครึ่งหนึ่งมาจากภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การศึกษาและอื่น ๆ  


ปี ๒๕๕๕ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดมีมูลค่าทั้งสิ้น ๑ แสนล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ ๒๒ ของประเทศ ค่าเฉลี่ย ๒ แสนบาท/หัว/ปี ภาคส่วนเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ ๕๕.๗ และสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ผลผลิตสำคัญคือไม้ผล มังคุด ทุเรียน สละ เงาะ และพริกไทย ยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนซึ่งจันทบุรีมีการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย 


จังหวัดจันทบุรีได้รับฉายาว่าเป็นเมืองหลวงทางด้านอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น ไพลิน สตาร์ บุษราคัม และ ทับทิมสยาม  ปัจจุบันปริมาณอัญมณีที่ค้นพบในเขตจังหวัดจันทบุรีลดลงไปมาก ส่งผลให้ต้องนำเข้าอัญมณีจากประเทศมาดากัสการ์ มาเป็นวัตถุดิบให้ช่างเจียระไนพลอยที่มีฝีมือทำที่นี่

 

จันทบุรีมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดจันทบุรีรวมทั้งสิ้น ๑ ล้านคน โดยเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเพียง ๕.๓ หมื่นคนเท่านั้น อัตราการพักเฉลี่ย ๒.๓ วัน สร้างรายได้ให้กับจังหวัดกว่า ๔.๒ พันล้านบาท ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อวันอยู่ที่ ๑,๕๐๐ บาทต่อคน 


เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕  คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปฯ วุฒิสภา ชุดยุทธศาสตร์ด้าน-ความสามารถในการแข่งขัน ลงพื้นที่จันทบุรีเพื่อเจาะดูปัญหาทุเรียนส่งออก ผลไม้เศรษฐกิจหลักที่เพิ่งถูกด่านจีนกักสินค้าไว้ ๓ วันในช่วงสงกรานต์ จากปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโควิดจนเป็นข่าวฮือฮา แต่พวกเขาก็สามารถแก้ปัญหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ด้วยมาตรฐาน GMP+สำหรับโรงคัดบรรจุ(ล้ง) และ  GAP+สำหรับแหล่งผลิต(สวน)


มีมาตรการและบทเรียนรู้ ๖ ประการ


๑.    ควบคุมมาตรฐานสินค้าส่งออก  กำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้งในเนื้อทุเรียน กำหนดวันเก็บเกี่ยว ป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ทำระบบติดป้ายและQR Code ระบบป้องกันเพลี้ยแป้งทุเรียนและราดำ หนอนเจาะเมล็ด รวมทั้งการขึ้นทะเบียนนักคัด-นักตัดทุเรียน


๒.    บังคับใช้กฎหมาย  สำหรับผู้ฝ่าฝืน ผู้ตัด ผู้ขายทุเรียนอ่อนอย่างจริงจัง ตรงนี้ภาคเอกชนและประชาสังคมเข้ามาช่วยดูแลกันเองด้วย


๓.    มาตรการควบคุมการระบาด  ป้องกันเชื้อและการปนเปื้อนที่สวนทุเรียน โดยเพิ่มเรื่องป้องกันโควิดเข้าไปด้วย เรียกว่ามาตรฐาน GAP+  จัดทำ Clip ให้ความรู้ แนะวิธีปฏิบัติ รวมทั้งการตรวจสอบแบบมีส่วนร่วมในระบบทางไกล ระหว่างชาวสวน ผู้ผลิต ผู้บรรจุและผู้ส่งออก


๔.    มาตรฐาน GMP+  สำหรับโรงคัดบรรจุ(ล้ง)  ฝึกอบรม QCอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน แต่เนื่องจากทุเรียนที่นี่ เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปประเทศจีน มีล้งจีน(นายทุน)เป็นผู้ดำเนินการหลัก เขาจึงช่วยควบคุมอย่างเข้มงวดและสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว 


๕.    แผนรองรับผลผลิตล้นตลาด  รวบรวมข้อมูลผลไม้หลัก คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำใย ลองกอง สละ กว่า ๑.๒หมื่นตัน ที่กระจายอยู่ตามสหกรณ์การเกษตรทั่วทั้งพื้นที่ นำเสนอแผน สนับสนุนตะกร้า(การบรรจุ)แก่สหกรณ์ต้นทาง สนับสนุนค่าขนส่งแก่สถาบันปลายทาง เชื่อมโยงระหว่างภาค ทำโรดโชว์ และสนับสนุนกองทุนพัฒนาสหกรณ์การเกษตร


๖.    เตรียมการส่งออก  ทดสอบสารทำลายไวรัสในกระบวนการคัดบรรจุ เจรจาประเทศคู่ค้า จีน ลาว เวียดนาม ทำการป้องกันเชื้อโควิดร่วมกัน เปิดด่านสากลแบบ ๒๔ ชั่วโมงแข่งกับเวลาของสด  เจรจากับจีนให้มีระบบ  Green Lane แก้ปัญหาความแออัดที่หน้าด่าน  ผลักดันระบบขนส่งโดยใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาว-หนองคาย 


มีข้อสังเกตบางประการว่า การเข้ามาดำเนินกิจการล้งของทุนจีน ด้านหนึ่งสะท้อนว่ายังมีความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนยังอีกมาก เขาจึงเข้ามายึดกิจการและร่วมควบคุมคุณภาพด้วย ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น ยังมีล้งทุเรียนอิสระ รายเล็กรายน้อยอีกเป็นจำนวนมาก ที่เป็นตัวแปรมิให้ล้งจีนเป็นผู้กำหนดราคาแต่ผู้เดียว เหมือนปัญหาล้งลำไย รวมทั้งการรวมตัวเป็นสมาคมทุเรียนแห่งประเทศไทย องค์กรแบบภาคประชาสังคม มีบทบาทสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรด้วย.

logoline