svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"โรงพยาบาลอู่ทอง ฐานพัฒนาเมืองสมุนไพร" โดยส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

05 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โรงพยาบาลอู่ทอง" เป็นโรงพยาบาลทางการแพทย์แผนไทยต้นแบบของประเทศที่มีการบริหารจัดการครอบคลุม 4 มิติ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ผลิตยาสมุนไพร ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

สุพรรณบุรีมีวิสัยทัศน์การพัฒนาปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ สู่การเป็นจังหวัดเกษตรกรรมยั่งยืน เศรษฐกิจเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตดี สังคมมีสุข โดยวางตำแหน่งการพัฒนาให้เป็นเมืองอาหารปลอดภัย เมืองประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เมืองสมุนไพร เมืองดนตรี และเมืองกีฬา


คณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศฯของวุฒิสภา ด้านยุทธศาสตร์ความสามารถในการแข่งขัน ได้ลงไปติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการ "เมืองสมุนไพร สุพรรณบุรี" ซึ่งเชื่อมโยงกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ประเด็นการสร้างเกษตรมูลค่าสูง และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔
จังหวัดมีแผนสนับสนุนการปลูกสมุนไพร นำมาสร้างรายได้ รักษาโรค รวมทั้งทำอาหาร แปรรูปเป็นยาสมุนไพร

 

โดยมีโรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐาน GMP ผลิตยาสมุนไพร สามารถรองรับวัตถุดิบสมุนไพรได้หลากหลายชนิด หรือนำมาสกัดทำเป็นน้ำหมักสำหรับฉีดพ่นขับไล่แมลง ป้องกัน กำจัดโรคพืช เป็นการลดการใช้สารเคมีและต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร

ขอบคุณภาพจากเพจ กลุ่มงาน "การแพทย์แผนไทย และ พฤกษาสปา" รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

โรงพยาบาลอู่ทอง เป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ ขนาด ๑๕๐ เตียง เป็นโรงพยาบาลระดับแม่ข่ายของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นโรงพยาบาลทางการแพทย์แผนไทยต้นแบบของประเทศที่มีการบริหารจัดการครอบคลุม ๔ มิติ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ผลิตยาสมุนไพร

 

ระหว่างปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ จังหวัดสุพรรณบุรีได้รับงบประมาณด้านพัฒนาสมุนไพร รวม ๖ โครงการ ๔ หน่วยงาน วงเงิน ๔๙.๙ ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาในระดับต้นทาง(แปลงปลูก ศูนย์สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยี ฐานข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ) กลางทาง(ศูนย์ผลิต แปรรูป พัฒนามาตรฐานและผลิตภัณฑ์) และปลายทาง(เชื่อมโยงการตลาด ผู้ประกอบการ การสื่อสาร ตลาดออนไลน์ ท่องเที่ยว สปา บริการสุขภาพ) โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด โรงพยาบาลอู่ทอง  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร(รายเดี่ยว) ๓๘๙ ราย พื้นที่ปลูก ๔๖๒ ไร่ ใน ๑๐ อำเภอ ปลูกพืชสมุนไพร ๔๐ ชนิด เช่น ข่า พริก ตะไคร้ มะกรูด มะขามป้อม กระชาย ฯลฯ ส่วนผู้ปลูกรายกลุ่ม มี ๓๑ กลุ่ม ๕๙๔ ราย พื้นที่ปลูก ๔๓๑ ไร่ ที่ได้รับมาตรฐาน GAP มีเพียงร้อยละ ๗  ที่ขายส่วนใหญ่เป็นตลาดท้องถิ่น(ร้อยละ ๔๙)และพ่อค้าคนกลาง(ร้อยละ ๓๒) ในรูปผลผลิตสด

 

ขอบคุณภาพจากเพจ กลุ่มงาน "การแพทย์แผนไทย และ พฤกษาสปา" รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

โรงพยาบาลอู่ทองเริ่มบุกเบิกพัฒนางานสมุนไพรมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓  ประเมินผ่าน GMPเป็นแห่งแรกในปี ๒๕๕๓  รับรางวัลโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบระดับเพชรในปี ๒๕๕๘ และรางวัลโรงผลิตยาสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ ประเภทโรงพยาบาล เมื่อปี ๒๕๖๒  โดยกำลังรอการประเมิน GMP WHO อีกในปีนี้


ที่นี่ เน้นการผลิตและใช้เป็นยา มากกว่าเครื่องสำอางและอาหารเสริม สามารถผลิตยาสมุนไพรได้ ๑๑๕ รายการ โดยบรรจุเข้าระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ ๖๔ รายการ  มีมูลค่าการกระจายยาสมุนไพรประมาณ ๑๓.๘-๑๔.๕ ล้านบาทต่อปี สามารถลดรายจ่ายของโรงพยาบาลได้ปีละ ๖ ล้านบาท

 
ยาสมุนไพรหลัก ๑๐ อันดับแรกของโรงพยาบาลอู่ทอง ได้แก่ ยาธาตุอบเชย ยาแก้ไอมะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร น้ำมันไพล ขมิ้นชัน กล้วยผง ไพลครีม วัดคำประมง ลูกประคบ และว่านพระฉิม ซึ่งว่านพระฉิมนี้ได้รับการชูเป็น Product Champion เพราะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ต้านเบาหวาน แก้บิด รักษาโรคกระเพาะ ขับพยาธิ์ ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวาร รักษาการอักเสบ สิว ฝ้า ไฝ และขับน้ำนมสตรี
สมุนไพรไทย เป็นภูมิปัญญาและทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนวัฒนธรรม

 

รวมถึงเป็นรากฐานเกษตรกรรมที่มีคุณค่าของประเทศ ทั้งนี้สมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและสังคมไทยมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการนําสมุนไพรมาประกอบในอาหารคาว หวาน เป็นยารักษาโรค ใช้ในการบําบัดดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อการเสริมความงาม ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้รับ การสั่งสม สืบทอด และพัฒนามาอย่างยาวนาน 

 

ขอบคุณภาพจากเพจ กลุ่มงาน "การแพทย์แผนไทย และ พฤกษาสปา" รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

เนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า 20,000 ชนิด สามารถนํามาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพมีมากกว่า 1,800 ชนิด รวมไปถึง ความพร้อมของปัจจัยขั้นพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม และการขนส่งสินค้า มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จํานวนมากที่ทํางานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสมุนไพร นับเป็นจุดแข็งและโอกาสในการแข่งขันด้านการค้าสมุนไพรในตลาดโลกที่สําคัญ 


ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะใช้ศักยภาพของกระทรวง สธ.และ อว. ทำวิจัยและพัฒนางานสมุนไพรทั้งระบบ ครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ทั้งด้านยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ขยายฐานต่อยอดจากโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพรไปสู่ผู้ประกอบการ SME มิติใหม่

 

รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนกันอย่างจริงจังตามแนวนโยบายประเทศไทย ๔.๐, Bio-Circular-Green Economy และแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

logoline