svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"ร.ป.ค.15  โรงเรียนยุวพลเมือง"โรงเรียนตัวอย่างขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา

13 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15) เป็นอีกตัวอย่าง ที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน จนสามารถสร้างพลเมืองรุ่นเยาว์ให้มีอาชีพ มีศักดิ์ศรีและมีงานทำ ลดความเหลื่อมล้ำและเอาชนะปัญหาความยากจนได้จริงในภาคสนาม  ติดตามได้เจาะประเด็น โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ยังคงมีภารกิจติดตามค้นหาและศึกษาโรงเรียนตัวอย่างที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน จนสามารถสร้าง"พลเมืองรุ่นเยาว์"ให้มีอาชีพ มีศักดิ์ศรีและมีงานทำ ลดความเหลื่อมล้ำและเอาชนะปัญหาความยากจนได้จริงในภาคสนาม 

 

ที่จังหวัดเชียงราย คณะกรรมาธิการมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา(Partnership School Project) กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด เนื่องด้วยมีโรงเรียนในเครือข่ายจำนวนมากถึง 56 แห่ง  มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (ร.ป.ค.15)เป็นแม่ข่าย บริหารงานโดย ดร.กัมพล ไชยนันท์ ผู้นำและผู้อำนวยการโรงเรียน 

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 - เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท

 

สิ่งที่สัมผัสได้ ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการศึกษาของจังหวัดอย่างแข็งขันและเป็นขบวนการ โดยเริ่มกันจากกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ฐานล่างและที่ชายขอบ

 

"โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15" ชื่อเดิมคือ เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท ก่อตั้งขึ้นโดยรองอำมาตย์เอก พระแสนสิทธิเขต เมื่อ พ.ศ. 2466  อายุใกล้ครบ 100 ปี 

 

ปัจจุบัน ร.ป.ค.15 จัดการศึกษาในรูปแบบสหศึกษา มีสถานะเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ประจำอำเภอ และเป็นตัวอย่างของโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 1 ใน 52 แห่งทั่วประเทศที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)

 

ยิ้มง่าย ไหว้สวย รวยน้ำใจ


อำเภอเชียงแสนเป็นเมืองชายแดนที่เต็มไปด้วยแหล่งอารยธรรมโบราณนับพันปี เป็นพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ อันประกอบด้วยอำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย

 

 

 

คำขวัญของโรงเรียนแสนจะเรียบง่าย คือ ยิ้มง่าย ไหว้สวย รวยน้ำใจ  โรงเรียน ร.ป.ค.15 ใช้ 3 ภาษาควบคู่กันไปในการเรียนการสอน คือ ไทย จีน และอังกฤษ  เด็กนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรกล่าวต้อนรับคณะของเรา สามารถใช้ภาษาจีนและอังกฤษด้วยสำเนียงของเจ้าของภาษา เป็นที่น่าประทับใจมาก

 

ขอบคุณภาพจาก เพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 - เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท
 

ร.ป.ค.15 เป็นโรงเรียนแบบผสม มีทั้งนักเรียนประจำและนักเรียนแบบไปกลับ  จำนวนนักเรียน 1,692 คน ครู 99 คน ครูอัตราจ้าง 9 คน ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการอีก 4 ตำแหน่ง  ที่นี่สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1-3 ประถมศึกษาปีที่ 1-6  มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 รวมทั้ง ปวช.1-3  


หลักการเด่นชัด บริหารไม่ติดกรอบ


พื้นที่หลักของโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองอำเภอเชียงแสน มีเนื้อที่ 11 ไร่เศษ ทางโรงเรียนได้ศึกษารูปแบบการบริหารสินทรัพย์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนำมาปรับประยุกต์ใช้บริหารจัดการกับที่ราชพัสดุซึ่งทางโรงเรียนดูแลและใช้ประโยชน์ โดยสร้างเป็นอาคารห้องแถวเชิงพาณิชย์ ด้านหนึ่งให้เช่าเพื่อเก็บเป็นรายได้สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนแบบพึ่งตนเอง อีกด้านหนึ่งใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักเรียนในด้านทักษะอาชีพ 


ต่อมาในปี 2558 เมื่อโรงเรียนบ้านกู่เต้า เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ เพราะไม่มีเด็กเรียน  โรงเรียน ร.ป.ค.15 ในฐานะโรงเรียนใหญ่ประจำอำเภอ จึงได้รับเอาโรงเรียนบ้านกู่เต้า พร้อมด้วยอาคารร้างและพื้นที่ว่างเปล่า 9 ไร่ เข้ามาควบรวม โดยจัดทำเป็นวิทยาเขตของโรงเรียน พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาศาสตร์พระราชา "โคก-เหมือง-นา โมเดล" ทั้งยังสามารถทำเป็นหอพักสำหรับนักเรียนประจำอีกด้วย

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 - เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท

 

จุดเริ่มการปฏิรูป


การปฏิรูปโรงเรียน ร.ป.ค.15 เริ่มต้นในปี 2553 จากการที่พบปัญหาเด็กจำนวนมาก ติด "ศูนย์"(คะแนนสอบไม่ผ่าน 50 เมื่อแก้ไขได้ก็จะผ่านแบบคาบเส้น) และ ติด "รอ" (ส่งงานไม่ครบ รอส่งงานให้ครบ จะได้ผ่านตามเกรดจริง)  ทั้งที่ขณะนั้นมีนักเรียนเพียงแค่ 700 คน 


ผู้อำนวยการในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ลงมือแก้ปัญหาด้วยการรื้อ "เกณฑ์ประเมิน" และใช้กระบวนการ "จัดค่าย" เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เด็กที่ผลประเมินติดขัด จนสามารถช่วยเด็กให้จบการศึกษาออกไปเป็นผู้ประกอบการและแรงงานมีฝีมือได้ทั้งหมด 

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 - เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท
 

เคล็ดลับการเปลี่ยนแปลง


ผอ.กัมพล  บอกเคล็ดไม่ลับ   "คือ การคิดให้หลุดออกจากกรอบ"  เป็นการหลุดจากระเบียบข้อบังคับที่หยุมหยิมจากส่วนกลางโดยไม่ให้เสียหลักการ  โรงเรียนต้องไม่มีข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลัง และต้องคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้ 100 % ป้องกันไม่ให้ครูไปติดกับดักอยู่ที่ห้องธุรการ โดยทิ้งงานสอน 


ที่นี่ เน้นความแตกต่างของผู้เรียน จึงไม่มีการสอบเข้าในทุกชั้นเรียน ไม่มีการออกไปแนะแนวเพื่อเชิญชวนเด็กให้มาเรียน ไม่มีการส่งเด็กประกวดแข่งขันทุกระดับ ไม่ยอมเสียเวลาของเด็กไปกับการแข่งประกวดเอารางวัลวิทยฐานะและชื่อเสียงให้กับโรงเรียน เน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่มีการสร้างห้องเรียนพิเศษ เลิกระบบโอเน็ทและเอ็นทร้านซ์

logoline