svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เปิดประเด็นทุจริตครั้งใหญ่ใน"สหกรณ์ออมทรัพย์"กระทรวงเกษตรฯ โดยขุนเกษตร

05 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฉาวอีกโกงกันอีกแล้ว จับตาตรวจสอบ"สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตร" หากตรวจสอบย้อนกลับไปหลายปีย่อมชัดเจนมากกว่านี้ ความเสียหายมีไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน เจาะประเด็น โดย ขุนเกษตร

 

เรามาดูทุนดำเนินงานในภาคสหกรณ์ปีนี้ 3.58 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของประเทศ และมีมูลค่าดำเนินธุรกิจสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาทมีผลกำไร 99,509.04 ล้านบาท มีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากมูลค่าธุรกิจของสหกรณ์กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ

 

ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่กรมฯจะต้องให้คำแนะนำและตรวจสอบบัญชี ทั้งสิ้น 12,054 แห่งแยกเป็นสหกรณ์จำนวน 7,781 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,273 ในปี 2565 กรมฯ มีเป้าหมายในการเข้าตรวจสอบบัญชีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร รวม 9,828 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ 6,331 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร 3,498 กลุ่ม

 

เมื่อ "ขุนเกษตร" ส่องกล้องมองสหกรณ์ ที่กลายเป็นข่าวโด่งดังในชั่วข้ามคืน ผ่าน 130 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหยกๆ สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงฯกลายเป็นข่าวในทันที

 

"ขุนเกษตร" มีข้อมูลที่น่าสนใจมาเสริฟข่าวร้อนๆ สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด ได้รับ การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2516

 

ปัจจุบันสหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 48 ปี มีสมาชิกทั้งสิ้น 4,210 คน มีทุนดำเนินงาน 2,454,586,601.52 บาท มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ จำนวน 10 คน

 

ย้ำๆอีกครั้ง 2,454 ล้าน


"ขุนเกษตร" มี ข้อมูลจากแหล่งข่าวในระดับสูงที่ชี้ชัด การทุจริตมีมานานแล้ว ไล่เลียงเป็นข้อๆได้ดังนี้ 


1.มีการร่วมมือกันระหว่างผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงิน (ผจก.) และผู้มีหน้าที่จ่ายเงิน ดังนั้นแม้ว่ารายการถอนเงินจะเป็นใบถอนที่ทำขึ้นเองก็จ่ายเงินออกไปได้


2. เลือกบัญชีที่ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เพื่อที่จะรู้ตัวช้า 

3. มูลค่าเสียหายมากเพราะทำมานาน

4. ปกติทุกสิ้นปีจะต้อง Confirm เงินฝากกับสมาชิก กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าผู้สอบบัญชีได้ทำหรือไม่


5. ผู้สอบบัญชี ใช้ผู้ชำนานงานของ กตส. ไม่ใช่ CPA 

 

กลไกในการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ มี 4 ระดับ

 

ระดับที่ 1. คณะกรรมการในฐานะผู้ว่าจ้างพนักงานให้มาทำงานมีหน้าที่ต้องกำกับการทำงานของพนักงาน ต้องตรวจสอบ กำกับ อย่างต่อเนื่องให้มั่นใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาด

 

ระดับที่ 2. ผู้ตรวจสอบกิจการในฐานะตัวแทนสมาชิก มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานทำหน้าที่ตามข้อบังคับ

 

ระดับที่ 3. ผู้สอบบัญชี ในฐานะคนภายนอกที่ต้องตรวจสอบตามมาตรฐานวิชาชีพ

 

ระดับที่ 4. สมาชิก ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ทำธุรกรรมกับสหกรณ์

ถ้า 4. ระดับนี้ไปไม่ได้ ก็เอาพนักงานไม่อยู่

 

ในส่วนของ กตส. ซึ่งรับผิดชอบระดับที่ 3 มีความผิดพลาดเรื่องใดบ้าง เท่าที่ดูตอนนี้ มุ่งไปที่ การเลือกบัญชีเงินฝากมา Confirm ว่าได้ทำอย่างมีมาตรฐานตามวิชาชีพหรือไม่ กับการประเมินความเสี่ยง

 

เรื่องนี้หากตรวจสอบย้อนกลับไปหลายปีย่อมชัดเจนมากกว่านี้ ความเสียหายมีไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน เนื่องจากผู้ทุจริตคุ้นเคยกับสมาชิกเป็นอย่างดี โดยเลือกบัญชีสมาชิกที่ไม่มีการเคลื่อนไหว

 

เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดไปมากกว่านั้น สำหรับ​รายที่เงินหายปี​ 58​ มีการปรับสมุดบัญชี​ทุกปี ​ครั้งสุดท้ายคือวันที่​ 22​ กพ. ไม่​พบข้อมูลว่าเงินหายจนได้ทำการตรวจสอบกับระบบ​พบยอดเงินหายไป​ 5 ล้านกว่า​บาท​ คงเหลือ​ 2 หมื่นกว่าบาทเนื่องจากว่า สมุดคู่ฝากอยู่ในมือ ผู้กระทำผิดจึงมีเวลามาตกแต่งบัญชี 

 

แหล่งข่าวระดับสูง  กล่าวว่า  เพราะ internal control มีจุดอ่อนอย่างมาก  คือ ผู้มีอำนาจอนุมัติกับผู้จ่ายเงินร่วมมือกันประกอบกับหลักฐานสำคัญที่ควรถูกเก็บแยก คือสมุดคู่ฝาก มาถูกเก็บรวมไว้ในที่เดียวกัน จึงง่ายต่อการทำการทุจริต

 

ปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่พิ่งเกิดขึ้น แต่มีกระจายไปในทั่วประเทศ แปลกที่ระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะล้มเหลวขนาดนี้

 

ใกล้ศูนย์บัญชาการแท้ๆยังทุจริต แล้วไกลปืนเที่ยงจะขนาดไหน ปัญหาเหล่านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแก้ปัญหาหรือวางระบบป้องกันอย่างไร

 

แก้ปัญหานะครับ ไม่ใช่สร้างปัญหาต่อเนื่อง 

รัฐมนตรีมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ที่กำกับดูแลกรมทั้งสองกรมจะทำอย่างไร 

อย่าให้สมาชิกสหกรณ์เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงเกษตรและโกงสหกรณ์

logoline