svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"คำพิพากษา"ที่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน  โดย "โคทม อารียา"

26 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในกรณีประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อเกาะติดคดีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา  (เกาะติดเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบ) จึงมีการให้ความสำคัญแก่การชันสูตร การสอบปากคำ และการจำลองสถานการณ์ ติดตามเจาะประเด็น โดย โคทม อารียา

 

ผมดูหนังเกาหลีกับเขาเหมือนกัน ก็เพื่อนแนะนำมา เรื่องหนึ่งชื่อว่า Partners for Justice (ดูเหมือนจะแปลเป็นไทยว่า คู่หูสืบจากศพ) และอีกเรื่องหนึ่งชื่อ Juvenile Justice

 

เรื่องแรกแสดงให้เห็นการสอบสวนคดีอาญาของเกาหลี ซึ่งมีหน่วยงานสำคัญสามหน่วยงานคือ 1) ตำรวจ 2) อัยการ 3) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในภาพยนตร์ พระเอกเป็นหมอที่ทำหน้าที่ชันสูตรศพ เขาทำงานอย่างละเอียดลออและสามารถไขปริศนาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ใช่เรื่องที่ "แต่งนิยาย" ขึ้นมาเอง (สำนวนของพระเอก) สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติทำงานเป็นเอกเทศจากตำรวจและอัยการ ซึ่งจะต้องรวมผลการชันสูตรพลิกศพไว้ในสำนวนฟ้องด้วย

 

ส่วนตำรวจมีหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัย ทำงานร่วมกับอัยการแต่อัยการเป็นฝ่ายควบคุมการสอบสวนหรือเป็นหัวหน้าตำรวจฝ่ายสอบสวนก็ว่าได้ นางเอกเป็นอัยการที่มีไหวพริบปฏิภาณในการไขคดีร่วมกับหมอชันสูตร ผู้ไม่ยอมมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ลงตัวในการสอบปากคำหรือในพยานหลักฐานต่าง ๆ ชื่อภาพยนตร์ Partners in Justice สื่อความหมายว่า เมื่อหมอชันสูตรและอัยการเป็นคู่หูที่ดี ก็จะสามารถไขคดียาก ๆ ให้ความจริงปรากฏและเกิดความยุติธรรมได้

 

ในกรณีประเทศไทย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อเกาะติดคดีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา  (เกาะติดเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบ) จึงมีการให้ความสำคัญแก่การชันสูตร การสอบปากคำ และการจำลองสถานการณ์ เพื่อทำให้ความจริงปรากฏแก่สาธารณะอย่างสุดข้อสงสัย นับเป็นพัฒนาการในทางที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

 

ภาพยนตร์เรื่องที่สองเป็นเรื่องของผู้พิพากษาหญิงในคดีที่เยาวชนก่ออาชญากรรม เรื่องมีอยู่ว่า เธอเสียใจมากที่ลูกชายเสียชีวิตเพราะมีเยาวชนสองคนเล่นกันและโยนก้อนหินลงมาจากตึก เธอจึงอยากมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเยาวชน เพื่อลดโศกนาฎกรรมเหตุด้วยเยาวชนลง

 

ทั้ง ๆที่เป็นงานหนักมาก เพราะศาลเยาวชนมีผู้พิพากษาเพียงยี่สิบกว่าคน คดีล้นมือและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีอัยการมาช่วยเตรียมคดี จึงต้องไต่สวนเอง และในบางกรณีต้องไปหาพยานหลักฐานเอง แถมยังมีหน้าที่ติดตามฟื้นฟู เยียวยาผู้ต้องคำพิพากษาด้วย จนมีคำกล่าวว่า "ผู้พิพากษาคดีเยาวชนมีเวลาในการพิพากษาคดีแต่ละคดีเพียง 3 นาที"

 

นางเอกที่เป็นผู้พิพากษาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า เธอเกลียดเยาวชนที่ก่ออาชญากรรม ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงพยายามไขปริศนาว่า ที่เธอทำงานหนักเพื่อค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ในแต่ละคดี เป็นเพราะแรงแค้น หรือทำไปเพื่อความยุติธรรมกันแน่

 

เธอถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยโดยศาลสูง เพื่อสอบว่าเธอตัดสินคดีอย่างเที่ยงธรรมหรือตามอารมณ์กันแน่ ในการสอบของคณะกรรมการฯ เธอยอมรับว่ามีความเกลียดชังจริง แต่ยืนยันว่าเมื่อขึ้นนั่งบัลลังก์ ได้พยายามตัดสินคดีไปตามพยานหลักฐานอย่างดีที่สุด และขอยืนยันตามคำตัดสินที่ได้พิพากษาไว้

 

อย่างไรก็ตาม เธอรู้ว่าต้องพยายามลดอารมณ์ที่ฝังลึกในใจลง มีฉากตอนท้าย ๆ ของเรื่องที่เธอไปเปิดกล่องดูสิ่งละอันพันละน้อยของลูกพร้อมทั้งร้องไห้ ในคดีสุดท้ายตามบทภาพยนตร์นี้ เธอมานั่งในห้องพิจารณาคดี ส่วนผู้ที่นั่งบนบัลลังก์คือหัวหน้าของเธอที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน และได้กันเธอออกไปเพราะเป็นคดีที่จะตัดสินแก๊งเยาวชนที่ไปรุมข่มขืนเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าแก๊งเยาวชนนี้คือคนที่ทำให้ลูกชายของเธอตายนั่นเอง

 

ฉากในคดีนี้คือจุดเปลี่ยน หัวหน้าที่เคยเชื่อและพูดเสมอว่าผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ต้องไม่มีอารมณ์ เปลี่ยนมารับรู้ว่าตนเองมีอารมณ์ได้เช่นกัน และกล่าวขอโทษถ้าได้ล่วงเกินใครเพราะความเชื่อเดิมของเธอ ส่วนนางเอกที่พ้นจากการสอบวินัยของคณะกรรมการฯมาก็บอกกับเพื่อนผู้พิพากษาคนหนึ่งว่า ความรู้สึกเมื่อนั่งบนบัลลังก์ (เมื่อมีอำนาจ) ไม่เหมือนกับเมื่อนั่งในห้องพิจารณาคดี (เมื่ออาจถูกอำนาจกดทับ) การมานั่งในห้องพิจารณาคดีช่วยให้เธอมีความเห็นอกเห็นใจผู้เกี่ยวข้องในคดีได้มากขึ้น (ถ้าผมจับใจความผิดไปก็ขออภัยด้วย เพราะเร่ง ๆ ดู)


ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ภาพยนตร์สองเรื่องที่กล่าวถึงจะเน้นว่า ถ้าการสืบสวนสอบสวนมีหลักฐานพยานพร้อม (และเป็นวิทยาศาสตร์) ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปที่ผู้พิพากษาจะยังความยุติธรรมและมีคำพิพากษาที่น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ส่วนในเรื่องบทบาทของศาลนั้น ขอกล่าวถึงหนังสือชื่อ "ศาลยุติ"ด้วย "ธรรม" ของ โสต สุตานันท์ ที่เป็นผู้พิพากษาและแสดงความคิดเห็นจาก "วงใน" ก็ว่าได้ โดยแสดงเจตนาว่าเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย "ความสำนึกในบุญคุณราษฎรที่เสียภาษีเลี้ยงดูข้าราชการเช่นผู้เขียนมาตลอดชีวิต ไม่ได้มีเจตนาร้ายคิดทำให้องค์กรเสียหายหรือมีอคติเกลียดชังชาติ แต่อยากให้ ศาลยุติธรรม เป็นที่พึ่งที่หวังของสังคมได้อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีสมกับเป็นเสาหลักหนึ่งในสามแห่งอำนาจอธิปไตย"


ในที่นี้ จะขออ้างอิงหนังสือของโสต เพียงสองประเด็นที่สืบเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องที่สอง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้พิพากษานั่นเอง ได้แก่ประเด็นคดีล้นศาล และอคติของผู้พิพากษา 


เป็นที่ทราบกันว่า ศาลของไทยมีคดีล้นมือเช่นกัน และในบางกรณีมีความล่าช้าและก่อผลเสียอย่างมากแก่จำเลยในคดีอาญา ตัวอย่างเช่น คดีของหฤษฎ์ มหาทน ที่ชีวิตพลิกเปลี่ยนฉับพลันในเดือนเมษายน 2559 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าควบคุมตัวเขาและแอดมินเพจ "เรารักพลเอกประยุทธ์" รวมจำนวน 8 คน ที่ทำเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ในจำนวนนี้มีสองคนที่โดนดำเนินคดีเพิ่มในมาตรา 112 และหฤษฎ์คือหนึ่งในนั้น เขาถูกส่งตัวขึ้นศาลทหารและถูกฝากขังอยู่ห้าผลัด คิดเป็นเวลาทั้งสิ้น 70 วัน

 

ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะได้ออกมาอีกไหม การจัดการต่าง ๆ ในเชิงธุรกิจก็ไม่แน่นอน "คนอื่นเขาจะมารอเราไม่ได้หรอก" พอได้ประกันตัวออกมาจะกลับไปทำงานเหมือนเดิม จะวางแผนธุรกิจ จะมีความสัมพันธ์ระยะยาว จะคิดถึงเรื่องการแต่งงาน ก็ไม่ได้เลย หฤษฎ์โดนจับเมื่อหกปีก่อน ไม่มีหมายนะ เขาแค่จับโดยบอกว่ามาตามคำสั่ง คสช. คดีอยู่ที่ศาลทหารสี่ปี จึงย้ายมาศาลพลเรือน ศาลพลเรือนนั้นปีเดียวก็จบ แต่เพราะโควิดเลยยืดเยื้อออกไป ล่วงเวลาผ่านมาหกปี ศาลอาญาเพิ่งมีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ให้แก่หฤษฎ์ เพราะหลักฐานเบาบาง (ดู https://www.the101.world/harit-mahaton-interview/) 
    

ในเรื่องคดีล้นศาล โสตมีความเห็นพอสรุปได้ว่า เป็นที่รู้กันดีว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือการปฏิเสธความยุติธรรม (Justice Delayed is Justice Denied) ซึ่งนอกจากจะทำให้คู่ความในคดีและผู้เกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย จึงควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วออกกฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในทุกประเภทคดี แต่ควรมีข้อยกเว้นไว้ว่า กรณีศาลอุทธรณ์ฎีกาเห็นว่าการวินิจปัญหาข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ให้มีอำนาจเรียกพยานไปสืบเองได้ตามที่เห็นสมควร และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด
    

การลดจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาลอาจทำได้โดยการกระจายอำนาจตุลาการ ให้ทุกชุมชนมีศูนย์จัดการความขัดแย้งโดยให้คนในชุมชนบริหารจัดการกันเองภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แล้วออกกฎกติกาในทำนองบังคับให้ข้อพิพาทบางประเภท เช่น ความผิดอาญาต่อส่วนตัวหรือความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่ร้ายแรงหรือมีโทษไม่สูงนัก ข้อพิพาทระหว่างบุคคลในครอบครัวหรือเครือญาติ ข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่มากหรือไม่มีประเด็นยุ่งยากซับซ้อน เป็นต้น ต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของชุมชนก่อน หากสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ก็ให้ข้อพิพาทยุติไปตามนั้น ต่อเมื่อตกลงกันไม่ได้จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล หากไม่มีหนังสือรับรองการผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย ศาลไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณา 

 

กรณีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดควรส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนใช้มาตรการทางสังคมเป็นเครื่องมือจัดการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอันสมควร เช่น ไม่ให้กู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน ตัดสิทธิสวัสดิการจากรัฐบางประการ ไม่ให้ใช้หรือยืมทรัพย์สินส่วนกลางของชุมชน ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทำงานชดใช้ความผิด เป็นต้น และควรให้โอกาสชุมชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

กรณีคดีร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ส่วนใหญ่แทบทุกคดี ผู้ร้องจะอ้างเหตุผลถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกว่า ไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับโอนทรัพย์มรดกแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งไม่น่าจะถือเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันมรดก เพราะตามระเบียบกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

เช่น กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก หรือธนาคาร จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำการไต่สวนตรวจสอบก่อน หากไม่มีผู้คัดค้านหรือมีเหตุขัดข้องใดตามที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้ จะปฏิเสธหรือบอกปัดให้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกทุกกรณีไม่ได้ คดีจัดการมรดกที่ยื่นคำร้องขอต่อศาลส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดทายาททุกคนไม่ขัดข้องหากศาลจะแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ในภาพรวมน่าจะมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการโต้แย้งคัดค้านกัน บางคดีทายาทผู้ตายมีเพียงคนเดียว ทรัพย์สินก็มีราคาเพียงเล็กน้อย เช่น ที่ดินไร่กว่า รถคันเดียว เงินฝากธนาคารไม่ถึงหมื่น ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก 

 

กรณีคดีเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งที่ผ่านมาทำให้รัฐต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีจำนวนมากและเมื่อศาลพิพากษาไปแล้ว ก็มีอุปสรรคปัญหาและเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายในการบังคับชำระหนี้ จึงควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล กยศ. ประสานงานร่วมมือกับเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อติดตามบังคับชำระหนี้เอากับผู้กู้ยืมที่ผิดสัญญาได้เลย โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาก่อน ทำนองเดียวกันกับการให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรในการติดตามเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร 
    

ในเรื่องอคติที่ผู้พิพากษาอาจจะมีนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มองไม่เห็น โสตเสนอว่าผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ปราศจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ 

1) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความรัก ความเลื่อมใสศรัทธา 

2) โทสาคติ ลำเอียงเพราะความไม่ชอบ ความเคียดแค้น ชิงชัง 

3) โมหาคติ ลำเอียงเพราะความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

4) ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัวหรือหวั่นเกรงภัยอันตราย 
    

ตามทฤษฎี การลงโทษทางอาญามีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ 1) เพื่อแก้แค้นทดแทนให้ชุมชนและผู้เสียหาย 2) เพื่อข่มขู่ผู้กระทำผิดและคนอื่น ๆ มิให้กระทำการฝ่าฝืนอย่างเดียวกันนั้นอีก 3) เพื่อให้สังคมปลอดภัยโดยการตัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคม และ4) เพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นคนดี ซึ่งหากมีการตัดสินคดีโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไตร่ตรองว่ามีฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ หรือพยาคติเข้าครอบงำหรือไม่ พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองหรือกระแสสังคมเข้าไปปะปนกับเนื้อหาแห่งคดีมากเกินไป

 

คำตัดสินนั้นจะมีความบริสุทธิ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ผู้พิพากษาจึงน่าจะขวนขวายฝึกการภาวนาเพื่อการเจริญสติ การตระหนักรู้ และการรู้จักเอาใจเขามาสู่ใจเรา

 

เพื่อนคนหนึ่งส่งความเห็นที่ 11 (2008) ของสภาที่ปรึกษาของผู้พิพากษาแห่งยุโรป (CCJE) เรื่องคุณภาพของคำพิพากษามาให้อ่าน สภาฯมีข้อเสนอแนะในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของคำพิพากษาจำนวน 25 ข้อ แต่จะขอยกเพียง 8 ข้อมาเสนอ ดังนี้ 

 

1)    จัดสรรให้แต่ละองคาพยพของระบบยุติธรรมมีทรัพยากร คน เงิน และวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอ

2)    จัดการศึกษานิติศาสตร์ และการอบรมผู้พิพากษาและบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ทั้งในและนอกเรื่องกฎหมาย อย่างมีคุณภาพ

3)    ควรส่งเสริมให้มีโมเดลมาตรฐานของการปฏิบัติที่ดี (good practices) ในการพิจารณาคดี และให้มีการประชุมปรึกษาหารือกันในหมู่ผู้พิพากษาเป็นประจำ

4)    การพิจารณาคดีตามกฎระเบียบ การประยุกต์หลักการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง และการประเมินภูมิหลังข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาพบังคับใช้ของคำตัดสิน มีส่วนช่วยให้คำตัดสินมีคุณภาพ

5)    คำตัดสินต้องมีการแสดงเหตุผลประกอบ เหตุผลทางกฎหมายต้องมีความแน่นอนและคงเส้นคงวา ถ้าจะมีคำตัดสินที่ต่างไปจากคำตัดสินก่อนหน้านั้น ให้ระบุไว้อย่างชัดเจน

6)    กรณีมีความเห็นต่างในองค์คณะ ต้องให้เหตุผลที่ชัดเจน บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และพิมพ์เผยแพร่

7)    คำสั่งใด ๆ โดยหรือตามคำตัดสินจะต้องเขียนด้วยภาษาที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ เพื่อให้สามารถมีผลทันที หรือให้บังคับได้เลยในกรณีที่สั่งให้ทำหรือไม่ให้ทำหรือให้จ่ายบางสิ่งบางอย่าง

8)    ควรมีการประเมินผลคุณภาพคำพิพากษาด้วยระเบียบวิธีเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ แต่ต้องไม่เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระทั้งระดับบุคคลและโดยองค์รวมของกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งไม่เป็นเครื่องมือของทางราชการ (ดู https://rm.coe.int/16807482bf)

 

โสต สุตานันท์ มีเจตนาจะให้ ศาลยุติธรรม เป็นที่พึ่งที่หวังของสังคม โดยเฉพาะในเรื่องคำพิพากษาที่มีคุณภาพ เพราะคำพิพากษาที่ด้อยคุณภาพจะลดความเชื่อถือของประชาชน ดังนั้น ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกัน โดยเฉพาะนักการเมืองผู้จะเข้ามาบริหารประเทศและออกกฎหมาย คงต้องช่วยมากหน่อยเป็นธรรมดา การเลือกตั้งใกล้เข้ามา จะมีพรรคการเมืองใดไหมที่ยินดีทำการบ้านในเรื่องนี้ และทำเป็นนโยบายรูปธรรมมาเสนอแก่ประชาชน 

logoline