svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปรากฏการณ์ 'มินิ วปอ.' การส่งต่อระบบอุปถัมภ์ ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ

06 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

'อุ๊งอิ๊งค์—แพทองธาร ชินวัตร' เพิ่งมีชื่อเป็นหนึ่งในนักเรียนตามหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่มีชื่อเล่นว่า ‘มินิ วปอ.’ หลักสูตรที่เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสืบทอดระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย

ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองไทยถือว่าเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าประเทศไทยมีระบบที่ว่านี้จริงๆ เพียงระบบอุปถัมภ์ของสยามเมืองยิ้ม นับวันยิ่งจะใหญ่โตมากขึ้น จนกลายเป็นจารีตและวัฒนธรรมหลักไปเสียแล้ว

ครั้งหนึ่งเคยได้มีโอกาสอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเว็บไซต์ประชาไท เรื่อง ‘ระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย’ โดยอาจารย์นิธิแสดงความคิดเห็นไว้น่าสนใจว่า  "ในสังคมไทยและในบางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ถูกพัฒนาขึ้นเป็นระบบที่ใหญ่กว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เพราะเป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย ที่สุดยอดของระบบอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจำนวนน้อย แต่เชื่อมโยงในเชิงอุปถัมภ์ลงไปสู่กลุ่มบุคคลกว้างขึ้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่กว้างขึ้นนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ลงมาในท้องถิ่น รวมผู้คนอีกจำนวนมากไว้ในเครือข่ายเดียวกัน"

“ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง ไม่ใช่ซากตกค้างจากอดีต แต่เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของการเมืองและสังคมตลอดมา ถ้าไม่อยากให้การเมืองถูกเจือปนด้วย ‘ระบบอุปถัมภ์’ ก็ต้องทำให้การกระจายทรัพยากรของรัฐ (อันประกอบด้วยการอนุญาต, การห้าม และการให้) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, ตรวจสอบได้ และมีช่องทางในระบบให้ทุกฝ่ายสามารถเจรจาต่อรองได้อย่างเปิดเผย ถูกพิจารณาจากสังคมโดยรวมผ่านการอภิปรายที่เป็นสาธารณะต่างๆ"
นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้ามองจากข้อคิดของอาจารย์บางส่วนข้างต้น ก็พอทำให้มองเห็นว่าระบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทยมีความสลับซับซ้อน และแถมยังมีการปรับตัวอยู่ตลอด ซึ่งเอาเข้าจริงสภาพสังคมไทยปัจจุบันก็เป็นอย่างที่อาจารย์นิธิเคยว่าไว้จริงๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปรับตัวของระบบอุปถัมภ์

โดยการปรับตัวที่ว่านั้นได้มาในรูปของสารพัดหลักสูตรการฝึกอบรมที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขึ้นมา ซึ่งถ้าสถาบันที่ได้จัดหลักสูตรทำนองนี้จนได้รับกล่าวขานในสังคมคงหนีไม่พ้น 'สถาบันพระปกเกล้า' และ 'วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร'

มองลงไปที่สถาบันพระปกเกล้า ในเชิงหลักการแล้วถือว่ามีภารกิจหน้าที่สนับสนุนงานวิชาการให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การค้นคว้าเชิงลึกเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย รวมไปถึงการจัดอบรมหลักสูตรให้กับ ส.ส. และผู้ช่วยส.ส. ให้มีความรู้เข้าใจในงานนิติบัญญัติ ซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

แต่ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติบางหลักสูตรก็ถูกเพ่งเล็งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง หรือ ปปร. เนื่องจากมีการเปิดโอกาสให้บุคคลในภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคราชการ และภาคกระบวนการยุติธรรมมาเจอกัน 
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้บุคคลได้มีโอกาสโคจรมาเจอกันแบบนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น เพราะแม้แต่สำนักงานศาลยุติธรรมเอง ก็มีหลักสูตรในทำนองนี้เช่นเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง 

ส่วน ‘วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร’ แน่นอนว่าอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นแหล่งรวมตัวท็อปจากทุกแวดวงเช่นกัน โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นไปที่เรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านความมั่นคง และบทบาทของกองทัพ ซึ่งส่วนหนึ่งของคนที่อยากเข้ามาอบรมหลักสูตรของ วปอ.ก็คงหนีไม่พ้นการอยากได้ ‘คนมีสี’ เป็นเพื่อน แต่จะแนบแน่นกันแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล

หลักสูตรเหล่านี้ถูกวิจารณ์ในเชิงหลักการถึงความเหมาะสมมาอย่างช้านาน แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่เคยมีใครกล้าลงมืออย่างจริงจัง แม้แต่ในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ยุคสมัยของ คสช. ซึ่งมีอุดมการณ์ยึดถือเรื่องความสุจริตและศีลธรรมคุณงามความดี น่าจะเป็นองค์กรเดียวที่แสดงท่าทีถึงการพยายามจะหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ โดยขณะนั้นรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559  เรื่อง การพัฒนาบุคลากรในภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ข้าราชการตามส่วนราชการเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรต่างๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสคนอื่นที่มีความจำเป็นและมีความเหมาะสมมากกว่า

ไม่เพียงเท่านี้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่ง คสช.ตั้งมากับมือ ก็เคยเสนอเจาะจงไปว่าควรพิจารณาทบทวนบทบาทของสถาบันพระปกเกล้าในการเปิดหลักสูตรอบรม เนื่องจากการศึกษาพบว่ากระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมมีลักษณะของการ ‘ฝาก’ เข้ามา 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การแก้ไขในเชิงรูปธรรมก็ไม่เกิดขึ้น โดยจะมีกรณีใกล้เคียงกับการได้ชื่อว่ามีการแก้ไขมากที่สุด คือ การกำหนดไว้ในหลักการของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระในทำนองว่ากรรมการองค์อิสระจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตร หรือโครงการที่องค์กรอิสระนั้นมีมติให้จัดขึ้นโดยเฉพาะสําหรับกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดพอสมควร และหลังจากสิ้นสุดอำนาจของ คสช. ก็ไม่เคยเห็นผู้มีอำนาจคนไหนพูดถึงเรื่องนี้อีกเลย ด้านหนึ่งหากพูดไปก็เหมือนเป็นการตำหนิคนของตัวเองที่เข้าไปสมัครเรียนตามหลักสูตรเหล่านี้

แพทองธาร ชินวัตร

ดังนั้น ในกรณีที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ มีชื่อเป็นนักเรียนในหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่มีชื่อเล่นว่า ‘มินิ วปอ.’ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่แกะกล่องของ วปอ. และมีเพื่อนร่วมรุ่นรวมกันมากถึง 150 คน จึงถือเป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดมาจากการปรับตัวของระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทย เพราะต่างฝายต่างอยู่ในสภาพน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โดยทหารและใครต่อใครในรุ่นก็อยากมีว่าที่นายกฯ เป็นเพื่อน ส่วนว่าที่นายกฯ คนต่อไปก็อยากรู้จักคนมีสีมากขึ้น เพราะครอบครัวก็เคยได้รับบทเรียนจากทหารผ่านการรัฐประหารมาแล้วถึงสองครั้ง

ด้วยระบบที่ฝังรากลึกทำให้คนรุ่นใหม่ต้องมีวัตรปฏิบัติเช่นนี้ และคงจะแก้ไขได้ยาก เพราะจากปรากฎการณ์ ‘มินิ วปอ.’ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าระบบอุปถัมภ์ได้มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นทางการ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะได้ให้เห็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คงไกลออกจากความเป็นจริงมากขึ้นไปทุกที
 

logoline