svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อนุสาวรีย์คณะราษฎร มรดกจากวันเก่าที่ผู้คนเริ่มหลงลืมความหมาย

09 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นประเด็นร้อน กับการมีคนนำสีสเปรย์ไปขีดเขียนจนเกิดข้อถกเถียงในสังคม กลายเป็นความไม่เหมาะสมที่เกิดจากน้ำมือผู้ชุมนุมต่อมรดกชิ้นสำคัญของคณะราษฎร

ข้อโต้แย้งที่ไม่ใชเรื่องแปลก อนุสาวรีย์เหล่านั้นล้วนเป็นหลักฐานสำคัญต่อประศาสตร์การเมืองไทย บางชิ้นมีประวัติและเรื่องเล่า บ้างก็มีทั้งรายชื่อและอัฐิของผู้เสียชีวิตภายในเหตุการณ์ ทางที่ถูกต้องแท้จริงควรเป็นการดูแลรักษามรดกที่ตกทอดเหล่านั้นไว้อย่างดี อย่างน้อยก็ควรรักษาสิ่งที่ยังเหลือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชนรุ่นหลัง

 

ส่วนนี่คือรายชื่ออนุสาวรีย์ในสมัยคณะราษฎรที่น่าจะเป็นที่รู้จักหรือผ่านตากันมาบ้าง

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

หนึ่งในอนุสาวรีย์สำคัญสร้างขึ้นเพื่อสดุดีความกล้าของนายทหารที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน เมื่อครั้งไทยมีข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในพ.ศ. 2483 จากกรณีความขัดแย้งทางด้านเขตการปกครอง นำไปสู่การทิ้งระเบิดใส่นครพนมในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 กลายเป็นสงครามที่ไทยกำลังทหารเข้าปะทะกับฝรั่งเศส ก่อนมายุติด้วยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นที่ขยายอำนาจเข้ามาในพื้นที่

 

สงครามอินโดจีนมีผู้เสียชีวิต 59 คน ภายหลังเมื่อได้รับชัยชนะมีการสร้างอนุสรณ์รำลึก เชิดชูเกียรติยศของบรรดาผู้สละชีวิตเพื่อประเทศชาติ เป็นอนุสรณ์แด่ชนรุ่นหลังให้ระลึกถึงวีรกรรมของคนที่จากไป อนุสาวรีย์จึงมีการตั้งรูปปั้นนักรบทั้ง 5 อันได้แก่ ทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ และพลเรือน ฐานทางด้านหลังประกอบด้วยรายชื่อของผู้เสียชีวิต จากสงครามในช่วง 2483 – 2497 รวมถึงเป็นที่บรรจุอัฐิของทหารกล้าผู้รับใช้ชาติจนเสียชีวิตในสงคราม ทั้งในเหตุการณ์สงครามอินโดจีน, เกาหลี, เวียดนาม ฯลฯ อีกด้วย

 

ปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังคงอยู่กึ่งกลางของถนนพหลโยธิน ถนนราวิถี และถนนพญาไท  เป็นต้นทางของถนนสายสำคัญและศูนย์กลางคมนาคมแห่งสำคัญของกรุงเทพฯ 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อีกหนึ่งอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเคียงคู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในยุคจอมพล ป. พิลบูลสงคราม จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของคณะราษฎร ที่ครั้งหนึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศ ทำให้ไทยได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกขึ้นมาได้สำเร็จ ถือเป็นอีกอนุสาวรีย์ที่ทรงคุณค่าทั้งในเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์

 

ปัจจุบันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่ตรงวงเวียน ระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ และเป็นสถานที่หมุดหมายสำคัญและจุดนัดพบที่ใช้แสดงออกทางการเมืองเรื่อยมา

 

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ(อนุสาวรีย์ปราบกบฏ)

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงความขัดแย้งทางการเมืองจากกบฏบวรเดช จัดสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต 17 คน ต้องสละชีวิตจากความขัดแย้งภายในประเทศ จากความพยายามของพระองค์เจ้าบวรเดชต้องการล้มล้างรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาจัดตั้งคณะกู้บ้านกู้เมือง ก่อนถูกปราบปรามและเป็นที่มาของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งนี้ในที่สุด

 

เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้จากไปในการสู้รบ ภายในอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงบรรจุอัฐิของทหารและตำรวจทั้ง 17 คนที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับกบฏบวรเดช นี่คืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเชิดชูสามัญชนโดยเฉพาะ จนถูกเชื่อมโยงทางการเมืองหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์คนเสื้อแดง และล่าสุดที่เคยเกิดประเด็นภายหลังรัฐประหารพ.ศ. 2557 ไม่นาน

 

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันอนุสาวรีย์แห่งนี้ก็หายสาบสูญไปโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยหายไปตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เคยมีการอธิบายไว้ว่าขนย้ายออกเพราะบริเวณนั้นกำลังสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า แต่จนปัจจุบันเราก็ยังไม่รู้ว่าอนุสาวรีย์นี้หายไปอยู่ไหน

อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม

อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา

อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม – อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา

สองอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญหนึ่งในแกนกลางของคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คนแรกคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในสมาชิกที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของคณะราษฎร การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานรวมกัน 15 ปี ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองของไทย และเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

อนุสาวรีย์ของจอมพลป.อยู่ที่หน้าสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ บก.สปท. ถนนวิภาวดี-รังสิต ส่วนอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา อยู่ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน

 

และนี่คืออีกสองอนุสาวรีย์ที่ปัจจุบันหายสาบสูญ นับแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 อนุสาวรีย์ทั้งสองถูกเคลื่อนย้ายออกไปและไม่ทราบว่าถูกนำไปไว้ที่ใด ตามรอยอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า เช่นเดียวกับค่ายพหลโยธินที่เปลี่ยนชื่อเป็นค่ายภูมิพลหลังจากนั้น

 

แน่นอนเราไม่อาจรู้ได้ว่าอนุสาวรีย์รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นหายไปไหน อาจเป็นการทำงานที่ผิดพลาดของภาครัฐ การไม่ประสานงาน หรือความขัดข้องบางประการ แต่มันก็สำคัญที่เราต้องอนุรักษ์สิ่งที่เหลือไว้ เพื่อให้ชนรุ่นหลังมีโอกาสเรียนรู้และจดจำเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ให้ผิดพลาดซ้ำรอยเดิมเหมือนในวันเก่า

logoline