svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

09 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง "แยกคอกวัว" อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ความรุนแรงการเมืองไทย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำ

10 เมษายน วันนี้หากย้อนไปเมื่อปี 2553 ผู้คนจำนวนไม่น้อย คงยังจำได้ถึงเหตุความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ "กรณีการสลายการชุมนุมทางการเมือง ที่นำไปสู่การใช้กระสุนจริง จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐและร่วมผู้ชุมนุมจำนวนมาก" 

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์ครั้งนี้ มาจากการชุมนุมประท้วงของ "คนเสื้อแดง" หรือ "แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553 หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเดือนธันวาคม 2551 จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคแกนนำรัฐบาลในขณะนั้น จนเกมการเมืองเปลี่ยนขั้วไปยังพรรคประชาธิปัตย์ 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ ยุบสภา ซึ่งในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในครั้งนั้น รัฐบาลได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือ “ศอฉ.” ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ ทำหน้าที่คอยควบคุมสถานการณ์ ร่วมกับกองทัพและตำรวจ 

หลังการชุมนุมผ่านไป 1 เดือน สถานการณ์การชุมนุม เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดง มีการกระจายสถานที่ชุมนุมเวทีหลัก ทั้งที่ราชประสงค์ และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ รวมถึงยังมีการดาวกระจายไปบุกยึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ  
เวทีคนเสื้อแดงที่ที่ราชประสงค์
 

จุดเริ่มต้นความรุนแรง

ความรุนแรงของการชุมนุมเริ่มมีมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 คนเสื้อแดงได้เดินทางไปปิดล้อม สถานีภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคม ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ภายหลังจากทหารยึดสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อปิดกั้นการ "ถ่ายทอดสด" สถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลของ กลุ่มคนเสื้อแดง

ทำให้ นายอภิสิทธิ์ ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยมี ศอฉ. รับผิดชอบดำเนินการ โดยการชุมนุมที่ลาดหลุมแก้ว ม็อบคนเสื้่อแดงสามารถยึดคืนสถานีดาวเทียมได้ ทำให้สถานีโทรทัศน์ของคนเสื้อแดงกลับมาแพร่ภาพได้ตามปกติ 

ชัยชนะดังกล่าวของผู้ชุมนุม ทำให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ประกาศ "ยกระดับ" การต่อสู้อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน 2553 ท่ามกลางข่าวลือว่า ทหารก็เตรียมปฏิบัติการสลายการชุมนุม โดยใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
คนเสื้อแดงบุกสถานีดาวเทียมไทยคม
 

กระสุนจริงนัดแรกถูกยิงขึ้น

ช่วงเช้าวันที่ 10 เมษายน 2553 กำลังทหารได้ตั้งแนวล้อมเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ของกลุ่ม นปช. รวมถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอก และรอบ ๆ พื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง จากนั้นความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้นในบ่าย เมื่อ นายขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำ นปช. ได้นำมวลชนรวมตัวหน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก หลังมีข่าวว่า ทหารเตรียมสลายการชุมนุม จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ 

มีการใช้รถฉีดน้ำ กระสุนยาง และยิงแก๊สน้ำตา ตลอดบริเวณถนนราชดำเนินนอก ขณะเดียวกัน แกนนำมีการประกาศระดมมวลชนมาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่า หากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก สุดท้ายทหารจะยกเลิกความพยายามในการสลายการชุมนุม 
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

กระทั่งเวลา 15.30 น. มีการพบร่าง นายเกรียงไกร คำน้อย คนขับตุ๊กตุ๊ก วัย 23 ปี ถูกยิงโดยกระสุนปืนเอ็ม 16 ได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ ไม่ไกลจากกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (ภายหลังมีการไต่สวนพบว่า “เป็นกระสุนเอ็ม 16 มาจากฝั่งทหาร”)

หลังจากทหารเริ่มใช้อาวุธจริงต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น แกนนำได้ให้มวลชนกลับไปยังฐานที่มั่น บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ตลอดจนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีมวลชนจำนวนมากรักษาพื้นที่ ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีเฮลิคอปเตอร์บินวนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ยุติการชุมนุม เนื่องจากแกนนำ นปช. ทุกคนในเวลานั้นมีหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

ช่วงค่ำความรุนแรงทวีมากขึ้น  โดยเวลา 17.00 น. เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตา ลงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายคือ มนต์ชัย แซ่จอง ในเวลาเดียวกัน มีความพยายามนำรถหุ้มเกราะ และยานพาหนะทหารจำนวนมาก เข้ามาปิดล้อมผู้ชุมนุม ผ่านถนนตะนาวและถนนดินสอ พร้อมกับมีการยิงปืนขึ้นฟ้าขู่เป็นระยะ 

กระทั่งเวลามืด ได้มีกระสุนเอ็ม 79 ถูกยิงลงใส่บริเวณกองบัญชาการของทหาร ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนสตรีวิทยา ทำให้ พันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี เสียชีวิต พร้อมกับทหารอีก 4 นาย ส่วนทหารบริเวณนั้น บาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดจำนวนมาก
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

ในเวลา 20.00 น. ได้ปรากฏ "ชายชุดดำ" พร้อมอาวุธหนักปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ยิงต่อสู้กับทหาร ทำให้ทหารเริ่มใช้อาวุธปืน ไล่ล่ากลุ่มชายชุดดำ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ชุมนุมหลายคนถูกกระสุนปืนเสียชีวิต
ชายชุดดำปริศนาที่ปรากฏตัวในการสลายการชุมนุม

ความสูญเสียที่มหาศาล

รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือ ศปช. (ตีพิมพ์เมื่อปี 2555) ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย โดยหนึ่งในพลเรือนที่เสียชีวิต เป็น สื่อมวลชนญี่ปุ่น คือ ฮิโรยูกิ มุราโมโต
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"
 ฮิโรยูกิ มุราโมโต สื่อมวลชนญี่ปุ่นที่เสียชีวิต

หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่องไปอีก และการสลายการชุมนุมมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค. ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะแยกราชประสงค์ รวมแล้วมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 ราย เมื่อรวมความสูญเสียระหว่าง 10 เมษายน และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งสองเหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่” มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

ในภายหลัง มีการรายงานว่า ปกรายงานที่ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 ระบุข้อมูลว่า

• 3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
• 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
• 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
• 3,000,000,000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
• 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด
• 1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
• 94 คือจำนวนคนเสียชีวิต
• 88 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย
• 6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง
• 10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)
• 2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)
• 6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต
• 32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ
• 12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

สำหรับเหตุความรุนแรงทางการเมือง เมื่อปี 2553 แม้จะผ่านไป 14 ปี ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจลืมเลือนเหตุการณ์  รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ  ไปแล้ว แต่ในทุกปี ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝั่งผู้ชุมนุม จะมีการจัดกิจกรรมรำลึก เช่นเดียวกับเหตุความรุนแรงทางการเมืองในอดีตครั้งอื่น ๆ รวมถึงปัจจุบัน มีการพูดถึงวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” จากบรรดานักการเมืองหรือคนการเมืองบ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าในอดีต

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือเป็นบทเรียนต่อสังคมไทย ที่หลายฝ่ายหวังว่า ความสูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต เพราะที่สุดแล้วไม่เพียงแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะได้รับความสูญเสีย แต่ประเทศไทยรวมถึงคนไทยทุกคน ที่อยู่ภายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็จะบอบช้ำไปด้วยกัน
10 เมษายน ครบรอบ 14 ปี เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมรภูมิ "แยกคอกวัว"

ขอบคุณภาพและข้อมูล : วิกิพีเดีย
https://themomentum.co/feature-10apr-behind-photo/

https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304
Silpawattanatham - ศิลปวัฒนธรรม 
 

logoline