svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) คณาจารย์แห่หนุนกรรมการสภามหาลัยโชว์ขุมทรัพย์

15 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

(ชมคลิปเต็มด้านล่าง) มติ ป.ป.ช.ทำให้คณาจารย์บางส่วนได้เฮ เพราะเคลื่อนไหวสนับสนุนให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินมาตลอด และแม้ ป.ป.ช.จะมีมติเด็ดขาดไปแล้ว แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนสนับสนุน ป.ป.ช.อย่างต่อเนื่อง

อาจารย์จิตเจริญ ศรขวัญ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือ ทป.มรภ.จำนวน 38 แห่งทั่วประเทศ ไปยื่นหนังสือสนับสนุน ป.ป.ช. นอกจากนั้น ยังมีมติที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุน ป.ป.ช.ด้วย

ล่าสุดวันนี้ ผศ.วิริยะ ศิริชานนท์ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท.ได้เข้ายื่นหนังสือเป็นกำลังใจให้ ป.ป.ช. ด้วยเช่นกัน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ป.ป.ช.ออกประกาศให้ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารทุกระดับในมหาวิทยาลัยที่แต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัย ได้แก่ รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการวิทยาลัย หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ด้วย
แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะยังมีกระแสเรียกร้องจากฝั่งที่คัดค้านให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ถึงขนาดที่ รมช.ศึกษาฯ คุณหมออุดม คชินทร บอกว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจลาออก เพราะเรื่องนี้ยังน่าจะมีทางออก รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาให้อย่างเต็มกำลัง

เหตุผลของฝ่ายนี้สอดคล้องกันหมด ทั้งจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. รวมทั้งรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม สรุปก็คือ เป็นการเพิ่มภาระโดยไม่จำเป็น จุดจิกยุ่งยาก ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากภาคเอกชน ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ทำให้กลัวยื่นผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะกลายเป็นเรื่องขึ้นมา รวมทั้งตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และในทางปฏิบัติไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัย
ขณะที่ทางฝ่ายสนับสนุนให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็มองว่าไม่เป็นการเพิ่มภาระ ไม่จุกจิก ยุ่งยาก เพราะ ป.ป.ช.มีเวลาให้เตรียมตัว สภามหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จัดกิจกรรมซ้อมยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว หากมีกรรมการคนใดลาออก ก็ตั้งใหม่ได้ มีคนใหม่ๆ พร้อมทำงาน ที่สำคัญกฎหมายเขียนเอาไว้ชัดว่าสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ
อย่างใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ มาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศต้องใช้ร่วมกัน ระบุอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเอาไว้ถึง 17 ข้อ ทั้งแต่งตั้งถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี และตำแหน่งอื่นๆ อนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ออกระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารการเงิน การจัดหารายได้และผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
 

logoline