svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ครอบครัวไทย 32% ใช้ความรุนแรง ภาคใต้หนักสุด

16 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องรณรงค์กันไม่แพ้กิจกรรมวิ่งการกุศลหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาลของคุณตูน / ก็คือเรื่องการลดความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง เนื่องจากวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ขณะที่บ้านเราก็มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เดือนพฤศจิกายนตลอดทั้งเดือน เป็นเดือน "รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมควรให้ความสนใจ เพราะยังมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวปรากฏเป็นข่าวและเป็นคดีดังๆ อย่างต่อเนื่อง

หากเราพิจารณาในแง่สถิติความรุนแรง จะพบว่าไม่ได้ลดลงเลย และยังอยู่ในระดับน่าวิตก ตัวเลขสถิติเรื่องนี้มาจาก "ศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี" ซึ่งทำสำรวจร่วมกับ "สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ" หรือ สสส. หัวข้อที่สำรวจคือ "ความชุก ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวในระดับประเทศ" โดยสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจาก 5 ภาคทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือน มกราคม 2560
ผลสำรวจ ครัวเรือนไทยร้อยละ 34.6 ยังมีความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ความรุนแรงที่ว่านี้ อันดับ 1 หรือร้อยละ 32.3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ รองลงมา ร้อยละ 9.9 เป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย (ถือว่าสูงมากนะคะ เพราะตัวเลขกลมๆ ก็คือ 1 ใน 10 เลยทีเดียว) และร้อยละ 4.5 เป็นความรุนแรงทางเพศ

ภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุด พบว่า คือ ภาคใต้ ร้อยละ 48.1 ส่วนพื้นที่ที่พบความรุนแรงน้อยที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 26
สาเหตุของความรุนแรงมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ลักษณะครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันมาก สาเหตุหนึ่งที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูง อาจมาจากการมีความไม่สงบทางการเมือง ทำให้มีความไม่แน่นอนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ จึงอาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวได้
เมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัย พบว่า ครอบครัวที่อยู่ในชุมชนเมือง มีความรุนแรงมากกว่าในเขตชนบทถึง 2 เท่า (แต่ก็แปลกที่ กทม.กลับมีความรุนแรงน้อยนะคะ อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบกล้องวงจรปิด) นอกจากนั้นก็มีปัจจัยเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจ รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความเครียด ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้สารเสพติด บุหรี่ สุรา ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความคิดที่อาจนำไปสู่เกิดความรุนแรงได้

logoline