svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เชือด! อธิการมรภ.เชียงใหม่ จัดทริปศึกษาดูงาน แต่กลับเที่ยวต่างประเทศ

23 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชียงใหม่-สตง.ชี้มูลความผิดวินัยอธิการบดี-รองฯ จัดทริปเดินทางศึกษาดูงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พร้อมส่งเรื่อง ป.ป.ช.พิจารณาอาญากรณีทุจริตดำเนินการโดยไม่ผ่านระเบียบราชการที่ต้องยื่นซองประมูล เผยอาจารย์เตรียมประชุมสภามหาวิทยาลัย 1 มี.ค.จี้ถามการดำเนินการเอาผิดด้านวินัย ด้านผู้ร่วมทริป เตรียมแจ้งความเอาผิดฝ่ายบริหารหลอกลวง เชิญไปดูงาน


จากกรณี"สำนักข่าวอิสรา"รายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณาเกี่ยวกับโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จำนวน 40 คน ในช่วงวันที่ 17-19 มีนาคม 2557 กำหนดเดินทางไปดูงานที่ประเทศ จีน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส 4 ประเทศ รวมระยะเวลา 13 วัน ใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 6,040,487.13 บาท

โดยสตง.ตรวจสอบพบว่า การศึกษาดูงานในส่วนของจีน จำนวน 4 วัน มีการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเสฉวนครึ่งวัน ส่วนการศึกษาดูงานอีก 3 ประเทศ ที่เหลือรวม 9 วัน เป็นการเยี่ยมชมและท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญภายใต้หัวข้อ "ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" เท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาดูงานการบริหารและการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในโครงการศึกษาดูงานที่มีการของบประมาณแผ่นดินไว้แต่อย่างใด

จึงพิจารณาเห็นควรว่า อธิการบดี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการและรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้ขออนุมัติโครงการและร่วมเดินทางไปด้วย ทั้งสองคน จึงมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและต้องรับผิดทางละเมิดคืนเงินแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย พร้อมกันนั้นได้มีการยื่นเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญา ในขณะเดียวกันต้องมีการไต่สวนและลงโทษทางปกครองด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าที่ร้อยตรี ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งได้เดินทางร่วมไปในโครงการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2557 เปิดเผยว่า ในครั้งนั้นได้รับหนังสือเชิญให้ร่วมเดินทางไปในโครงการดังกล่าว เนื่องจากในช่วงเวลานั้นดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และไม่เห็นด้วยกับการจัดโครงการดังกล่าว แต่เมื่อได้รับเชิญมา จึงได้ตอบรับเดินทางร่วมโครงการไปด้วย เพื่อเก็บข้อมูลในการเดินทางครั้งนี้ไว้เป็นหลักฐาน และพบว่าการเดินทางไปในโครงการดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง จึงถือเป็นพยานคนหนึ่งในการเดินทางไปในครั้งนี้ ทำให้มีการร้องเรียนเพื่อการตรวจสอบโครงการดังกล่าว เป็นที่มาของ สตง. เข้ามาตรวจสอบพร้อมทั้งชี้มูลว่าการเดินทางไปดูงานในลักษณะเช่นนี้ไม่น่าจะเกิดประโยชน์

ทั้งนี้ สตง.ทำหน้าที่ใน 2 ส่วน คือหากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์จะให้มหาวิทยาลัยยกเลิกโครงการ และคืนเงิน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะไม่มีโทษทางวินัยและอาญา แต่เนื่องจากหลังจากพิจารณาโครงการดังกล่าวนี้แล้ว พบว่ามีการทุจริตในโครงการทัวร์ด้วย สืบเนื่องจากมีรองอธิการบดีคนหนึ่งไปติดต่อกับบริษัททัวร์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการประมูล เมื่อกลับมาแล้วกลับอ้างว่าไม่ได้จ้างบริษัททัวร์ เป็นการไปศึกษาดูงานโดยใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งคณะที่ร่วมเดินทางในครั้งนั้นไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นการจ้างบริษัททัวร์ ซึ่งผิดจากระเบียบที่ต้องมีการประกวดราคา ยื่นซองประมูล แต่กลับข้ามขั้นตอนดังกล่าวนี้ ในประเด็นดังกล่าวนี้ถือว่ากระทำความผิดอย่างชัดเจน หาก สตง.ทราบเรื่องก่อนการเดินทางเชื่อว่าจะต้องมีการระงับการเดินทาง หรือหากเดินทางกลับมาแล้ว อาจจะมีการเรียกเงินคืน เมื่อสตง.พิจารณาแล้วว่ามีการกระทำความผิดในเรื่องของการจัดโครงการดังกล่าวนั้นมีความผิดทางวินัย ต้องดำเนินการไต่สวนความผิดทางวินัย

อีกเรื่องหนึ่งคือความผิดทางอาญาที่ดำเนินการโครงการโดยไม่ผ่านการประมูลยื่นซองเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ สตง. จึงได้ยื่นเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณาการกระทำความผิดในทางอาญาดังกล่าว

จากโครงการดังกล่าวในขณะนั้นมี รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมชัย เป็นอธิการบดี และมี ดร.ถนัด บุญชัย เป็นรองอธิการบดี เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งถือได้ว่ากระทำความผิดร้ายแรงทางวินัย ทางสตง. ได้พิจารณาชี้มูลความผิดแล้วและต้องได้รับการไต่สวน หากเป็นไปตามขั้นตอน สตง.จะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการสอบสวนด้านวินัยปกครอง แต่ในเรื่องทางอาญาได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาส่งอัยการฟ้อง หรือ ทางป.ป.ช.จะดำเนินการฟ้องศาลเองก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นมา รศ.ดร.ประพันธ์ ธรรมชัย ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นอธิการบดีเป็นวาระที่ 2 เมื่อปี 2559 และยังไม่ได้รับโปรดเกล้าให้ขึ้นเป็นอธิการบดี เชื่อว่าน่าจะมาปัญหานี้ ทางสภามหาวิทยาลัยจึงคัดเลือกให้ ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดี ขึ้นรักษาราชการแทนอธิการบดี หลังจากนั้น ดร.ถนัด ได้ออกประกาศคำสั่งแต่งตั้งให้ รศ.ดร.ประพันธ์ เป็นที่ปรึกษาอธิการบดี ถือว่าเป็นเรื่องการบริหารภายในที่น่าผิดปกติ

ว่าที่ร้อยตรี ดร.จอห์นนพดล กล่าวว่า หลังจากนี้ โดยหลักการแล้วสภามหาวิทยาลัยจะต้องมีมติระงับบทบาทในการบริหารงานของผู้ที่มีความผิดร้ายแรง หากไม่ดำเนินใดๆ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่าทางสภามหาวิทยาจะต้องออกมามาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากถือเป็นความผิดร้ายแรง ในความคิดเห็นส่วนตัวสภามหาวิทยาลัยจะต้องออกมาแสดงบทบาทของตนเองในระหว่างการไต่สวน จะต้องมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามระเบียบวินัย

กระนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากที่ได้มีการร้องเรียนในเรื่องของการใช้งบประมาณอย่างไม่ถูกต้อง ของโครงการดังกล่าวแล้ว ตนในขณะนั้น เป็นกรรมการสภามหาวิทยา กลับถูกกลั่นแกล้งไม่ต่อสัญญาจ้าง ซึ่งเมื่อเรื่องดังกล่าว สตง.พิจารณาชี้มูลออกมาแล้วว่าผู้บริหารมีความผิด ตนในฐานะผู้ร้องเรียนถือได้ว่ากระทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการต่อสัญญา นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่ทาง ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการของผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เช่นเรื่องการทุจริตการก่อสร้างงานบางส่วนในมหาวิทยาลัย, การแจกซัมซุง s6 ให้กับผู้บริหาร และมีอีกหลายเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.

อาจารย์รายหนึ่งที่ร่วมเดินทางศึกษาดูงาน กล่าวว่า ทางกฎหมายผู้ที่เข้าร่วมเดินทางไม่ได้รู้เห็นกับโครงการดังกล่าวว่าดำเนินการมาอย่างไร เนื่องจากส่วนใหญ่ที่ร่วมเดินทางไปนั้นได้รับเชิญจากฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางอยู่ประมาณ 200,000 บาท/คน ดังนั้นในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ จะเดินทางไปแจ้งความลงบันทึกไว้ในกรณีฝ่ายบริหารในขณะนั้นหลอกลวง เชิญไปดูงาน โดยมีการทำนิติกรรมเบิกจ่ายโดยทุจริต ปลองแปลงเอกสาร ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงและหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยจะยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับโครงการดังกล่าว

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าว ถือได้ว่าผู้บริหารกระทำความผิดทางวินัยโดมีทาง สตง. ชี้มูลความผิดแล้ว ตามกฎหมาย สภาคณาจารย์และข้าราชการ ต้องมีข้อเสนอแนะทักท้วงไปยังสภามหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็ตามเรื่องที่ สตง.ชี้มูลความผิดจะต้องมีการพูดคุยกันในสภาคณาจารย์และข้าราชการ การพิจารณาพูดคุยในสภาจะออกมาในลักษณะไหนนั้นเป็นไปได้หลายแนวทาง เช่น เสนอให้สภามหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบ และต้องมีแนวทางในการสอบสอน อีกแนวทางหนึ่งคือหากเรื่องมีมูล สภามหาวิทยาลัยสามารถถอดถอนอธิการ หรือรักษาการอธิการได้ทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติของสภามหาวิทยาลัย ที่จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนการของทางมหาวิทยาลัย

ในส่วนของสภามหาวิทยาลัยจะมีการประชุมในครั้งต่อไปนี้ ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นการประชุมประจำเดือน สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้มีการปรากฏในสาธารณะในเชิงข้อเท็จจริง ต้องมีวาระในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หากไม่มีวาระในการประชุม ประธานสภาหรือบอร์ดบริหาร สามารถบรรจุเข้าไปอยู่ในวาระเร่งด่วนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยว่าจะบรรจุวาระดังกล่าวไว้หรือไม่ ทั้งนี้หากไม่มีการบรรจุไว้ในวาระเร่งด่วน ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถที่จะเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้ได้ในวาระอื่นๆ เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุมได้มีการเสนอนแนะแสดงความคิดเห็น เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณที่ผิดวัตถุประสงค์ ในส่วนตัวยึดถือเรื่องธรรมาภิบาลเป็นหลัก การดำเนินการใดๆ จะต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้

ทั้งนี้ต้องมีการถามในที่ประชุมถึงเรื่องธรรมาภิบางดังกล่าวนี้ด้วยว่า สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไร จะมีการถอดถอนหรือไม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะต้องมีคำตอบออกมาให้ชัดเจน เนื่องจากหลายฝ่ายกำลังจับตาดูอยู่ว่าสภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องดังกล่าวนี้ จะมีการช่วยเหลือผู้บริหารชุดนี้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องรอหลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2560 นี้จะมีความคืบหน้าออกมาบ้างว่าทางสภามหาวิทยาลัยจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร

logoline