svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จักษุแพทย์เผย คนไทย"กระจกตาโก่ง"มากขึ้น เตือนอย่าขยี้ตารุนแรง

08 พฤศจิกายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

8พ.ย.2559- จักษุแพทย์ เผยพบคนไทย "กระจกตาโก่ง"มากขึ้น ไม่ทราบต้นเหตุ ไม่รักษาอาจแตกจนกระจกตาพิการ คนสายตาสั้นเปลี่ยนแว่นบ่อยกลุ่มต้องสงสัย เตือนอย่าขยี้ตารุนแรงอาจส่งผล

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่หน่วยศูนย์เลเซอร์สายตา รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ จักษุแพทย์หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า กระจกตาของคนเรามีอยู่5ชั้น มีลักษณะโค้งพอดี ทำหน้าที่ในการรับแสงจากระยะไกลผ่านเข้าไปเลนส์แก้วตา แล้วมาหักเหที่จอรับภาพ หรือจอประสาทตาเพื่อทำให้มองเห็นภาพได้ดี แต่หากกระจกตาบางหรือมีปัญหาเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอก็จะทำให้ความดันลูกตาซึ่งมีเป็นปกติอยู่แล้วดันกระจกตาให้โก่งขึ้นในลักษณะบิด เบี้ยว เกิดการหักเหของแสงมากเกินไป กระทบกับการมองเห็นทั้งสายตาสั้น สายตาเอียงแบบผิดธรรมชาติมาก หากเป็นมากแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กระจกตาแตก ทำให้น้ำในลูกตาซึมเข้าไป ทำให้เกิดเป็นฝ้าขาว ขุ่น อักเสบบวม เป็นแผลเป็น ส่งผลให้กระจกตาพิการ และสูญเสียการมองเห็น โดยโรคดังกล่าวมักเป็นพร้อมกันทั้ง2ข้าง มีเพียงร้อยละ2-4เท่านั้นที่จะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว

รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวว่า โรคนี้เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ แต่ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอได้ แต่ส่วนหนึ่งคาดว่ามีความสัมพันธ์กับการขยี้ตาแบบรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะขยี้ตาด้วยการใช้ข้อนิ้วและขยี้ด้วยความแรง ซึ่งสันนิษฐานว่าการกด ขยี้ดวงตาอย่างแรง อาจจะทำให้เกิดการกระตุ้นเส้นใยคอลลาเจน จนเกิดการโก่งของกระจกตาได้ จึงไม่ควรขยี้ตาแรง ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคกระจกตาโก่งแบ่งออกเป็น3กลุ่ม คือ1.อายุ10-20ปี กลุ่มนี้โรคมักมีอาการรุนแรงมีอาการสายตาสั้นและมักจะต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากค่าสายตาจะเปลี่ยนเร็ว 2.อายุ20-30ปี โรคจะนิ่งๆ ไม่เป็นมาก แต่เป็นกลุ่มคนที่เริ่มมีรายได้แล้วหันมาทำเลสิกแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ซึ่งก่อนที่จะทำเลสิก จักษุแพทย์จะทำการตรวจและพบว่ามีกระจกตาโก่ง โดยผู้ที่กระจกตาโก่งจะห้ามทำเลสิก เพราะการทำเลสิกจะทำให้กระจกตาบางลง และผู้ที่กระจกตาโก่งจะกระจกตาบางอยู่แล้ว และ3กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ รู้ตัวเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจวัดทางจักษุแพทย์

รศ.พญ.งามจิตต์ กล่าวอีกว่า ในการรักษา วิธีที่เป็นมาตรฐานมี 3 วิธี คือ1.เมื่อมีปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียงก็แก้ไขด้วยการสวมแว่นสายตา 2.คอนแทคเลนส์ กรณีกระจกตาโก่งจะเป็นคอนแทคเลนส์แบบพิเศษและ3.การเปลี่ยนกระจกตา เอากระจกตาที่โก่งออกแล้วใส่กระจกตาใหม่ที่ได้รับจากการบริจาคมาเปลี่ยน วิธีนี้จะทำเมื่อคุณภาพการมองเห็นเสียไป แต่ปัจจุบันกว่าผู้ป่วยจะได้รับการเปลี่ยนกระจกตาต้องรอรับบริจาคกระจกตาเฉลี่ย3ปีและมีการรักษาทางเลือก 2 วิธี ได้แก่ 1.การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตเอ ผสมกับไวตามินบีในทางการแพทย์ เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมกันของเส้นใยคอลลาเจนมากขึ้น แข็งแรงขึ้น สามารถต้านแรงดันลูกตาไม่ให้กระจกตาโก่งตามแรงดัน เป็นการหยุดยั้งกระจกตาโก่งและ2.การใส่วงแหวนขึงตรึงกระจกตา หลักการคล้ายกับใส่สะดึงตรึงผ้า แต่เป็นการช่วยกระจกไม่ให้โก่งมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์สายตาสั้น เอียงได้ แต่ไม่ได้หยุดยั้งความโก่ง โดยอาจใส่ 1 หรือ 2 วงขึ้นอยู่กับความโก่งของกระจกตา

"กระจกตาโก่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตัวคนไข้เอง ดังนั้น คนไข้ที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการอื่น เช่น ตาฝ้าอันเนื่องจากกระจกตาแตกแล้ว หรือต้องการมาทำเลสิก แต่เมื่อจักษุแพทย์ตรวจก็จะเจอว่ากระจกตาโก่ง อย่างไรก็ตาม อาจจะสังเกตได้ว่าอาจจะกระจกตาโก่งในกลุ่มคนที่สายตาสั้น เอียงแล้วต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ เพราะค่าสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น อย่างรวดเร็ว โดยปกติค่าสายตาจะสั้นเพิ่มขึ้น 50 หรือ -0.5 ต่อปี แต่หากค่าสายตาเปลี่ยนแปลงเร็ว สั้นเพิ่มขึ้น 100 หรือ -1.0 ต่อปีถือว่าเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจต้องนึกถึงโรคกระจกตาโก่งด้วย ส่วนผู้ที่สายตายาวนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคกระจกตาโก่ง" รศ.พญ.งามจิตต์กล่าว

logoline