svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วัยรุ่นไทย ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม 80%

11 กุมภาพันธ์ 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วัยรุ่นไทย 15-19ปีตั้งครรภ์ แล้ว19 % เกิดเพราะไม่ตั้งใจถึง 80% ทำแท้ง 30 % ทิ้งลูกไว้ในรพ.10 % ขณะที่แม่วัยรุ่นเสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย แม้แต่งงานกันแต่มักจบที่การหย่าร้าง สถานที่เด็กใช้มีเซ็กส์ส่วนใหญ่ที่บ้านฝ่ายชายหรือหญิง บางครั้งพ่อแม่อยู่ในบ้านอ้างพาเพื่อนมาติวหนังสือ เชื่อพรบ.ใหม่ช่วยแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการแถลงข่าว เรื่อง แม่วัยรุ่น-วาระแห่งชาติ โดยพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แพทย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ร้อยละ 19 ของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีมีการตั้งครรภ์แล้ว ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นการตั้งครรภ์แบบไม่ไ้ได้ตั้งใจ ร้อยละ 30 นำไปสู่การทำแท้ง ร้อยละ 10 ทิ้งลูกไว้ในโรงพยาบาลที่คลอด เนื่องจากวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่มีวุฒิภาวะที่ไม่พร้อมต่อการตั้งครรภ์ทั้งด้านจิตใจและสังคม
พญ.จิราภรณ์ กล่าวอีกว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอาจเกิดผลกระทบ ที่เกิดกับตัววัยรุ่นตั้งครรภ์ คือ สภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคง เสี่ยงสูงที่จะเกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้า ปัญหาเรื่องการเรียน ครอบครัวและสังคมรุมเร้า อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของรพ.รามาฯพบว่า แม่วัยรุ่นมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า ก่อนคลอด ร้อยละ 42 และหลังคลอดร้อยละ 20 ส่งผลต่อสุขภาพแม่และทารก
ผลกระทบต่อลูกของแม่วัยรุ่นผลกระทบทางด้านลูกของแม่วัยรุ่นได้แก่ เด็กเกิดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 18 หรือเสียชีวิตหลังคลอดการขาดทักษะในการเป็นพ่อแม่มีผลกระทบทำให้ลูกของแม่วัยรุ่นมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์และพัฒนาการล่าช้า ไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วนพ่อแม่วัยรุ่นที่แต่งงานหรืออยู่ด้วยกันมักมีปัญหาและลงเอยด้วยการหย่าร้างมีแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุต่ำกว่า 15 ปีเพิ่มขึ้นและที่สำคัญคือแม่การขาดโอกาสทางการศึกษา
ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า คลินิกแม่วัยรุ่น รพ.รามาฯนอกจากจะให้การดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังให้วัยรุ่นและครอบครัวมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือกด้วย ซึ่งประสิทธิภาพของคลินิกปี 2554-2558 พบว่า กลุ่มที่ใช้บริการคลินิกแม่วัยรุ่นมีการฝากครรภ์คุณภาพมากกว่า 3 ครั้ง ร้อยละ 93.8 คลอดครบกำหนด ร้อยละ 87.7 ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 88 สูงกว่ากลุ่มที่ไมได้ใช้บริการซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 78,76.2 และ82.2 ตามลำดับส่วนการดูแลหลังคลอดพบอัตราการคุมกำเนิด ร้อยละ 81.5 การกลับไปศึกษาต่อ ร้อยละ 44.3 และการตั้งครรภ์ซ้ำภายใน 2 ปี ร้อยละ 1 ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการที่อยู่ที่ ร้อยละ 44.8,29.7 และ5.3 ตามลำดับ ส่วนผลลัพธ์ทางด้านลูก พบว่า ฉีดวัคซีนครบ ร้อยละ 77 การเจริญเติบโตตามเกณฑ์ ร้อยละ 88 และพัฒนาการสมวัยร้อยละ 91 สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้บริการเช่นกัน
ศ.นพ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่าแนวทางในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แบ่งเป็น กลุ่ม คือ 1.วัยรุ่นยังไม่มีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร(No Sex) โดยควรเสริมสร้างทักษะชีวิตและการเห็นคุณค่าในตนเองให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษา เพื่อให้วัยรุ่นสามารถเผชิญต่อความต้องการทางเพศ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นอย่างเหมาะสม มีการแปรพลังความต้องการทางเพศเป็นการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่น การออกกำลังกาย การเรียน การเล่นกีฬา ศิลปะ ดนตรี การฝึกสมาธิเป็นต้น
2.ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศได้และมีเพศสัมพันธ์แล้วควรให้ความรู้เรื่องวิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้องและปลอดภัย(Safe Sex)เพื่อป้องกันการติดโรคและติดลูก และ3.กรณีที่ตั้งครรภ์แล้ว ควรได้รับการดูแลอย่างบูรณาการทั้งร่ายกาย จิตใจและสังคม ซึ่งครอบครัวเป็นส่วนสำคัญสำหรับวัยรุ่นในการเลี้ยงลูกเชิงบวกให้การดูแลเอาใจใส่และดูแลวัยรุ่นเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นและประสานความเข้าใจในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
การที่มีพรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมั่นใจว่าจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ปัญหาแม่วัยรุ่นลดลง เพราะมีกฎหมายออกมารองรับในการทำงานที่จะมีทั้งแผนงานและงบประมาณสนับสนุน ทำให้การทำงานบูรรณาการระหว่างกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้แนวทางและแผนงานเดียวกันศ.พญ.สุวรรณากล่าว
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ระดับชาติ กล่าวว่า ปี 2557 อัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปีต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คนอยู่ที่ 48 ต่ำกว่าปี 2556 ที่อยู่ที่51.2 ขณะที่ตัวเลขวัยรุ่นติดกามโรคเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นไทยยังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยอยู่ เพียงแต่ตัวเลขการคลอดที่ลดลงอาจเป็นเพราะทำแท้งได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่หน่วยราชการรู้คือตัวเลขคลอดแต่ไม่รู้ตัวเลขทำแท้ง
ข้อมูลของสธ.พบว่าเด็กที่ตั้งครรภ์อายุน้อยสุดอยู่ที่ 10 ปี ซึ่งถูกหลอกล่อลวงจากคนใกล้ชิดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล และจากการศึกษาในเด็กและวัยรุ่นกว่า 10,000 คน พบว่า เด็กจะใช้บ้านของตัวเองไม่ว่าบ้านของฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงในการมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งบางครั้งอาจมีพ่อแม่หรือไม่มีพ่อแม่ของฝ่ายชายหรือหญิงอยู่ในบ้าน โดยบอกกับพ่อแม่ว่ามาติวหนังสือนพ.วิวัฒน์กล่าว
นพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติมานานแล้วแต่เชื่อว่าหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ผ่านพรบ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.....และมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้การแก้ปัญหาเข้มข้นขึ้น เพราะมีโครงสร้างและกลไกประสานการทำงานอย่างถาวร ภายใน 10 ปี เชื่อว่าจะลดปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง

logoline