svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"พระพรหมเมธี" ธรรมกายในฝ่ายธรรมยุต

05 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มาลุ้นกันว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.จะกลับจากเยอรมันนี มือเปล่า หรือว่าจะหนีบเอา อดีตพระพรหมเมธี ผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน กลับมาดำเนินคดีปิดจ๊อบคดีฟอกเงินล็อต 3 อดีตพระพรหมเมธีเป็นใคร ทำไมเลือกที่จะหนีไปเยอรมัน ไปติดตามรายงานคุณสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี

สถานภาพที่เปลี่ยนไปของ อดีตพระพรหมเมธี ซึ่งเคยครองสมณศักดิ์ "พระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) ตำแหน่งเหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อมีพระบรมราชโองการถอดถอนสมศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาปลดพ้นจากตำแหน่ง กรรมการมหาเถรสมาคม


"พระพรหมเมธี" นามเดิม "จำนงค์ เอี่ยมอินทรา" เกิด 22 กุมภาพันธ์ 2484 ปีมะเส็ง ที่บ้านริมน้ำนครชัยศรี ปากคลองบางระทึก ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม


อายุ 11 ขวบ โยมบิดา โยมมารดา นำไปบรรพชา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2495 ณ วัดราษฎร์บำรุง เขตบางแค กรุงเทพฯ มี พระครูวิศาลปริยัติคุณ (งาม จันทเทโว) วัดสามัคคยาราม จ.ปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2504 ณ วัดสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ มีพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "ธมฺมจารี" มีความหมายว่า ผู้ประพฤติธรรม


เจ้าคุณจำนงค์ แห่งวัดสัมพันธวงศ์ ได้รับแต่งตั้ง เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ่วงเก้าอี้ "โฆษก มส." เมื่อ 10 มีนาคม 2547 อีกตำแหน่งหนึ่ง


นับเป็น "ธรรมยุต" เพียงหนึ่งเดียวที่โดนคดีทุจริตเงินทอนวัดในครั้งนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วเส้นทางของเจ้าคุณจำนงค์นั้นก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน คือชื่นชมยินดีกับแนวทางของวัดพระธรรมกาย กระทั่งเป็นที่รับรู้กันว่า วัดสัมพันธวงศ์นั้นเป็น "สาขาวัดพระธรรมกายในฝ่ายธรรมยุต"

เจ้าคุณจำนงค์ ยังเป็นพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งที่เห็นดีเห็นงามกับโครงการ "ธุดงค์ธรรมชัย" ชนิดเชียร์อย่างออกหน้าออกตา

แต่บทบาทที่สังคมจดจำได้ดีก็คือ การที่เจ้าคุณจำนงค์ในฐานะโฆษกมส. แจ้งมติ มส.ว่า อดีตพระธัมมชโยไม่ปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เนื่องจากได้มีการคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว และยังไม่ถือเป็นการขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีไว้ตั้งแต่ปี 2542


แทบไม่มีข้อสงสัย ว่าทำไม อดีตพระพรหมเมธี ถึงเลือกปลายทางการหลบหนีที่เยอรมันนี นั่นเพราะสายสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนานกับธรรมกาย และเมื่อปี 2558 เคยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพระธรรมกายบาวาเรีย เยอรมันนี ในครั้งนั้น มส.อนุมัติหนังสือเดินทางราชการ ปกน้ำเงิน อายุหนังสือเดินทาง 5 ปี คือ 2558-2563 ซึ่งยังไม่หมดอายุ


ด้วยสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้เองที่ทำให้ อดีตพระพรหมเมธี เลือกที่จะหนีซุกบารมีธรรมกายในเยอรมันนี

logoline