svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ควรขึ้นทะเบียน "ฉลามหัวบาตร" เป็นสัตว์สงวน หรือไม่?

05 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นเรื่องที่หลายคนประหลาดใจเมื่อทราบข่าวว่านักท่องเที่ยวถูกฉลามกัดในทะเลอ่าวไทย เพราะฉลามในอ่าวไทยไม่มีใครเห็นมานานแล้ว


ชายหาดสงบเงียบที่สุดของอำเภอหัวหิน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น เย็นวันที่ 15 เมษายน 2561 นักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ถูกฉลามกัดที่ขาเลือดอาบ สร้างความแตกตื่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวไม่น้อย  


ปลาฉลามหัวบาตร หรือ Blue Shake เป็นสัตว์นิสัยดุร้าย กินปลาและสัตว์ต่าง ๆ ในน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจทำร้ายมนุษย์ได้ด้วย 


จากแผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาฉลามหัวบาตร พื้นที่สีน้ำเงิน คือบริเวณอาศัย ซึ่งอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น  ริมชายฝั่ง ขนาดโตเต็มที่มีลำตัวยาวถึง 3.5 เมตร มีน้ำหนักได้ถึง 316  กิโลกรัม ทั้งยังสามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ โดยพบเป็นบางครั้งในแม่น้ำใหญ่ที่ห่างจากทะเลนับร้อยกิโลเมตร เคยมีผู้พบเห็นว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง 


ภาพที่บันทึกได้จากกล้องโทรศัพท์มือถือของ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่า ยืนยันการอาศัยอยู่ของฉลามหัวบาตร แหวกว่ายอยู่ในเขตอภัยทาน บริเวณโขดหินหน้าวัด พระครูบุญญาภิราม จำพรรษาที่นี่มานานกว่า 20 ปี พระครูบอกว่าเห็นปลาฉลามมานานแล้ว และมีจำนวนมากถึง 40 ตัว


ภาพปลาฉลามหัวบาตรติดอวนของชาวประมงพื้นบ้านชุมชนเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนว่าจำนวนของปลาฉลามหัวบาตรที่อาศัยอยู่ที่นี่มีจำนวนมากแค่ไหน 


เมื่อลองตรวจสอบสถานะการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิต หรือ Conservation status  จากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN พบว่า ฉลามพันธุ์นี้อยู่ในขั้นเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยง หมายความว่าเป็นสิ่งมีชีวิตจะถูกคุกคามในอนาคต ถึงแม้ในปัจจุบันสิ่งมีชีวิตนี้อาจจะยังไม่ถูกคุกคามก็ตาม 


หลังจากมีนักท่องเที่ยวถูกฉลามกัด การวางทุ่นกันปลาฉลามกำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่หาดทรายน้อย มีการเตือนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำไปแล้ว เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกำลังทหารจากศูนย์ทหารราบ ปราณบุรี ค่ายธนะรัตช์ นับสิบนาย นำทุ่นไข่ปลาความยาวเกือบ 500 เมตรลอยทะเลออกจากฝั่งชายหาดทรายน้อย ไปราว 60 เมตร 


มีการทำประชาพิจารณ์แนวเขตการวางทุ่นกันฉลามหาดทรายน้อย ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า  ชาวบ้านขอให้ขยายแนวทุ่นยื่นไปในทะเลอีก จากเดิม 60 เมตร เป็น 80 เมตร เนื่องจากช่วงน้ำลงจะเหลือที่เล่นน้ำแคบเกินไป  


ส่วนตาข่ายโพลีเอสเตอร์ คือวัสดุที่จะนำมาติดตั้งกับทุ่นกันปลาฉลาม ขนาดตาอวน 2.5 นิ้ว มีความยาวจากผิวน้ำ ลงสู่ก้นทะเลลึก 5 เมตร เจ้าหน้าที่นำมาให้ชาวบ้านเขาเต่าดูเพื่อตัดสินใจ โดยยืนยันว่าทุ่นตาข่ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 


ในที่สุดชาวบ้านที่นี่ก็ยกมือผ่านประชาพิจารณ์ทุ่นตาข่ายกันฉลาม ยื่นจากชายหาดทรายน้อยไป 80 เมตร ด้วยเอกมติเอกฉันท์  หลังจากนี้เทศบาลหัวหินจะเร่งจัดซื้อโดยเร็ว


ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 บอกกับชั่วโมงสืบสวนว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยพฤติกรรมฉลามบาตรวัดถ้ำเขาเต่า หาดทรายน้อย โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นประธาน กำลังรวบรวมข้อมูล และวิจัยเพื่อพิจารณาว่า ควรประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมาย หรือไม่ และควรขึ้นทะเบียนปลาฉลามหัวบาตรเป็นสัตว์ป่าสงวนคุ้มครองหรือไม่ 


ซึ่งกรณีการขึ้นทะเบียนฉลามหัวบาตรเป็นสัตว์สงวน ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่มาก เพราะมักติดอวนของชาวประมง หากขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวนไปแล้ว ชาวประมงจะกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย

logoline