svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

“ข้าวเหนียวมะม่วง” ขนมหวานหน้าร้อนของไทย กินอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ?

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มงลง “ข้าวเหนียวมะม่วง” คว้าอันดับ 2 ของโลก เจาะลึกขนมหวานหน้าร้อนของไทย เลือกกินอย่างไร กินได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ให้กระทบกับสุขภาพ...Nation STORY มีคำตอบ

ล่าสุดจาก TasteAtlas เว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารและรีวิวจากนักวิจารณ์อาหารทั่วโลก ได้จัดอันดับ "Top 23 RICE PUDDINGS in the World" ผลปรากฏว่าในปี 2024 "ข้าวเหนียวมะม่วง" (Mango Sticky Rice) ขนมหวานขึ้นชื่อและได้รับความนิยมของไทย คว้าอันดับ 2 พุดดิ้งข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปครอง

ด้านรสชาติของ "ข้าวเหนียวมะม่วง" ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยกลมกล่อม ด้วยรสชาติที่หวานหอมของข้าวเหนียวมูนกับกะทิ กินคู่มะม่วงสุกหอมหวาน ราดตามด้วยหัวกะทิเค็มๆ มันๆ นับเป็นสวรรค์ของนักกิน ทว่า ความ "หวาม มัน เค็ม" ที่ซ่อนอยู่ในเมนูระดับโลก ทำให้หลายคนกินเพลินเกินโควตา มาดูกันว่ามีคำแนะนำอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมหวานไทย(แคลอรี)บานตะไท

มะม่วงสุกครึ่งลูก (ขนาดกลาง) ให้พลังงานประมาณ 70 กิโลแคลอรี ส่วนข้าวเหนียวมูนให้กิน 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะให้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 350 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับแคลอรีที่ได้จากอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น โดนัทเคลือบคาราเมล พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ ของพวกนี้ก็ให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี แต่ข้าวเหนียวมะม่วงมีคุณค่าทางโภชนาการและเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่า

กินข้าวเหนียวมะม่วงปริมาณพอดี ได้คุณค่าโภชนาการ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะกินข้าวเหนียวมะม่วงในปริมาณที่เหมาะสม ได้คุณค่าโภชนาการ พร้อมย้ำมะม่วงสุกมีวิตามินและแร่ธาตุหลายอย่าง ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ใยอาหาร  สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ และช่วยคลายความร้อน ทำให้ร่างกายสดชื่น

ช่วงหน้าร้อน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นเมนูยอดนิยมที่หากินได้ง่าย มะม่วงสุกกินแล้วคลายความร้อน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ซึ่งเนื้อมะม่วงสุกมีวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา ใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย วิตามินซี ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้ กะทิยังช่วยให้วิตามินเอและอี จากมะม่วงดูดซึมได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรกินข้าวเหนียวมะม่วงมากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกิน และกระตุ้นอาการร้อนใน เจ็บคอ การกินข้าวเหนียวมะม่วงให้อร่อย ไม่เสียสุขภาพ จึงควรกินในปริมาณที่ไม่มากและบ่อยเกินไป พร้อมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันด้วย

ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นอาหารว่างที่ให้พลังงานที่ค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถกินได้ โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

1) ผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถกินข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารว่างได้ ประมาณ 150–200 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ ข้าวเหนียวมูล 50 กรัม หรือ 1 ทัพพี ให้พลังาน 140 กิโลแคลอรี และมะม่วงสุกครึ่งผลให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 200 กิโลแคลอรี ซึ่งจะใกล้เคียงกับพลังงานของอาหารว่างต่อวัน  เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานสมดุลต่อวัน มื้อไหนหากกินข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว ควรงดของหวานอื่น และออกกำลังกายเพื่อช่วยเผาผลาญพลังงาน ส่วนผู้มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานสูง

2) ควรกินข้าวเหนียวมะม่วงช่วงเวลากลางวัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่างๆ เลี่ยงกินตอนมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อย พลังงานที่ได้รับอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้

3) ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ควรต้องระมัดระวัง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันค่อนข้างสูง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงกินมะม่วงสุก เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง

ทั้งนี้ การกินข้าวเหนียวมะม่วงให้อร่อยแบบไม่เสียสุขภาพ ควรกินพอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยนัก และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้สมดุลกัน เพื่อจะได้ป้องกันร่างกายไม่ให้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ควรลดปริมาณอาหารอื่นที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำตาล และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดี

มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับ คนสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อาจจะกินข้าวเหนียวมะม่วงได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์  แต่ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว (บะหมี่แห้ง 1 ชาม พิซซ่า 1 ชิ้น) เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไป ตัวอย่างการออกกำลังกายที่จะเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการกินข้าวเหนียวมะม่ง 1 จาน ได้แก่ วิ่ง 45 นาที ว่ายน้ำ 32 นาที ปั่นจักรยาน 60 นาที และเดิน 100 นาที จึงขอแนะนำว่าทางที่ดีไม่ควรกินเกิน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์

เทคนิคเลือกกินเมนูโปรดให้ได้ประโยชน์มากกว่า

เลือกกิน "ข้าวเหนียวดำ" หรือข้าวเหนียวที่มูนด้วยน้ำกะทิที่ผสมสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน แครอท ขมิ้น และใบเตย เพราะจะได้รับ "สารพฤกษเคมี" ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มากกว่าการกินข้าวเหนียวขาว

เลือก "กินมะม่วงแก่จัด" เพื่อให้ได้รสชาติดีและสารอาหารจากมะม่วงครบถ้วน ควรซื้อมะม่วงที่แก่จัด และควรปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ เนื่องจากมะม่วงที่บ่มแก๊สจะให้กลิ่นและรสที่ไม่ดีเท่ากับมะม่วงสุกตามธรรมชาติ วิธีการสังเกตคือ มะม่วงที่แก่จัดนั้นผลจะอวบ ด้านล่างของมะม่วงจะไม่แหลม ส่วนมะม่วงที่เก็บมาตอนไม่แก่จัด แล้วนำมาบ่มแก๊สผิวจะเหี่ยว

“ข้าวเหนียวมะม่วง” ขนมหวานหน้าร้อนของไทย กินอย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ?

ประโยชน์ของมะม่วงสุก

มะม่วงสุกนอกจากจะรสชาติดีหวานอมเปรี้ยวแล้ว ยังมีสารอาหารมากมายที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย  ในมะม่วงมีวิตามินเอ และวิตามินซี ดีต่อผิวพรรณ ดวงตา กระดูก และระบบภูมิคุ้มกัน ในมะม่วงยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่ช่วยดูดซึมน้ำ ทำให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่าย ป้องกันอาการท้องผูก มะม่วงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชื่อว่า แมงจิเฟอริน (Mangiferin) ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือด ป้องกันมะเร็ง จอประสาทตาเสื่อม อัลไซเมอร์ รวมถึงอาการข้ออักเสบ

สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานมะม่วงสุกให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ แนะนำว่าไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 หน่วยบริโภค หรือประมาณ 160 กรัม โดยปริมาณผักและผลไม้ที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน คือ 400 กรัม ผู้บริโภคอาจรับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย หรือผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูงอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กล้วย แอปเปิล ส้ม เบอร์รี่ต่างๆ เป็นต้นที่ประกอบด้วยน้ำตาลจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

logoline