svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"บิ๊กตู่" กด "ศึกนอก" คุม "ศึกใน"

27 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเคลื่อนไหวของ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หวังจะใช้พลังนักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ปลุกกระแสประชาชนออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลทหารครั้งใหญ่ 4 วัน 4 คืน ในระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคมนี้


นอกจากครบรอบ 4 ปี การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ภายหลังทำเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว ยังเป็นห้วงเวลาเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


จากนี้เป็นต้นไปคือช่วงเวลาที่ รัฐบาลและคสช.ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่า การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง โดยใช้นักศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อน ให้สอดคล้องห้วงเวลาสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หากยังไม่ประสบความสำเร็จ การเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม ถือเป็นเป้าหมายต่อไป

แม้หน่วยงานด้านความมั่นคง จะเชื่อมั่นว่า บริบทการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังแตกต่างกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ 14 ตุลา เนื่องจากในห้วงเวลานั้นกลุ่มนักศึกษา ภาคประชาชน ต่างเห็นพ้องต้องกันออกมาเคลื่อนไหว แต่ปัจจุบันประชาชนยังสนับสนุนรัฐบาล และ คสช.อยู่

แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือเหตุการณ์พลิกผัน หรือเงื่อนไข จากมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์เติมเชื้อไฟ ให้การชุมนุมปะทุขึ้นได้

ทั้งนี้ "พล.อ.ประยุทธ์" ได้สั่งการ หน่วยงานความมั่นคงเตรียมแผนรับมือและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ดูแลความเคลื่อนไหวกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ 4 กองทัพภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก และต้องไม่สร้างเงื่อนไข

ในขณะเดียวกันงานด้านการข่าวให้เกาะติดกลุ่มหัวรุนแรง หรือกลุ่มฮาร์ดคอร์ ที่จะฉวยโอกาสนำอาวุธสงครามออกมาสร้างสถานการณ์บานปลายออกไป

"นายกรัฐมนตรี กำชับ ดูแลกลุ่มเคลื่อนไหว ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายในห้วงเวลานี้ นอกจากต้องดูแลให้การชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมายแล้ว ยังต้องรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การชุมนุมตามที่ได้ประกาศไว้ตามห้วงเวลาดังกล่าว เพื่อป้องกันกลุ่มมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์" แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ

แต่กระนั้น ศึกนอกก็ไม่น่ากลัวเท่าศึกใน หลังนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ออกมาพูดถึงกลุ่มทหารยังเติร์ก จะออกมางัดข้อกับรัฐบาลและคสช. หากมีการสืบทอดอำนาจ ดังเหตุการณ์ "กบฏเมษาฮาวาย" ที่มีกลุ่มนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือกลุ่มยังเติร์ก พยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แม้ความเป็นไปได้จะน้อยเต็มที เนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ วางโครงสร้างกองทัพค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่การบังคับบัญชาระดับล่างจนถึงระดับบน โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ควบคุมเบ็ดเสร็จ การขยับตัวทหารแตงโม หรือกลุ่มทหารยังเติร์ก จึงเป็นไปได้ยาก เพราะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ

"ยังมองไม่เห็นว่าจะมีทหารรุ่นใหม่ หรือทหารชั้นผู้น้อยออกมาเคลื่อนไหว ตามที่ ส.ศิวรักษ์ ออกมาระบุ ผมมองว่าปัญหาเรื่องความพอใจหรือไม่พอใจ ในกองทัพก็เหมือนกับประชาชน ที่จะมีความคิดเหมือนกันหรือคิดเห็นต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญคือโครงสร้างของกองทัพมีการจัดที่ค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่การบังคับบัญชาในระดับล่าง ถึงระดับบน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติ หรือการยึดอำนาจรัฐคงเป็นไปได้ยาก และไม่น่าจะเกิดขึ้น" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กล่าว

แต่สิ่งที่ต้องจับตาการปรับย้ายนายทหารประจำปีใน 2 ห้วงเวลา คือ ปรับย้ายกลางปี และการปรับย้ายใหญ่ในเดือนตุลาคม

สำหรับการปรับย้ายกลางปี คาดว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เตรียมจัดส่งบัญชีรายชื่อให้ พล.อ.ประวิตร ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ หากมีความจำเป็น อาจต้องจัดกระบวนทัพใหม่ เพื่อรับสถานการณ์ก่อนจะก้าวไปสู่การเลือกตั้ง ปี 2561

แต่เชื่อว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากได้วางตัวบุคคลคุมกำลังหลักหมดแล้ว

ส่วนการปรับย้ายใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเดือนตุลาคม ได้วางตัว "เสธ.แดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องรักอีกคนของ พล.อ.ประยุทธ์ จ่อขึ้น ผบ.ทบ.คนต่อไป

ถึงเวลานี้ทาง คสช. ยังมั่นใจว่า "เอาอยู่" ทั้งภารกิจ "ศึกนอก" และ "ศึกใน"

แต่ที่ยังกังวลอยู่บ้าง คือ "เหตุการณ์ระหว่างทาง" !!

logoline