svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"เงินชราภาพ" ทำไมห้ามยืดจ่าย! สิทธิลุงป้า 55 ปี

24 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงกับแนวคิดแก้ไข "พ.ร.บ.ประกันสังคม" ยืดขยายอายุคนรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยอ้างคำเตือนของ "ไอแอลโอ" ว่าอีกประมาณ 40 ปี เงินกองทุนประกันสังคมอาจหมด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ถังแตก !"

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (International Labour Organization : ILO) แนะนำให้รัฐบาลไทยรีบเตรียมพร้อมรับมือปัญหาสถานะเงินกองทุนประกันสังคมที่อาจไม่พอจ่าย เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.6 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกประมาณ 13 ล้านคน

\"เงินชราภาพ\" ทำไมห้ามยืดจ่าย! สิทธิลุงป้า 55 ปี

"นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล" เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ณ ห้วงเวลานี้ สัดส่วนเงินเก็บเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมยังไม่สมดุลระหว่างเงินที่จ่ายออกไปกับเงินที่ได้รับเข้ามา โดยเฉพาะ "สิทธิประโยชน์ชราภาพ" ที่ผ่านมาเก็บเงินจากผู้ประกันตนและนายจ้างร้อยละ 3 ของทั้ง 2 ฝ่าย แต่กองทุนต้องจ่ายเงินออกไปในอัตราร้อยละ 20 ตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบัน กองทุนชราภาพเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุดของกองทุนประกันสังคม คิดเป็นร้อยละ 90 หากขาดเสถียรภาพอาจส่งผลต่อกองทุนทั้งหมดได้

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมทดลองวิเคราะห์รูปแบบการจ่ายผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ จากข้อมูลปี 2557 มีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีตามกำหนดยื่นขอรับสิทธิ์จำนวน 2 หมื่นราย ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 370 ล้านบาท ผ่านไป 3 ปีในปี 2560 เพิ่มเป็น 2 แสนราย และตัวเลขจะเพิ่มทวีคูณทุกปี ภายในปี 2570 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 1 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และทะลุถึง 3 ล้านคน ในปี 2577 และในปี 2588 เพิ่มไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนตามสภาพของสังคมผู้สูงอายุ

เมื่อถึงเวลานั้น "เงินกองทุนชราภาพ" คงไม่พอจ่ายอย่างแน่นอนหากไม่เร่งหาวิธีการเปลี่ยนแปลงการเก็บเงินหรือบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้...

\"เงินชราภาพ\" ทำไมห้ามยืดจ่าย! สิทธิลุงป้า 55 ปี

แนวคิด "ขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี" พร้อมยืนยันว่าไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ประกันตนอย่างแน่นอน ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายระเบียบปรับปรุงอัตราเงินสมทบเรียบร้อยแล้ว

สำนักงานประกันสังคมกำลังทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างนี้ เครือข่ายสิทธิแรงงานได้ออกมาร่วมกันประท้วงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกันตน เหมือนสัญญาว่าจะให้แล้วเบี้ยวยืดเวลาออกไป สร้างความผิดหวังให้มนุษย์เงินเดือนที่นั่งนับวินาทีรอวันเกษียณจากงาน

"ป้าวิ" หรือ วิไลวรรณ แซ่เตีย หนึ่งในแกนนำผู้บุกเบิกต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานมานานหลายสิบปี ปัจจุบันเกษียณจากโรงงาน เดินทางกลับไปเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ป้าวิยืนยันว่านโยบายยืดอายุรับเงินออกไป 5 ปีเป็น 60 ปี คือ การปล้นหรือละเมิดสิทธิของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนงานในโรงงาน ผู้ก้มหน้าทำงานหนักมาตลอดชีวิต คนงานเหล่านี้สภาพร่างกายโรยรา เพราะโหมทำงานทำโอทีต่อเนื่อง 2030 ปี พอเริ่มเข้าสู่วัย 50 กว่า ก็แทบจะไปทำงานไม่ไหวแล้ว

\"เงินชราภาพ\" ทำไมห้ามยืดจ่าย! สิทธิลุงป้า 55 ปี

"ต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกัน สุขภาพก็ไม่เหมือนกัน พี่น้องแรงงานต้องทำงานหนักแทบทุกวันตลอดปี ไม่ค่อยได้หยุดพักผ่อน ส่วนใหญ่โรงงานจะให้ออกตอนอายุ 55 หรือบางคนขอลาออกเองเพราะร่างกายไม่ไหวแล้ว เงินที่สะสมมาก็ไม่ได้มากมาย บางคนได้เงินชราภาพแค่เดือนละพันกว่าบาทหรือสองพันกว่าบาทเท่านั้น หากขยายอายุเกษียณไปเป็น 60 ปี พวกเขายิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก สิทธิของผู้ประกันตนต้องดีกว่าเดิมไม่ใช่แย่ลง"

ป้าวิ เปิดเผยชีวิตตัวเองให้ฟังว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทำงานโรงงานได้เงินเดือนไม่กี่ร้อยบาท จนเขยิบขึ้นไปเรื่อยเป็นหลักพันบาท ในแต่ละเดือนส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมประมาณ 300-400 บาท ในวันนี้ได้เงินบำนาญชราภาพประมาณเดือนละพันกว่าบาทเท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย แม้เงินจำนวนไม่มากแต่สำหรับชาวบ้านแล้วถือว่าเป็นก้อนเงินสำคัญในแต่ละเดือน

"รัฐบาลประกาศอยากให้ประชาชนมีเงินออม ก็ต้องมาช่วยกัน สมทบเงินเข้ามาเพิ่ม ตอนนี้คนทำงานจ่ายร้อยละ 3 นายจ้ายร้อยละ 3 แต่รัฐบาลไม่ช่วยจ่าย ถ้าคนอายุมากมีเงินใช้จ่าย พวกเขาจะไม่กลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม ไม่ใช่ยิ่งแก่ยิ่งแย่ ทั้งสุขภาพการงานชีวิต หลายคนคิดว่าคนแก่ไม่ต้องใช้เงิน แต่ที่จริงคนแก่มีค่าใช้จ่ายเยอะ เช่น ค่าหาหมอ เลี้ยงหลาน ค่าดูแลบ้านต่างๆ"

ส่วนข้อกังวลว่า "เงินกองทุนประกันสังคม" จะไม่พอจ่ายในอนาคตนั้น ป้าวิยืนยันว่า เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเท่านั้น เพราะตอนนี้มีเงินอยู่จำนวนมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท เงินก้อนนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ กองทุนจึงไม่มีกำไรหรือผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
หากมีการบริหารที่ถูกต้องเหมาะสม เชื่อว่าเงินจำนวนนี้จะนำมาซึ่งผลกำไรจำนวนมาก ในอนาคตก็จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถจ่ายคืนเป็นเงินบำนาญให้ผู้ประกันตนที่ควักเงินจ่ายทุกเดือนอย่างไม่เดือดร้อน

"ป้าเห็นมานานแล้วว่าการใช้เงินในกองทุนประกันสังคมอย่างไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่นเอาไปดูงานต่างประเทศตลอด แต่ไม่เห็นเอามาปรับปรุงแก้ไขให้สิทธิประโยชน์คนไทยเพิ่มขึ้น มีแต่คิดวิธีลิดรอนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน หรือเอาเงินไปจัดงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ป้าอยากรู้มากเลยว่า ถ้าเปรียบเทียบเงินกองทุนประกันสังคมของไทยกับประเทศอื่น เราลงทุนอย่างไร หากำไรเข้ากองทุนได้มากกว่าของประเทศอื่นหรือเปล่า ที่ผ่านมามีแต่โชว์ตัวเลขว่าในแต่ละปีทำได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่เคยโชว์ตัวเลขเปรียบเทียบกับกองทุนประกันสังคมประเทศอื่นๆ ถ้าบริหารเงินกองทุนเก่งจริงก็ต้องกล้าโชว์ผลงานว่าเอาไปลงทุนอะไรบ้าง ลงทุนต่างประเทศแล้วทำกำไรมากกว่าคนอื่นอย่างไร หรือว่าทำกำไรได้น้อย บางครั้งอาจขาดทุนด้วยซ้ำแต่ไม่กล้าเปิดเผย" ป้าวิตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย

"ประทีป โมวพรหมานุช" ประธานสหภาพแรงงานสิ่งทอลัคกี้ 3 แสดงความเห็นคัดค้านการยืดอายุเป็น 60 ปี เนื่องจากปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ให้พนักงานเกษียณ 55 ปี

\"เงินชราภาพ\" ทำไมห้ามยืดจ่าย! สิทธิลุงป้า 55 ปี

 "สิทธิที่เกิดขึ้นมาแล้วตามข้อตกลงตั้งแต่แรกว่า จะให้เงินชราภาพตอนอายุ 55 ปี แล้วจะเลื่อนมาเป็น 60 ปี บางคนเดือดร้อนมากเพราะบริษัทไม่มีค่าชดเชยให้ลูกจ้าง หรือเป็นแค่ลูกจ้างรายวัน คนงานอายุ 55 หลายคนรับเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาท แต่พยายามกัดฟันส่งประกันสังคมทุกเดือนมาเป็นสิบปี สุดท้ายอาจได้เดือนละ 3-4 พันบาท หมายถึงมีเงินใช้จ่ายวันละร้อยบาท ดีกว่าไม่มีเลย"

ส่วนข้อกังวลที่กลัวว่าเงินในอนาคตจะไม่พอจ่ายนั้น นายประทีปเชื่อว่าเป็นเพียงคำกล่าวอ้างเท่านั้น เพราะในแต่ละปีมีมนุษย์เงินเดือนเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเงินบางส่วนที่ผู้ประกันตนไม่ได้เบิกไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่นเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตแต่ไม่มีญาติมารับ

ข้างต้นคือความคิดเห็นของตัวแทนแรงงาน ที่ออกมาต่อต้านนโยบายนี้อย่างกว้างขวาง พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านไปที่กระทรวงแรงงาน แต่การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นกับผู้กุมอำนาจของรัฐเท่านั้น ต้องผ่านการมีส่วนร่วมของ "คณะกรรมการประกันสังคม" อีกขั้นหนึ่ง

"ธีระวิทย์ วงศ์เพชร" หนึ่งใน "บอร์ด สปส." หรือ คณะกรรมการประกันสังคม แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ปัจจุบันเงินในกองทุนประกันสังคมยังมีจ่ายค่าบำนาญชราภาพ แต่ในอนาคตเงินก้อนนี้จะลดลงเรื่อยๆ เพราะคนเกษียณอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่การยืดเวลาเป็น 60 ปีทันทีทันใดนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการลดทอดสิทธิของผู้ประกันตน การยืดอายุรับเงินชราภาพควรให้ผู้ประกันตนรุ่นใหม่เป็นผู้ริเริ่มวางแผนชีวิตตัวเองว่า จะรับเงินตอนเกษียณ 50 หรือ 60 ปี ส่วนรุ่นที่ผ่านมาต้องให้ตามสิทธิที่ควรได้

"อาจจัดทำเป็นการยืดอายุจาก 55 เป็น 56, 57, 58, 59 และ 60 ควรค่อยๆ ทำ ไม่ใช่ทำรวดเดียว 5 ปี หรืออาจจัดทำทางเลือกให้เงินก้อนหนึ่งร้อยละ 30 พออายุครบ 60 ค่อยได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือน วิธีนี้อย่างน้อยช่วยคนเกษียณให้มีเงินส่วนหนึ่งนำไปใช้จ่ายหรือลงทุนทำรายได้ เพราะบางคนอายุ 55 ยังแข็งแรงทำงานต่อได้ แล้วก็สะสมเงินเพิ่มเข้าไปอีก จะยิ่งได้เงินชราภาพในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น" นายธีระวิทย์กล่าวแสดงความเห็น


จากท่าทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย การออกนโยบายให้ยืดจ่าย "เงินบำนาญชราภาพ" ออกไป 5 ปี น่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย เครือข่ายแรงงานผนึกกำลังคัดค้านเสียงแข็ง เพราะนั่นคือคำสัญญาที่คุณลุงคุณป้ารอมานานกว่า 20 ปี

logoline