svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำทีวียุคนี้ต้องใจกว้าง ยอมรับความจริง ปรับตัว โวยวายไปไม่ได้ประโยชน์ ทำงานต่อไป

21 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำทีวีต้องใจกว้าง ยอมรับความจริง แล้วอะไรจะเกิดก็ปล่อยมันเกิด ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด (เท่าที่เขายังให้เราทำอยู่)

ถกเถียงกันอย่าดุเดือดหลังปรมาจารย์ด้านข่าวอย่าง สุทธิชัย หยุ่น บอกว่า "ถ้ายังแข่งเรตติ้งกันแบบนี้ คนข่าวที่ผลิตชิ้นงานคุณภาพจะน้อยลงเรื่อยๆ แล้วก็จะมีแต่ข่าวน้ำเน่าที่เรียกเรตติ้ง" ส่วนอีกด้านหนึ่งมองว่า ข่าวทุกข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวกระแสไร้สาระ ต่างก็มีคุณค่าข่าว และสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้นหลังภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป คนหันมาเสพสื่อออนไลน์ ผ่านมือถือ และทุกคนแจ้งเกิดได้บนโลกโซเซียล 

มันก็เลยกลับกัน จากเดิมที่สื่อทีวี หนังสือพิมพ์เป็นคนกำหนดว่าอะไรคือเรื่องสำคัญ ตอนนี้มันไม่ใช่อีกแล้ว 

แต่เรื่องที่คนไม่สนใจ แต่ว่าเป็นปัญหาสังคม ประเด็นการเมือง นโยบายสาธารณะ สิ่งแวดล้อม การทุจริต ยังต้องการรูปการของวารสารศาสตร์ในการอธิบาย เพราะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ค่อนข้างประณีต ผ่านการเรียบเรียงมาอย่างดี มีแบบแผน และน่าเชื่อถือ 
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ทำข่าวพวกนี้ แล้วคนไม่ดู หรือมีคนดูแต่น้อย ก็ต้องทำ 

ทุกวันนี้ทีวีดิจิทัล มีกองบรรณาธิการข่าว หรือฝ่ายข่าวของตัวเอง 

ถ้าหัวเรือใหญ่ยังมีจิตญาณความเป็นนักข่าว และยังตระหนักว่าอาชีพนี้ ยังต้องรับใช้สังคม ไม่ใช่ทำรายการทำข่าวหาเงินอย่างเดียว นักข่าวคุณภาพก็คงไม่ถึงกับสูญพันธุ์ไป 

แต่ถ้าจะให้พิพากษาว่า กองบรรณาธิการข่าวทุกวันนี้ จิตวิญญาณของนักสื่อสารมวลชนหายไม่หมดแล้ว ก็คงพูดไม่ได้ เพราะคนดีดีก็ยังเห็นมีอยู่มาก 

ผม ในฐานะ พนักงานฝ่ายข่าว ผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ผมโชคดีหน่อยที่อยู่ในองค์กรที่มีสิ่งแวดล้อมเปิดกว้าง (คิดประเด็นเองได้ ทำเองได้ เขาให้ทำ)  

ตัวเองอยู่ประจำที่โต๊ะคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม หมายข่าวทุกวันนี้ คนในโต๊ะยังกำหนดกันเองได้ว่า วันนี้จะไปทำเรื่องอะไร และตอนตั้งใจจะไปทำเรื่องไหน ก็ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าเรตติ้งมันจะออกมาดีมั้ย แต่คิดว่าจะทำดีมั้ย เรื่องนี้ดีมั้ย เราอยากรู้มั้ย มันก็ยังพอมีพื้นที่ทำกันได้อยู่นะ .... 

ทำทำไป 

แม้จะไม่หวังเรตติ้ง แต่หวังผลกระทบจากการนำเสนอข่าวนี้ จะออกมาเป็นแบบไหน 

นักข่าวทุกคนก็คาดหวัง impact จากข่าวที่ตัวเองทำทั้งนั้นแหละ   ตอนนี้ก็พยายามจับข่าวที่ทำโยนไปในหลายๆ ช่องทางในโซเซียล เท่าที่จะมีแรงทำได้ 

เข้าใจว่าทางด้านของนักวิชาการ และอาจารย์ทั้งหลาย พยายามหาวิธีการ ว่าทำอย่างไร ข่าวดีดี (ข่าวไม่น้ำเน่า) จะได้มีพื้นที่เยอะๆ (อย่างไทยพีบีเอส ก็เป็นทีวีในฝันของนักวิชาการ แต่โลกความจริง เรตติ้งตกเตี้ยเรี้ยดินมาก คนกลับมาจากที่ทำงานแล้วว่าเครียดแล้ว มาดูข่าวยิ่งเครียด) 

แต่จะให้ทุกช่องเป็นแบบไทยพีบีเอส ก็ไปไล่บี้เอากับ ความคิดในสมองของผู้บริหารทีวี ซึ่งก็แน่นนอน เขาเป็นธุรกิจ หาเงิน ทำยังไงก็ได้ให้ได้เงิน ...ทุกวันนี้หายใจรดต้นคอนะคุณ หาเงินมาจ่ายค่าทีวีดิจิทัลเนี่ย จะมีเงินเหลือจ่ายพนักงานหรือเปล่า 

เอาล่ะ ! ถ้าแบ่งประเด็นออกเป็น 2 เรื่องตอนนี้ คือ 1 เรื่องคนข่าวคุณภาพหายจะไปหรือไม่ ตอบว่าไม่หาย (จริงๆต้องเถียงกันต่อว่า คนข่าวคุณภาพคือแบบไหน เหมือนทำข้อสอบวัดความดีอ่ะ วัดยาก ทุกคนก็บอกว่าตัวเองเป็นคนดีทั้งนั้นแหละ !)

 และ 2 ข่าวดีดีจะมีอยู่หรือไม่ ตอบ มีอยู่ แต่ไม่ค่อยมีคนดู 

ที่บอกแบบนี้ คือให้ยอมรับความจริงว่ามันเป็นแบบนี้... แล้วพวกที่ทำข่าวสืบสวน ข่าวเข้าถึงคนยาก สู้เพื่อสิทธิ ก็ไม่ต้องทนงตัวว่า ฉันนนี่คือนักข่าวน้ำดี ไม่ทำข่าวขยะ สูงส่ง ส่วนพวกที่ทำข่าวกระแสก็ไม่ต้องไปดูถูกพวกนักข่าวที่มันทำข่าวสืบสวนหายไปวันสองวัน กว่าจะได้ แถมทำมาก็ไม่มีคนดู 

อย่าทะเลาะกันเลย ทำทีวีต้องใจกว้าง ยอมรับความจริง แล้วอะไรจะเกิดก็ปล่อยมันเกิด ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด (เท่าที่เขายังให้เราทำอยู่) 

ผมนี่เต็มที่กับทุกเรื่อง ทุกข่าวที่ทำนะ อยากให้งานออกมาดีที่สุด 

แล้วรู้มั้ย นักข่าวตัวเล็กๆ อย่างผม (ที่ตั้งใจทำงาน อิอิ)  อนาคตอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ? 

ผมอยากหาที่ดินทางภาคเหนือ อากาศดีดีสักแห่ง ปลูกบ้านหลังเล็กๆ รับจ็อบเป็นสติงเกอร์ ทำเกษตรพอเพียง เลี้ยงแมววิเชียรมาศ 2 ตัว อยู่กับคนที่เรารัก รับรู้แค่เรื่องราวของตัวเอง ทำกับอร่อยๆกิน และนั่งเปิดทีวี ดูตลก ช่อง 23 

logoline