svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คำถามจาก "สุทธิชัย หยุ่น" ถึงคนข่าว ถึงกาลสูญพันธุ์ของ คนข่าวคุณภาพแล้วหรือ

17 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คอลัมน์ กาแฟดำ ของ สุทธิชัย หยุ่น ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ตั้งคำถามสื่อยุค 4.0 ไว้อย่างน่าสนใจ โดย สุทธิชัย หยุน ผู้ก่อตั้งเครือเนชั่น ย้ำว่า คนทำข่าวรุ่นปัจจุบันที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพสื่อ ที่รับผิดชอบและรับใช้สังคม กำลังเผชิญกับ "วิกฤติทางด้านจิตวิญญาณ"

หากแนวโน้มสื่อยังเดินหน้าในแนว สร้าง ratings หรือเพิ่มจำนวน Likes ในโซเชียลมีเดียด้วยการแข่งกันเสนอเรื่อง "น้ำเน่า" หรือที่มี "ดราม่า" อีกไม่ช้า คนข่าวมีคุณภาพ มีอุดมการณ์ จะหมดสภาพ ไร้ความหวัง และถึงกาล "สูญพันธุ์"

ทั้งนี้เนื้อหาในคอลัมน์ กาแฟดำ ของ สุทธิชัย หยุ่น ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า..

ถึงกาลสูญพันธุ์ของ คนข่าวคุณภาพแล้วหรือ

ภาพนี้มีคนเอาขึ้นเฟซบุ๊ค และตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อจึงแห่กันไปทำข่าวบางเรื่อง ที่เป็นเพียงกระแสชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

ไม่มีสาระต่อสังคมอย่างบ้าระห่ำปานนี้

คนเดียวกันนี้ถามว่า ทำไมเราไม่เห็นภาพนักข่าวยื้อแย่งกันทำข่าวที่มีความสำคัญต่ออนาคตบ้านเมือง ไม่เห็นความกระตือรือร้นของสื่อในการเจาะข่าวลักษณะสืบสวนสอบสวน ปราบคอร์รัปชั่น และหยุดยั้งความชั่วร้ายของสังคมบ้าง

คำถามจาก "สุทธิชัย หยุ่น" ถึงคนข่าว  
ถึงกาลสูญพันธุ์ของ คนข่าวคุณภาพแล้วหรือ



ตัวอย่างเช่นข่าว "สาวโชว์ครีมก้นขาว" กลายเป็นเรื่องที่สื่อทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวีและวิทยุ โดยเฉพาะออนไลน์ทุ่มเทเกาะติดกันทุกแง่ทุกมุมอย่างบ้าคลั่งทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสาระอันใดที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นบวกสำหรับสังคม

หรือข่าวดาราคนไหนมีปัญหา "เตียงหัก" กับใครก็ยังเป็นข่าวที่หลายสำนักข่าวเกาะติดอย่างไม่ลดละ ไม่สนใจว่ามาตรฐานแห่งการทำหน้าที่ของสื่อกำลังจะถูกตั้งคำถามว่าการใช้วิจารณญานเช่นนั้น กำลังจะตอบสนองความต้องการของใคร

หรือเป็นเพียงมาตรฐานของการทำงานของสื่อวันนี้ที่เพียงต้องการจะสร้าง ratings และแย่งคนอ่านคนดูคนฟังเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจเท่านั้นหรือ

ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือว่าหากแนวโน้มยังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ อีกไม่ช้าไม่นานคนข่าว

คุณภาพที่มีหลักการทำงานเพื่อสังคม
เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
เพื่อเป็นกระบอกเสียงของคนด้อยโอกาส
เพื่อเป็นเสาหลักต่อต้านการคดโกง ฉ้อฉล และประพฤติมิชอบของผู้มีอำนาจ
ก็จะ "สูญพันธุ์" ไปต่อหน้าต่อตา

คนทำข่าวรุ่นปัจจุบันที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพสื่อ ที่รับผิดชอบและรับใช้สังคมกำลังเผชิญกับ "วิกฤติทางด้านจิตวิญญาณ" ไม่น้อยไปกว่า "วิกฤติทางธุรกิจ" อันเกิดจากเทคโนโลยี

พวกเขากำลังตั้งคำถามว่า หากหน้าที่ของคนทำข่าววันนี้คือการสร้าง ratings หรือเพิ่มจำนวน Likes ในโซเชียลมีเดียด้วยการแข่งกันเสนอเรื่อง "น้ำเน่า" หรือที่มี "ดราม่า" นั่นย่อมหมายถึงการไปเก็บคลิป และเนื้อหาข่าวจากโซเชียลมีเดียที่ร้อนแรงและสร้างความฮือฮา

พวกเขาต้องเขียนพาดหัวให้หวือหวาเพื่อดึงให้คนมาดูคลิบนั้น ๆ ให้มากที่สุด เพื่ออ้างกับเจ้าของสื่อว่าได้ทำหน้าที่ของตนเองสอดคล้องกับค่าจ้าง โดยไม่สนใจว่าถ้อยความที่เรียกความสนใจจากผู้เสพข่าวนั้น จะตรงกับความเป็นจริงหรือสอดคล้องกับรายละเอียดของข่าวหรือไม่

พวกเขาต้องผละจากหลักการทำข่าวที่มีสาระ เพราะมัน "หนัก" เกินไป หรือเพราะไม่อาจจะทำให้เกิดกระแสกด likes หรือมี followers เพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงโฆษณา เจียดงบประมาณมาให้ได้

เมื่อเจ้าของสื่อไม่เคยคิดจะหาทางสร้างอำนาจต่อรองกับผู้คุมงบโฆษณาด้วยการลงทุนสร้างคนข่าวและเนื้อหาที่มีคุณภาพ ผลที่ตามมาก็จะกลายเป็นการเดินตามนโยบาย "แข่งกันตามล่าข่าวดราม่าเพื่อพิสูจน์ว่าใครสามารถทำข่าวเน่ากว่าใคร"

มาตรฐานคนข่าวทางทีวีและออนไลน์ที่ต้องเผชิญกับภาวะสั่นคลอนเพราะการยื้อแย่งบุคลากรกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านจากจำนวนเดิม เพราะไม่ได้มีการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพก็ยิ่งจะตกต่ำ

คำทำนายของผมคือ

อีกไม่ช้าไม่นาน คนข่าวมีคุณภาพ มีอุดมการณ์ มีความตั้งใจจะทำข่าวเพื่อรับใช้สังคมจะหมดสภาพ ไร้ความหวัง และถึงกาล "สูญพันธุ์" อย่างแน่นอน

หนทางป้องกันหายนะแห่งวงการคนข่าวคุณภาพจะต้องมาจากการระดมความคิดอ่าน และการผลักดันของคนในสังคมทั้งมวล มิอาจพึ่งพาเจ้าของทุน ผู้บริหาร หรือคนข่าวที่กระจัดกระจายเพียงเพื่อความอยู่รอดวัน ๆ เท่านั้น

ผมหวังจะได้เห็นความตื่นตัวของสังคมเพื่ออันตรายอันใหญ่หลวงครั้งนี้อย่างเร่งร้อนและจริงจัง

logoline