svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

“คัดลอก VS อ้างอิง” ต่างกันอย่างไร? ประเด็นสำคัญทางวิชาการที่ไม่ควรมองข้าม

23 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การอ้างอิง (referencing) มีส่วนที่ทำให้วงการวิชาการของโลกสามารถนำองค์ความรู้ที่เคยมีคนศึกษาอยู่แล้วเพื่อนำไปต่อยอดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ แต่ถ้านำสิ่งที่คนอื่นเคยศึกษาไปใช้โดยไม่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง มันอาจกลายเป็นการคัดลอก (plagiarism) โดยทันที

จากกรณีที่พบการคัดลอกงานวิจัยของ ส.ว. ท่านหนึ่ง ซึ่งมีทั้งส่วนที่คัดลอกมาโดยไม่ใส่อ้างอิง และบางส่วนที่คัดลอกเนื้อหามาโดยมีการอ้างอิง นำมาสู่ข้อสงสัยว่า อะไรคือการอ้างอิงที่ถูกต้อง? และอะไรคือการคัดลอกผลงาน?

การอ้างอิงคืออะไร?

หากใครเคยเขียนหรืออ่านงานวิชาการจะต้องทราบแน่นอนว่า การอ้างอิง (referencing) คือสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่แพ้เนื้อหา เมื่อเรานำเนื้อหาหรือข้อความจากที่อื่นมาใช้ในงานของเรา เราจำเป็นต้องให้เครดิตหรือเขียนอ้างอิงถึงงานนั้น ด้วยการใส่แหล่งที่มาของข้อมูล ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านงานของเราสามารถเข้าถึงข้อมูลต้นทาง รวมถึงสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ ที่สำคัญยังเป็นการเคารพและให้เกียรติต้นฉบับที่เรานำข้อมูลมาใช้ด้วย

นอกจากนี้การมีอ้างอิงยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในงานของเราด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หากมีการยกตัวอย่างทฤษฎีหรือแนวคิดของผู้อื่นมาช่วยสนับสนุน มุมมองหรือข้อโต้แย้งที่เรานำเสนอก็จะมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือขึ้นกว่าการนำเสนอแค่แนวคิดของเราอย่างเดียว
 

การอ้างอิงจะแบ่งหลักออกเป็น 2 แบบคือ

อ้างอิงในเนื้อหา (citation) จะใส่เข้าไปในส่วนเนื้อหาเลย โดยจะมีสองแบบย่อย คือ อ้างอิงแทรกในเนื้อหา (citing references in Text) จะใส่ไว้หลังข้อความหรือเนื้อหาส่วนที่เรานำมาใช้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ โดยหลักแล้วจะใส่ชื่อและปีที่พิมพ์ผลงานลงไป อีกชนิดคือ อ้างอิงด้านล่าง หรือ ที่เรียกว่า ‘เชิงอรรถ’ (footnote) มักจะใส่ไว้ด้านล่างหน้ากระดาษของเนื้อหา

บรรณานุกรม (bibliography) เป็นการใส่รายละเอียดทั้งหมดของแหล่งข้อมูลที่เราใช้ไว้หลังงานของเรา โดยจะอยู่เป็นส่วนสุดท้ายของงาน ซึ่งรายละเอียดของบรรณานุกรมจะประกอบไปด้วย ชื่อผู้เขียน และวันที่เขียน รายละเอียดการตีพิมพ์เนื้อหาด้วย ทั้งนี้บรรณานุกรมจะรวมถึงเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือมุมมองของเราในงาน แต่ไม่ได้ใส่เอาไว้ในส่วนของอ้างอิงในเนื้อหา

อย่างไรก็ตามก็มีเนื้อหาบางส่วนที่เราไม่จำเป็นต้องอ้างอิงเช่นกัน อาทิ  เนื้อหาที่นำเสนอภาพรวมทางประวัติศาสตร์, เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง, เนื้อในส่วนสรุปที่ยกตัวอย่างซ้ำกับเนื้อหาที่เคยกล่าวไป, และเนื้อหาที่เรียกได้ว่าเป็นความรู้ทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่อง 
 

การคัดลอกผลงานคืออะไร?

การคัดลอกผลงาน (plagiarism) คือการคัดลอกหรือนำแนวคิด คำพูด ภาพ ข้อมูลทางสถิติ หรืองานสร้างสรรค์ใดๆ ของผู้อื่น มาใช้ประกอบงานของตัวเองโดยไม่มีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาบนเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ทุกเนื้อหาไม่ว่าจะรูปแบบไหนหากเรานำมาใช้โดยไม่ให้เครดิตถึงต้นทางล้วนเข้าข่ายการคัดลอกผลงานทั้งสิ้น

แม้ว่าจะไม่ได้คัดลอกมาคำต่อคำ แต่การคัดลอกผลงานยังรวมถึงการนำเนื้อหามาเรียบเรียงใหม่ (paraphrasing) การปรับหรือเปลี่ยนคำหรือใช้คำความหมายที่คล้ายกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจพบเนื้อหาคัดลอก รวมถึงการบังเอิญนำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ โดยมีการอ้างอิงที่ไม่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ถือว่าเข้าข่ายการคัดลอกผลงานเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้เราสามารถป้องกันประเด็นเรื่องการคัดลอกผลงานได้ด้วยการใส่อ้างอิงสำหรับเนื้อหาที่เรานำมาจากแหล่งอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานที่จะตามมาภายหลัง โดยสามารถเลือกใช้วิธีการอ้างอิงที่เหมาะสมตามแต่ละเนื้อหาได้

 

บทลงโทษของการคัดลอกผลงาน

ปัจจุบันวงการวิชาการทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับประเด็นการคัดลอกผลงานเป็นอย่างมาก เพราะในบางประเทศการคัดลอกไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดหลักจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการทำผิดกฎหมายด้วย 

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่แล้วผู้มีความผิดฐานคัดลอกผลงานผู้อื่นถือว่ามีความผิดลหุโทษ โดยมีโทษปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในบางกรณีอาจถูกพิจารณาให้เป็นความผิดทางอาญา ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระเมิดลิขสิทธิ์ทั้งกฎหมายในแต่ละรัฐและรัฐบาลกลาง ซึ่งจะมีโทษปรับสูงสุด 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ในกรณีที่ผู้คัดลอกได้กำไรจากผลงานที่คัดลอกมาเกินกว่า 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

หรืออย่างในประเทศออสเตรเลีย การคัดลอกผลงานเข้าข่ายความผิดทางคดีอาญา โดยผู้กระทำผิดจะมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และ/หรือ ปรับไม่ต่ำกว่า 600,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 1968 (เครือจักรภพ) นอกจากนี้ยังอาจถูกดำเนินคดีทางแพ่งที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

ส่วนการคัดลอกผลงานในประเทศไทยนั้นเข้าข่ายกฎหมายการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยหากทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงจะมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท ถ้าหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000–800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทว่าทำการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000–100,000 บาท ถ้าหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000–400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากความผิดทางกฎหมายแล้ว แน่นอนว่าผู้คัดลอกผลงานยังได้รับการลงโทษทางวินัย ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามระเบียบและข้อบังคับในแต่ละสถานศึกษา โดยความรุนแรงอาจมีตั้งแต่ การถูกตักเตือนในกรณีของนักเรียนหรือนักศึกษา การถูกไล่ออก จนถึงการถูกเพิกถอนตำแหน่งทางวิชาการ 

การคัดลอกผลงานนั้นไม่ต่างอะไรกับการขโมยผลงานของผู้อื่น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการคัดลอก การอ้างอิงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะเขียนหรือทำงานในแวดวงวิชาการควรจะทำความเข้าใจเอาไว้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline