svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ชวนไขความต่างระหว่าง ชาเขียว-มัทฉะ พร้อมคุณประโยชน์ที่รู้แล้วต้องดื่ม

06 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

6 กุมภาพันธ์ : วันแห่งชาเขียว (Matcha No Hi) เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ชาเขียว” กับ “มัทฉะ” เครื่องดื่มยอดนิยมของนักดื่มในทศวรรษนี้ พร้อมโยงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่บอกเลยว่าควรรีบหามาดื่ม!!

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น "วันแห่งชาเขียวของญี่ปุ่น" หรือ Maccha No Hi ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะจัดพิธีการชงชาแบบดั้งเดิมและพิธีการดื่มชาในสไตล์ Matcha พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของชาเขียว ที่นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว กว่าจะมาเป็นชาเขียวก็มีเรื่องราวขั้นตอนกรรมวิธีที่สอดแทรกขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่างๆ ไว้อย่างงดงาม ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนการชงชาอันประณีต

ชวนไขความต่างระหว่าง ชาเขียว-มัทฉะ พร้อมคุณประโยชน์ที่รู้แล้วต้องดื่ม

“ชาเขียว” กับ “มัทฉะ” ต่างกันอย่างไร?

เครื่องดื่มสีเขียวที่บางร้านเรียก “ชาเขียว (Green Tae)” บางร้านก็ “มัทฉะ (Matcha)” กลายเป็นคำถามเจ้าปัญหาของชาวชาเลิฟเวอร์ว่า “ชาเขียว กับ มัทฉะ ต่างกันอย่างไร ในเมื่อก็ได้ชื่อว่าชาเขียวเหมือนกัน” จริงๆ แล้วก็หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะทั้ง ชาเขียว และ มัทฉะ ล้วนจัดอยู่ในโลกของชาเขียวเหมือนกัน แต่ถ้าให้พูดถึงความแตกต่างกันจริงๆ ก็สามารถเปรียบเทียบกันประเด็นต่อประเด็นได้ดังนี้

ชวนไขความต่างระหว่าง ชาเขียว-มัทฉะ พร้อมคุณประโยชน์ที่รู้แล้วต้องดื่ม

พื้นที่และการปลูก

ชาเขียว : กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของชาเขียว (Green tea) ในปัจจุบันมาที่มาจากประเทศจีน มักปลูกในที่แจ้ง มีแสงแดดส่องถึง

มัทฉะ : มัทฉะ (Matcha) ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น และมักปลูกในที่ร่มช่วง 2–3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว

กระบวนการแปรรูป

ชาเขียว : ใบชาเขียวทั่วไป มีกระบวนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปได้หลายวิธี เช่น นำใบชาเขียวไปผ่านการตากแดด การคั่วชา (pan firing) หรือนึ่ง จากนั้นจึงนำไปทำให้แห้ง ชาเขียวที่ได้มักจะมีลักษณะเป็นใบชาแห้งเกลียว

มัทฉะ : ชาเขียวชนิดมัทฉะ เมื่อถูกเก็บเกี่ยวแล้วจะถูกนำไปนึ่งและอบแห้งอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเกิดออกซิเดชัน จากนั้นจะนำก้านและเส้นใบออก แล้วเอาไปบดละเอียดจนได้ผงมัทฉะสีเขียวสดใส

วิธีการชง

ชาเขียว : ทำได้ด้วยการนำใบชาแห้ง (dried leaves tea) หรือถุงชา (tea bag) มาแช่กับน้ำร้อน ก่อนจะสกัดได้เป็นน้ำชาใสสีเขียวเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน สามารถนำไปปรุงรสชาติหรือเติมนมได้

มัทฉะ : ทำได้ด้วยการนำผงมัทฉะมาผสมกับน้ำร้อนในถ้วยขนาดเล็กและตีด้วยก้านไม้ไผ่เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน จะได้เป็นน้ำชาเขียวสีเขียวเข้มสด มีความเข้มข้นสูง สามารถนำไปเจือจางกับนมได้

รสชาติ

ชาเขียว : ชาเขียวจะมีกลิ่นความเป็นดิน (Earthy) และ กลิ่นต้นไม้ใบหญ้า (Grassy / vegetable-like) มีรสชาติฝาดหรือเฝื่อนเล็กน้อย บอดี้เบาบาง ให้ความสดชื่น

มัทฉะ : ชาเขียวมัทฉะจะมีกลิ่น Earthy และ Grassy เหมือนกันกับชาเขียวชนิดอื่น แต่จะมีรสชาติพิเศษที่ซับซ้อนกว่า มีความหวานและขม บอดี้แน่น

ชวนไขความต่างระหว่าง ชาเขียว-มัทฉะ พร้อมคุณประโยชน์ที่รู้แล้วต้องดื่ม

 

เปิดโลกมัทฉะ

มัทฉะ (Matcha) คือผงชาที่ผลิตมาจากใบเทนฉะ (Tencha) ที่ปลูกกันในประเทศญี่ปุ่น โดยต้นชาเหล่านี้จะได้รับการปลูกแบบคลุมแสง (Shading) เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสารธีอะนีน (Theanine) เป็นแคทีชิน (Catechin) ที่ใบชาเมื่อโดนแสงแดด ก่อนจะค่อยๆ ถูกคัดสรรยอดใบชาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยว เพื่อที่จะนำไปเข้าสู่กระบวนการนึ่ง (Steaming) และการโม่บดให้ใบเทน ฉะนั้นออกมาเป็นผงชาที่มีสีเขียวสวยและคุณภาพดี 

โดยปัจจัยที่ทำให้มัทฉะมีสีหรือคุณภาพที่ต่างกันไปจะขึ้นอยู่กับทั้งแหล่งที่ปลูก สายพันธุ์ ฤดูกาลเก็บเกี่ยว สภาพอากาศ และดินในแต่ละปี รวมไปถึงตัวแปรอย่างการโม่ ที่สามารถส่งผลถึงคุณภาพของผงชาได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งมัทฉะเกรดสูงมากเท่าไร ตัวผงชาก็จะมีสีเขียวสว่างที่สวยงามขึ้นเท่านั้น ให้รสที่ขมน้อยลง จนถึงกับไม่ขมไปเลย แถมมีความอูมามิเพิ่มขึ้นด้วย เพราะแบบนี้เองมัทฉะจึงได้ถูกแบ่งเกรดแยกย่อยออกไปตามหมวดหมู่ในการใช้งาน เช่น เกรดเบเกอรีสำหรับทำขนม เกรดพิธีชงชาสำหรับดื่มในพิธีการอย่าง Usucha และ Koicha เป็นต้น 

ประเภทของมัทฉะ

1. Ceremonial Grades เป็นมัทฉะที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก เรียกว่า “Ichibancha” ชาเขียวมัทฉะในเกรดนี้จะมีคุณภาพสูงสุด ให้รสชาติที่นุ่มนวลเป็นพิเศษ สีเขียวสดกว่าชนิดอื่น มีราคาสูง และเหมาะกับการนำไปชงแบบวิธีดั้งเดิม

2. Culinary Grades เป็นมัทฉะที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งที่ 2 เรียกว่า “Nibancha” จะยังคงมีสีเขียวสดแต่อาจหม่นลงมาจากเกรดแรก ให้รสชาติที่ฝาดขึ้น เกรดนี้จึงเหมาะแก่การนำไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น มัทฉะลาเต้

3. Ingredient Grades มัทฉะในเกรดนี้จะได้จากการเก็บเกี่ยวภายหลังจาก 2 รอบแรก ใบชาจะมีสีเขียวออกเหลืองมากขึ้น ให้รสชาติที่ขมโดดเด่น จึงเหมาะแก่การนำไปเป็นส่วนผสมของการผลิตอาหารหรืออาหารเสริม

ปริมาณคาเฟอีนในมัทฉะ

“คาเฟอีน” เป็นสารที่มักปรากฏอยู่ในตระกูลชาหรือชาเขียวเป็นปกติ เพียงแต่ปริมาณคาเฟอีนในมัทฉะจะมีมากกว่าชาเขียวทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นผลพวงมาจากการปลูกชาในที่ร่มทำให้คาเฟอีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วมัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 25–70 mg. ขณะที่ชาเขียวจะมีปริมาณคาเฟอีนเฉลี่ย 24 – 40 mg.

อย่างไรก็ตาม มัทฉะ ยังคงเป็นเมนูเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหากเทียบปริมาณคาเฟอีนของมัทฉะกับกาแฟที่มีคาเฟอีนสูงถึง 95 mg. แล้ว มัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนที่น้อยกว่านั่นเอง

ความแตกต่างด้านคุณค่าสารอาหารของมัทฉะและชาเขียว เนื่องจากมัทฉะมีความเข้มข้นสูงจึงให้สารอาหารที่มากกว่าชาเขียวทั่วไป 5-10 เท่า หลักๆ แล้วจะให้ประโยชน์ในเรื่องของช่วยในการเผาผลาญไขมัน มีทั้งแร่ธาตุและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยมัทฉะ 1 กรัม มีสารทาเคชินสูงถึง 150 มิลลิกรัม มีค่าโอแรค (ORAC) หรือค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพสารต้านอนุมูลอิสระมากถึง 1,300 กรัม อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี และอี ที่มีส่วนช่วยชะลอวัยทำให้ดวงตา และผิวพรรณสดใส ช่วยเพิ่มพลังได้อย่างดี

นอกจากนี้ การดื่มมัทฉะไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างการดื่มกาแฟ เหตุผลเพราะในมัทฉะประกอบไปด้วยแอล-ทีอะนีน ที่ช่วยชดเชยผลข้างเคียงจากคาเฟอีน และช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ผู้ดื่มแทนที่จะเป็นความสดชื่นเพียงชั่วครู่ชั่วคราว และยังช่วยให้ความจำ และการจดจ่อดีขึ้นด้วย

ชวนไขความต่างระหว่าง ชาเขียว-มัทฉะ พร้อมคุณประโยชน์ที่รู้แล้วต้องดื่ม

คุณประโยชน์ของมัทฉะ

  • สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ในชาเขียวมัทฉะ อุดมไปด้วยคาเทชิน (Catechins), EGCG (Epigallocatechin Gallate) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระทางธรรมชาติ ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดได้ในชั้นเซลล์และลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหลายชนิด มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลดริ้วรอย ป้องกันผมร่วง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
  • สร้างความตื่นตัวและเพิ่มการทำงานของสมอง ในมัทฉะมีสารประกอบ L-Theanine ที่สร้างความตื่นตัวได้ในปริมาณที่พอดีและไม่ทำให้เกิดผลกระทบจากคาเฟอีนเหมือนในกาแฟ มัทฉะสามารถเพิ่มการทำงานของสมองได้ดีขึ้น การบริโภคมัทฉะปริมาณ 2 กรัมต่อวันติดต่อกัน 2 เดือน จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมองในผู้สูงอายุได้
  • ช่วยดีท็อกซ์สิ่งตกค้าง สารคลอโรฟิลล์ในมัทฉะ นอกจากจะให้สีสันเขียวสดใส ยังมีประโยชน์ในการล้างสารพิษ ไม่ว่าจะสารเคมีหรือโลหะหนักที่ตกค้างในร่างกาย
  • มีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก ในมัทฉะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะสารกลุ่มคาเทชินที่ช่วยเรื่องระบบเผาเผลาญมากกว่าชาเขียวทั่วไปถึง 3 เท่า การดื่มมัทฉะเป็นประจำจึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานและไขมัน ช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล ลดคอเรสเตอรอล และช่วยลดความอยากอาหารได้
  • ช่วยผ่อนคลายและสร้างสารความสุข มัทฉะสามารถส่งเสริมการสร้างโดปามีนและเซโรโทนินได้ ซึ่งเป็นสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นอารมณ์ สร้างความสุข เพิ่มความจำ และเพิ่มสมาธิ
  • ช่วยปรับสมดุลและบำรุงร่างกาย มัทฉะอุดมไปด้วยวิตามินบี ซี และอี ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของร่างกาย บำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีส่วนช่วยในการขยายหลอดลม เป็นต้น
  • บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ในมัทฉะมีสารธีโอฟิลลีน และธีโอโบรมีน ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ช่วยในการขยายหลอดลม เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ลดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและอาการปวดเค้นหัวใจ นอกจากนี้ยังช่วยให้ตื่นตัว ลดความตึงเครียด และรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย
  • ช่วยบำรุงผิวให้สุขภาพดี ดูอ่อนกว่าวัย มัทฉะมีคลอโรฟิลล์ และสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิดที่มีส่วนช่วยในให้ผิวมีสุขภาพดี ขับสารพิษ ทำให้รูขุมขนดูเล็กลง ลดเลือนริ้วรอย และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ผิว
  • ช่วยลดกลิ่นปาก มัทฉะมีฟลูออไรด์ซึ่งจะช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และกำจัดจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ภายในช่องปากได้ เช่น การป้องกันฟันผุ รวมทั้งช่วยบำรุงสุขภาพเหงือกและฟัน และป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ (คราบพลัค) ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้อีกด้วย

 

 

logoline