svasdssvasds
เนชั่นทีวี

รักษ์โลก

บันทึกการเดินทาง จาก “ขยะมูลฝอย” สู่ “ปุ๋ยอินทรีย์”

22 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กทม.เปิดมุมมอง “ขยะเศษอาหาร” กับปลายทางที่เราไม่เคยเห็น ผ่านบันทึกการเดินทางจาก "ขยะมูลฝอย" สู่ "ปุ๋ยอินทรีย์"

เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เพื่อกระตุ้นต่อมรักษ์โลกและปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม Nation STORY มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับเส้นทางของขยะมูลฝอย จากหน่วยงานราชการที่เป็นแบบอย่างในเรื่องของการจัดการกับขยะอย่าง “กรุงเทพมหานคร” มาฝาก

ในขณะที่เราทิ้งขยะเศษอาหารลงถัง หรือเวลาที่เราไปจ่ายตลาดแล้วเห็นพ่อค้า แม่ค้าคัดผักหรือผลไม้ที่ไม่สวยทิ้ง เคยสงสัยกันไหมว่า เศษอาหารเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

บันทึกการเดินทาง จาก “ขยะมูลฝอย” สู่ “ปุ๋ยอินทรีย์”

ครั้งนี้ขอพาทุกท่านติดตามการเดินทางของขยะเศษอาหาร จากจุดทิ้งขยะสู่การแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ผ่านการทำงานของ “ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเก็บขยะเศษอาหารในกรุงเทพมหานคร

จากขยะสู่ปุ๋ยอินทรีย์: กระบวนการที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ช่วงเช้าของทุกวัน ภาคินและทีมงานเริ่มต้นภารกิจเก็บกวาดตลาดมหานาค พวกเขาออกเดินทางด้วยรถเก็บขยะ มุ่งหน้าสู่จุดทิ้งขยะที่เต็มไปด้วยขยะเศษอาหารจากร้านค้าและแผงขายของ

"เมื่อมาถึงจุดรับขยะ เราจะเริ่มแยกขยะโดยแยกถุงพลาสติกออกจากเข่งผัก เพื่อที่เราจะเอาผักอย่างเดียว ไปทำปุ๋ยต่อไป" ภาคินอธิบายถึงขั้นตอนแรกของกระบวนการ

บันทึกการเดินทาง จาก “ขยะมูลฝอย” สู่ “ปุ๋ยอินทรีย์”

"เราไม่เทรวมนะครับ ขยะอินทรีย์จะถูกแยกออกจากขยะประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด" ภาคินย้ำถึงจุดยืนของโครงการไม่เทรวม งานแยกขยะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนจัด พวกเขาต้องเผชิญกับความร้อนและกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง แต่ด้วยความทุ่มเทและความมุ่งมั่น พวกเขาทำงานอย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

"เหนื่อยนะครับ ยิ่งวันที่ร้อน ๆ เนี่ย ตับแตกเลย" ภาคินเล่าด้วยรอยยิ้ม

บันทึกการเดินทาง จาก “ขยะมูลฝอย” สู่ “ปุ๋ยอินทรีย์”

ปริมาณขยะที่มหาศาล สะท้อนภาพวิถีเมือง

"บางวันก็ 3 ตัน บางวันก็ 4 ตัน ครับ แล้วแต่วันเลย อย่างช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้หยุดนะ ขยะก็ราวๆ นั้นเลย" ภาคินเผยถึงปริมาณขยะเศษอาหารที่พวกเขาต้องจัดการในแต่ละวัน

50% ของกองขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นขยะเศษอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

 

ทำงานแข่งกับเวลา เพื่อความสะอาดของเมือง

"ต้องทำงานแข่งกับเวลาครับ เพราะรถเข้ามาในตลาดตลอด และถนนไปได้ทางเดียว เลยต้องแข่งกับเวลา" ภาคินอธิบายถึงอีกหนึ่งความท้าทาย เขาเสริมว่าการทำงานส่วนใหญ่ราบรื่นเพราะพ่อค้า แม่ค้าในตลาดให้ความร่วมมืออย่างดีในการแยกขยะเศษอาหารเบื้องต้น

พวกเขาต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เก็บขยะให้เสร็จภายใน 10 โมง เพื่อให้รถขนขยะประเภทอื่นคันต่อไปสามารถเข้ามาทำงานต่อได้ เพื่อไม่รบกวนพ่อค้า แม่ค้าในตลาด รวมถึงประชาชนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย

บันทึกการเดินทาง จาก “ขยะมูลฝอย” สู่ “ปุ๋ยอินทรีย์”

บทสรุป: ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ

เราติดตามรถเก็บขยะมาถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ที่นี่มีกระบวนการแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ขยะเศษอาหารถูกเทลงบนกองใหญ่ พนักงานจะทำการคัดแยกอีกครั้ง เพื่อให้มีแต่ขยะเศษอาหารเท่านั้น ก่อนนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เช่น ใบไม้ เศษไม้ มูลสัตว์ ฯลฯ หมักจนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการ

โครงการ "ไม่เทรวม" พิสูจน์แล้วว่า กทม. แยกขยะจริง และการแยกขยะช่วยลดปริมาณขยะอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2566 ปริมาณขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตันต่อวัน ส่งผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ดังนี้

  • ลดปริมาณขยะ 74,460 ตันต่อปี
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย 141,474,000 บาทต่อปี
  • ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะ 387,600 บาทต่อวัน

ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่แยกขยะก่อนทิ้ง ส่งผลดีต่อระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างเมืองหลวงให้สะอาด ประชาชนสามารถเริ่มแยกขยะง่าย ๆ เพียงใส่ถุงแยกประเภท หรือใส่ถุงดำพร้อมเขียนข้อความระบุประเภทขยะ ดังนี้

  • ขยะเศษอาหาร: เศษผักผลไม้ เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์
  • ขยะทั่วไป: ถุงพลาสติกเปื้อนอาหาร ซองบะหมี่ ถุงขนม กล่องโฟม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
  • ขยะอันตราย: หลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ยาหมดอายุ กระป๋องสเปรย์ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ
  • ขยะรีไซเคิล: กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ

 

 

logoline