svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

สดใสและสวยเก๋ รู้จักศิลปะป๊อปอาร์ตในแบบฉบับ “David Hockney“

22 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเห็นภาพ A Bigger Splash (1967) ของ เดวิด ฮอกนีย์ ครั้งแรกก็เหมือนคุณไปสะดุดเข้ากับอะไรสักอย่าง มันคือภาพสระน้ำที่วาดด้วยสีสดใสทว่าสบายตา ในแวบแรกที่เห็น สระน้ำสีฟ้าดูคล้ายกับมีคราบเปื้อนสีขาว แต่เมื่อมองใกล้ๆ มันคือฟองน้ำที่แตกกระจายหลังใครบางคนกระโดดลงไปในสระ

ในตอนที่ผ่านๆ มา เราเล่าถึงศิลปินเอกของโลกทั้งหญิงและชายไปแล้ว เพื่อให้เข้ากับความหลากหลายทางเพศในโลกยุคปัจจุบัน ในตอนนี้เราขอเล่าถึงศิลปินเอกของโลกอีกคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กันบ้าง ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney)

Artist (Pool with Two Figures) (1972). ภาพจาก Wikimedia Commons

เดวิด ฮอกนีย์ คือศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ เขาเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญในกระแสศิลปะป๊อปอาร์ตยุค 60s และเป็นหนึ่งในศิลปินอังกฤษที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20-21 จากผลงานภาพวาดสีสันสดใสฉูดฉาด จัดจ้าน เต็มไปด้วยความเก๋ไก๋ เปี่ยมสไตล์ และความฉลาดหลักแหลม จนเป็นที่จดจำของคนรักศิลปะทั่วโลกอย่างยากจะลืมเลือน ที่สำคัญ ผลงานศิลปะที่แสดงความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผยของเขานั้น ส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อโลกศิลปะทั้งในด้านสังคมและการเมือง
 

เช่นเดียวกับศิลปะป๊อปอาร์ตคนอื่นๆ ฮอกนีย์หยิบฉวยเอาสไตล์ของงานโฆษณาและสื่อสารมวลชนมาใช้ในภาพวาดของเขา แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากศิลปินป๊อปอาร์ตคนอื่นๆ ก็คือความหลงใหลในศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) และด้วยจิตวิญญาณแห่งคิวบิสม์ แทนที่ฮอกนีย์จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว เขาผสมผสานมุมมองหลากหลายเข้าด้วยกันในฉากเดียว เพื่อสร้างภาพหลากมุมมองที่ดูเหมือนถูกคลี่ให้กางออกมาให้เห็นแพตเทิร์นทุกด้านพร้อมกันจนดูแปลกตาน่าพิศวง อย่างเช่นภาพบ้านต่างระดับในแคลิฟอร์เนีย หรือภาพแกรนด์แคนยอน ที่ดูแปลกประหลาดท้าทายสายตาและสามัญสำนึกของผู้ชมอย่างยิ่ง

สิ่งที่แตกต่างจากศิลปินป๊อปอาร์ตคนอื่นๆ อีกอย่างก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของคนดัง เซเลบ ซูเปอร์สตาร์ หรือคนที่มหาชนรู้จัก ฮอกนีย์กลับชมชอบนำเสนอเรื่องราวส่วนตัว ภาพของเพื่อนฝูงคนรอบตัว และฉากในชีวิตประจำวัน ซึ่งกลายเป็นแนวทางที่ส่งอิทธิพลให้ศิลปินป๊อปอาร์ตรุ่นหลังหลายต่อหลายคน เขายังเป็นที่รู้จักอย่างมากจากการใช้ชีวิตเป็นเกย์อย่างเปิดเผย และสนับสนุนสิทธิของเกย์อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกศิลปะที่ส่วนใหญ่ถูกชี้นำโดยศิลปินเพศชายแมนๆ ที่มองว่าสีสันอันสดใสสวยเก๋เป็นสีตุ้งติ้งแต๋วแตก การใช้สีเขียวสดใส สีม่วงบานเย็น สีชมพู และสีเหลืองอร่ามของฮอกนีย์ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการสนับสนุนเสรีภาพทางเพศอย่างชัดแจ้งแดงแจ๋

ดังเช่นผลงานในยุคแรกๆ ของฮอกนีย์ เป็นการทดลองกับงานแนวนามธรรมเปี่ยมสีสัน และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แฝงที่แอบบอกใบ้ถึงตัวตนและความเป็นรักร่วมเพศของเขา อย่างเช่นผลงานอย่าง The Third Love Painting (1960) และ We Two Boys Together Clinging (1961)

We Two Boys Together Clinging (1961). ภาพจาก Wikimedia Commons
 

ถึงแม้จะเป็นหนึ่งศิลปินผู้บุกเบิกการทำงานวาดภาพแบบเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย (Photorealism) แต่ฮอกนีย์ก็เป็นศิลปินที่จงใจแหกทุกกฎเกณฑ์ และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าขนบธรรมเนียมนั้นมีไว้ถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแหกขนบการวาดภาพเหมือนจริงด้วยการใช้ดวงตาสังเกตจากธรรมชาติเท่านั้น (พูดง่ายๆ ก็คือไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยนั่นแหละนะ) โดยในปี 2001 เขากับผู้เชี่ยวชาญสาขาฟิสิกส์และทัศนศาสตร์ ชาร์ลส์ เอ็ม ฟัลโก (Charles M. Falco) ร่วมกันเขียนงานวิจัยที่มีชื่อว่า ‘Hockney-Falco thesis‘ และตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters ที่ตั้งสมมติฐานว่า ศิลปินชั้นครูในยุคโบราณอย่าง โยฮันเนส เวอร์เมียร์ (Johannes Vermeer), ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez), หรือ กานาเลตโต (Canaletto) นั้นใช้เทคนิคลักไก่ในการวาดภาพอย่าง Camera Obscura (กล้องทาบเงา ที่เปรียบเสมือนกล้องถ่ายภาพหรือโปรเจกเตอร์รุ่นแรกๆ ของโลก) เพื่อช่วยให้วาดภาพได้เหมือนจริงยิ่งขึ้น ราวกับจะบอกเป็นนัยว่า ถ้าศิลปินชั้นครูเหล่านั้นใช้เครื่องทุ่นแรง ทำไมศิลปินในปัจจุบันอย่างเราๆ จะใช้ไม่ได้ล่ะ? (ฮอกนีย์เองก็ใช้เทคนิค Camera Obscura ด้วยเหมือนกัน)

ในช่วงปลายยุค 1960s เขาย้ายไปพำนักที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และหันมาวาดภาพพอร์ตเทรตของเพื่อนๆ คนรัก ครอบครัว และญาติๆ ที่อยู่ในอิริยาบถที่ผ่อนคลาย ไลฟ์สไตล์แบบชิลๆ เก๋ๆ โดยใช้สีสันสดใสในสไตล์ป็อปอาร์ต และรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างความเหมือนจริงและลักษณะที่คลี่คลายแบบภาพการ์ตูน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานโฆษณาและวัฒนธรรมบริโภคนิยม อย่างเช่นผลงาน  Mr and Mrs Clark and Percy (1970–71)

Mr and Mrs Clark and Percy (1970–71). ภาพจาก Wikimedia Commons

ด้วยมนต์สเน่ห์ของแสงตะวัน ท้องฟ้า ทะเล หาดทราย และบรรดาหนุ่มๆ น้อยใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย ที่มักจะขลุกกันอยู่ในสระว่ายน้ำ ทำให้สระว่ายน้ำกลายเป็นหัวข้อโปรดในการวาดภาพในช่วงนี้ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในชุดนี้ของเขาอย่าง A Bigger Splash (1967) ที่เป็นภาพน้ำในสระแตกกระจายราวกับใครบางคนกระโดดลงสระตูมใหญ่ ผลงานของเขาในช่วงนี้ส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่ชัดเจนเกี่ยวกับเซ็กส์และรักร่วมเพศ อันแสนเย้ายวน (โฮโม-อิโรติก) ด้วยความมีอิสระเสรีและความเปิดกว้างทางเพศในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศอังกฤษประเทศบ้านเกิดของเขา ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมและคับแคบทางเพศกว่าเป็นไหนๆ ผลงานในช่วงนี้นี่เองที่ผลักเขาให้ไปยืนโดดเด่นอยู่บนแถวหน้าของศิลปะกระแสป็อป (pop art) ของอเมริกันในที่สุด

A Bigger Splash (1967). ภาพจาก Wikimedia Commons

นอกจากเป็นจิตรกรชั้นเยี่ยมแล้ว เขายังเป็นนักวาดภาพประกอบชั้นยอด และเป็นนักทำภาพพิมพ์ชั้นครู เขาวาดภาพประกอบให้กับเรื่องสั้น บทกวี และนิทานหลายต่อหลายเรื่อง เขายังเป็นนักออกแบบฉากและนักออกแบบเสื้อผ้าให้กับละครเวที และยังเป็นช่างภาพที่มีฝีมือโดดเด่นและมีความคิดล้ำหน้าที่สุดคนหนึ่งในวงการอีกด้วย

ด้วยความที่ฮอกนีย์เกิดมาพร้อมกับอาการซินเนสเตเซีย (synesthesia) อาการทางสมองที่ประสาทสัมผัสทั้งสี่ อย่างการมองเห็นสีสัน การได้ยิน การสัมผัส และการดมกลิ่นผสมผสานปนเปเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก ทำให้เขามองเห็นสีสันเวลาได้ยินเสียงเพลง สิ่งนี้ไม่ได้แสดงออกมาในผลงานภาพวาดหรือภาพถ่ายของเขาเท่านั้น แต่แสดงออกมาในผลงานออกแบบฉากให้กับละครเวที, บัลเลต์, และโอเปร่า ซึ่งสีสันและแสงสีในผลงานเหล่านั้นก็ได้มาจากสิ่งที่เขามองเห็นเวลาฟังดนตรีประกอบของการแสดงนั่นเอง

ในช่วงยุค 80s เขาได้ปฏิวัติรูปแบบของศิลปะการถ่ายภาพอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาใหม่ โดยเขาให้ชื่อว่า ‘Joiners‘ ซึ่งเป็นการใช้กล้องถ่ายภาพธรรมดาหรือกล้องโพลารอยด์ ถ่ายภาพวัตถุ บุคคล หรือสถานที่แห่งหนึ่งหลายๆ ครั้ง และนำมาปะติดปะต่อจนกลายเป็นภาพภาพเดียว และเนื่องจากภาพเหล่านั้นถูกถ่ายมาจากหลายมุมมอง หลายองศา หลายเวลา บางครั้งสิ่งที่ถูกถ่ายเคลื่อนไหวจากมุมมองเดิม บางครั้งแสงเปลี่ยน บางครั้งเขาก็เคลื่อนกล้องไปรอบๆ สิ่งที่ถ่ายจึงแสดงให้เห็นมิติ มุมมอง และความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลายกันในภาพภาพเดียว ซึ่งมีความเชื่อมโยงและคล้ายคลึงกับแนวคิดของศิลปะคิวบิสม์นั่นเอง แนวคิดในการถ่ายภาพแบบนี้ เขาบังเอิญได้มาจากการที่ในช่วงปลายปี 60s เขาพบว่าช่างภาพหลายคนในยุคนั้นนิยมใช้เลนส์มุมกว้าง (wide angle lens) ถ่ายภาพ และเขาไม่ชอบผลที่ออกมา เพราะมักจะให้ภาพที่บิดเบือนและหลอกตา จนกระทั่งเขาลองต่อภาพถ่ายโพราลอยด์เพื่อใช้เป็นแบบในการวาดรูปแล้วเกิดได้เป็นมุมมองและมิติที่น่าสนใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นเทคนิคใหม่นี้ขึ้นมา เขาหลงใหลการถ่ายภาพสไตล์ใหม่นี้เป็นอย่างมาก และหมกมุ่นจนถึงกับเลิกวาดภาพไปช่วงหนึ่ง จนในเวลาต่อมาเขารู้ก็สึกเบื่อหน่ายในข้อจำกัดของการถ่ายภาพและหันกลับมาวาดภาพในที่สุด 

The Scrabble Players (2015) เทคนิคตัดต่อภาพถ่าย (Photographic drawing). ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงหลัง เขาผสมผสานเทคนิคต่างๆ ทั้งเก่าใหม่ สร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่มีทั้งภาพทิวทัศน์ บุคคล สิ่งของ ในหลากหลายแนวทาง ทั้งนามธรรม คิวบิสม์ และภาพเหมือนจริง อีกทั้งยังไม่ปิดกั้นตัวเองในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นกล้องโพลารอยด์ แฟ็กซ์ เครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้แต่อุปกรณ์สื่อสารยอดนิยมในยุคสมัยปัจจุบันอย่าง iPhone และ iPad ฮอกนีย์ในวัย 70 กว่า หันมาใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยช่วงปี 2009 เขาใช้แอปฯ วาดภาพ (Brushes) ใน iPhone วาดรูปและอีเมลส่งให้เพื่อนๆ ของเขาทุกวัน ต่อมาเขาเปลี่ยนมาใช้ iPad เพราะมีขนาดใหญ่และวาดถนัดมือกว่า เขามักวาดรูปด้วย iPad ในห้องนอนของเขา

7th April 2021, Three Daffodils in a Bottle (2021)ภาพวาดดอกไม้ใน iPad ของ เดวิด ฮอกนีย์ พิมพ์ลงบนกระดาษ. ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“iPad เป็นเครื่องมือที่ทำให้การวาดภาพด้วยมือกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง มากกว่าจะเป็นแค่เทคโนโลยีสมัยใหม่ธรรมดาๆ ไม่ต่างอะไรกับสมุดวาดภาพ อุปกรณ์ชิ้นนี้จะเปลี่ยนมุมมองของเราต่อทุกสิ่ง ตั้งแต่การอ่านหนังสือพิมพ์ไปจนถึงการวาดภาพ มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากให้เป็น เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมจะเรียกว่าเป็น ‘เครื่องมือสารพัดนึก’ (universal machine) ได้เลยทีเดียว ที่เจ๋งก็คือเวลาใช้ iPad คุณสามารถดูย้อนหลังเวลาคุณวาดภาพได้ ผมไม่เคยดูตัวเองกำลังวาดภาพมาก่อน นี่ถือเป็นครั้งแรกเลย”

ภาพวาดของฮอกนีย์ที่ใช้ปากกาสไตลัสวาดใน iPad และพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่ในเวลาเพียงแค่ 20 นาที จุดประกายคำถามขึ้นในหมู่นักวิจารณ์ศิลปะทั้งหลายว่า การวาดภาพบน iPad เหล่านี้มีคุณค่าคู่ควรจะเป็นงานศิลปะหรือไม่?

นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า “ผลงานชุดนี้ของเขาไม่สามารถซ่อนความจริงที่ว่า มันถือกำเนิดจากอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ ไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์เหมือนภาพวาดบนกระดาษแค่ไหนก็ตาม” บางคนกล่าวว่า “เป็นภาพวาดที่จืดชืด ตายสนิท ไร้ชีวิตชีวา และไม่มีกึ๋นโดยสิ้นเชิง” บ้างก็ว่า “การเปิดใจรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ  เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนศิลปะก็เป็นอีกเรื่อง” แต่นักวิจารณ์บางคนก็ชื่นชมงานศิลปะจาก iPad ของฮอกนีย์ว่าฉลาดและมีชั้นเชิง และกล่าวว่าเป็นผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าที่ไม่เคยหยุดนิ่งทางความคิด และสรรหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะเสมอ, ในปี 2013 ผลงานภาพวาดด้วย iPad ของฮอกนีย์ ถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ David Hockney: A Bigger Exhibition ที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ de Young Museum ในซานฟรานซิสโก

15th March 2021, Flowers in a Jug (2021) ภาพวาดดอกไม้ใน iPad ของ เดวิด ฮอกนีย์ พิมพ์ลงบนกระดาษ. ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ความสนใจในสีสันและองค์ประกอบของฮอกนีย์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่บนขอบเขตของผืนผ้าใบวาดภาพ หรือในผลงานหลายหลากของเขาเท่านั้น หากแต่สะท้อนออกมาในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของเขา ฮอกนีย์เป็นศิลปินที่แต่งกายประณีตพิถีพิถัน แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเก๋ไก๋ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตากรอบหนา, โบว์ไทด์เก๋ๆ, เสื้อผ้าลายแถบ, ชุดสูทของ Savile Row, เติมความเปรี้ยวเล็กๆ ด้วยการสวมถุงเท้าคนละสี ความเก๋ไก๋เหล่านี้เป็นเสมือนภาพจำของศิลปินผู้เปี่ยมสไตล์ที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะผู้นี้

ไม่เพียงแค่การแต่งตัวของเขาเอง ผลงานและตัวตนของฮอกนีย์ก็ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการแฟชั่นด้วย แฟชั่นชื่อดังอย่าง Yves Saint Laurent, Michael Kors, JW Anderson, และ Kym Ellery ต่างก็หยิบยืมแรงบันดาลใจจากภาพแสงอาทิตย์จุมพิตผิวน้ำในภาพวาด A Bigger Splash ของเขา หรือแม้แต่แบรนด์ Paul Smith และ Burberry ก็หยิบเอาสไตล์การแต่งตัวอันเก๋ไก๋ของฮอกนีย์มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้าของพวกเขา

หรือ Fashion East คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2017 ของ ริชาร์ด มาโลน (Richard Malone) ก็ได้หยิบเอาแรงบันดาลใจจากสีสันในภาพวาดสระว่ายน้ำอันลือลั่นอย่าง A Bigger Splash ของฮอกนีย์มาใช้เหมือนกัน รวมถึงแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano) ก็หยิบเอาเส้นสายลวดลายอันเก๋ไก๋สะอาดตา และสีสันอันเจิดจ้าจากภาพเดียวกันมาใช้ในเสื้อผ้าคอลเล็กชั่น Big Splash: Menswear ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2012 

นอกจากเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้วงการแฟชั่นแล้ว ฮ็อกนีย์ยังมีเพื่อนสนิทเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังมากมายหลายคน ดังที่ปรากฏหลักฐานในภาพวาด Mr and Mrs Clark and Percy ที่เป็นภาพวาด ออสซี คลาร์ก (Ossie Clark) แฟชั่นดีไซเนอร์ระดับตำนานแห่งยุคสวิง กับภรรยา ซีเลีย เบิร์ตเวล (Celia Birtwell) และเจ้าแมว เพิร์ล ของพวกเขา แถมชุดเดรสยาวสีดำแดงอันสวยสง่าจากการออกแบบของคลาร์กที่ซีเลียสวมในภาพนี้ ก็กลายเป็นของสะสมที่พิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ในอังกฤษประมูลแย่งชิงมากันเลยทีเดียว หรือเจ้าแม่แห่งแฟชั่นพังค์อังกฤษอย่าง วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ก็ตั้งชื่อคอลเล็กชั่นแจ็กเก็ตลายตาราง ตามชื่อของฮอกนีย์อีกด้วย ฮอกนีย์ยังเคยวาดภาพปกให้นิตยสาร Vogue ปารีส ฉบับประจำเดือน ธันวาคม 1985/ มกราคม 1986 ซึ่งเป็นภาพกึ่งนามธรรมรูปใบหน้าผู้หญิงอันงดงามเปี่ยมสไตล์ และเขายังทำงานศิลปะอย่างงานคอลลาจ, ภาพถ่าย, ภาพวาด, และภาพลายเส้นสำหรับเป็นสไตล์ไบเบิ้ลในเล่มอีกด้วย

ในปี 2011 โพลของนักศึกษาศิลปะทั่วอังกฤษ ยกให้ฮอกนีย์เป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดตลอดกาล ผลงานของเขามีบทบาทอย่างมากต่อพัฒนาการของงานจิตรกรรมรูปลักษณ์ (figurative painting) รวมถึงส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังอย่าง ชัค โคลส (Chuck Close) และ เซซิลี บราวน์ (Cecily Brown) หากแต่ในปัจจุบันเขาเองก็ยังคงเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่แพ้ศิลปินเหล่านั้น แต่ถึงแม้จะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เขาก็ยังทำตัวเป็นคนนอก และปฏิเสธที่จะรับลาภยศสรรเสริญจากสถาบันและภาครัฐ แม้แต่เกียรติยศสูงสุดในฐานะศิลปินอย่างการวาดภาพสมเด็จพระราชินี เขาก็ยังปฏิเสธมาแล้ว (เขาบอกว่าเขายุ่งมาก จนไม่มีเวลาไปวาดให้น่ะนะ) หรือแม้แต่บรรดาศักดิ์อัศวินเขาก็ปฏิเสธด้วยเช่นกัน (ถึงแม้เขาจะยอมรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเมริต (Order of Merit) ในปี 2012 ก็ตามที) เขากล่าวว่า “ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับระบบการให้ลาภยศ และไม่ให้ความสำคัญกับรางวัลอะไรเลย ผมให้ความสำคัญกับเพื่อนของผมมากกว่า”

เรียกได้ว่าเป็นศิลปินหัวขบถผู้ไม่เคยตกยุค ไม่เคยล้าสมัย และไม่เคยหยุดเปรี้ยวเลยแม้แต่น้อย แม้ในปัจจุบันเขาจะมีอายุปาเข้าไป 86 ปีแล้วก็ตาม 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • David Hockney A Chronology 40th Anniversary Edition. สำนักพิมพ์ TASCHEN
  • ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ, ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. สำนักพิมพ์แซลมอน 
  • faroutmagazine
  • anothermag
  • vogue
  • thelovemagazine
     
logoline