svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ทำไม IMAX ถึงเป็นจอภาพที่ทั้งคนทำหนังและคนดูหนังหลงรัก?

26 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ผู้ชมคาดหวังจะได้เห็นบางอย่างที่พวกเขาไม่สามารถมีได้ที่บ้าน สิ่งไม่สามารถหาได้จากการดูหนังแบบสตรีมมิ่ง พวกเขาปรารถนาที่จะได้สัมผัสประสบการณ์" คำพูดของผู้กำกับดัง เดอนีส์ วีลเนิฟว์ ที่พูดถึงการดูหนังบนจอ IMAX

ในวันที่แอปฯ สตรีมมิ่งทำให้เราดูหนังที่ไหน เมื่อไรก็ได้ แต่ ‘โรงภาพยนตร์’ ยังคงมีเสน่ห์บางอย่างที่แพลตฟอร์มไหนๆ ก็ไม่อาจทดแทนได้ 

ยิ่งถ้าฉายบนจอ IMAX ขนาดใหญ่ ยิ่งรู้สึกเหมือนได้เข้าไปเสพงานศิลปะอย่างเต็มอิ่มทั้งภาพและเสียง ซึ่งทุกวันนี้ IMAX ก็ยังคงได้รับความนิยม ทั้งฝั่งคนทำหนังอย่าง เดอนีส์ วีลเนิฟว์ ผู้กำกับ Dune ที่บอกว่าหนังเรื่องนี้ถูกถ่ายทำมาเพื่อฉายบนจอ IMAX ส่วน คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ทำรายได้จากการฉาย Oppenheimer เวอร์ชั่น IMAX ได้สูงถึง 96.4 ล้านเหรียญ รวมทั้งคนรักหนังที่พร้อมจ่ายแพงกว่าเพื่อเข้าไปรับอรรถรสจากการชมภาพยนตร์ด้วยอัตราส่วนจอ 1.43:1 นี้ จนเรียกได้ว่า IMAX และขนาดจอที่แปลกกว่าใครนั้นครองใจทั้งคนดูหนังและคนทำหนังเลยทีเดียว

ทำไม IMAX ถึงเป็นจอภาพที่ทั้งคนทำหนังและคนดูหนังหลงรัก?

แม้เราจะเคยชินว่า IMAX หรือ Image Maximum เป็นรูปแบบการฉายภาพยนตร์ที่มีความละเอียดสูงและหนังหลายเรื่องก็มีเวอร์ชั่นนี้มาให้ชม แต่หากย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ IMAX มักจะถูกฉายในรูปแบบสารคดีและภาพทิวทัศน์ที่ต้องการความคมชัดมากกว่า แถมยังมีความยาวเฉลี่ยเพียง 40 นาที ก่อนจะถูกพัฒนาให้เข้าถึงได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน
 

จากภาพยนตร์หลายจอ สู่จอขนาดยักษ์ IMAX

ย้อนไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 กลุ่มคนทำหนังในแคนาดามีไอเดียอยากจะฉายภาพยนตร์จอใหญ่เพื่อให้ผู้ชมได้อรรถรสอย่างเต็มอิ่ม เลยใช้กล้องและโปรเจกเตอร์หลายตัวเพื่อให้ได้ภาพที่มีความกว้างมากกว่าปกติ แต่ปัญหาคือความต่อเนื่องของภาพ ทั้งตำแหน่งและความสว่างของโปรเจกเตอร์แต่ละตัวที่ไม่เท่ากัน ทว่าการฉายหนังรูปแบบนี้ กลับมีกระแสตอบรับที่ดีจากคนดู พวกเขาจึงเริ่มพัฒนาอุปกรณ์การถ่ายทำและฉายภาพยนตร์ที่เพิ่มความละเอียดให้สูงขึ้น จนในสุดก็กลายเป็นระบบ ‘IMAX’ โดยบริษัท IMAX Corporation ที่สามารถถ่ายและฉายภาพยนตร์ความละเอียดสูงในหน้าจอขนาดใหญ่ได้

โปรเจกเตอร์ IMAX. ภาพจาก Wikimedia Commons

แต่เบื้องหลังการถ่ายทำแบบ IMAX ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งต้นทุนที่สูง ใช้กล้องที่หนักและขนาดใหญ่กว่ากล้องทั่วไป แถมกล้องยังมีเสียงดังรบกวนจนถ่ายฉากที่มีบทสนทนาได้ยาก ในช่วงแรกๆ ภาพยนตร์เวอร์ชั่น IMAX จึงมักจะมีความยาวประมาณ 40 นาที และส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์ สารคดี เพื่อให้เห็นรายละเอียดทัศนียภาพอย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น 

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ในเดือนกันยายน ปี 2020 IMAX จึงได้เปิดตัวโปรแกรม ‘Filmed In IMAX’ โครงการที่มีการรับรองกล้องดิจิตอลคุณภาพสูง เพื่อสร้างภาพยนตร์ในรูปแบบ IMAX และแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีกล้องที่ความละเอียดเทียบเท่ากล้อง IMAX แบบดั้งเดิมได้ แต่ก็นับว่าโครงการนี้ช่วยปูทางไปสู่การสร้างภาพยนตร์ IMAX ที่หลากหลายและเข้าถึงได้มากขึ้น

กล้อง IMAX. ภาพจาก Wikimedia Commons
 

นอกจากนี้ภาพยนตร์บางเรื่อง ยังใช้เทคนิคบางอย่างเพื่อสร้างเวอร์ชั่น IMAX ออกมาให้เราได้ชม อย่างเรื่อง The Dark Knight ในฉากปล้นธนาคารที่ตัดปัญหาเรื่องเสียงกล้อง ด้วยการอัดเสียงแยกและใส่เข้ามาในภายหลัง เพราะฉากนี้ตัวละครส่วนใหญ่จะสวมใส่หน้ากาก หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ที่ไม่ได้เน้นภาพทิวทัศน์ แต่ผู้กำกับภาพอย่าง ฮอยเต ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte van Hoytema) กล่าวว่า ใบหน้าก็เป็นทิวทัศน์ในรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้วใบหน้าของมนุษย์เป็นรูปทรงสามมิติที่งดงาม มีอารมณ์ความรู้สึกและมีความลุ่มลึกที่เขาอยากจะถ่ายทอดออกมาผ่านรูปแบบ IMAX แม้ว่าการถ่ายทำจะซับซ้อนมากขึ้นก็ตาม

ขนาดอัตราส่วนภาพ IMAX. ภาพจาก Wikimedia Commons

สำหรับคนทำหนัง คริสโตเฟอร์ โนแลน มองว่าจอแบบ IMAX มีสัดส่วนที่เก็บรายละเอียดภาพได้ดีที่สุด เพราะในมุมการถ่ายทำ กล้อง IMAX 65 มม. (หรือ 70 มม.) ให้คุณภาพสูงสุดทั้งรายละเอียด สี คอนทราสต์ และเกรนของฟิล์มที่ดูเป็นธรรมชาติ โดยเฟรม IMAX 65 มม. จะมีอัตราส่วนภาพที่ 1.43:1 ซึ่งจอภาพยนตร์ทั่วไปไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด (ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 1.85:1 หรือ 2.35:1) ซึ่งคงน่าเสียดายหากภาพที่ถ่ายมาถูกตัดทอนรายละเอียดบางส่วนออกไป 

เปรียบเทียบอัตราส่วนจอภาพจากเรื่อง The Dark Knight. ภาพจาก MulNov (YouTube)

ขณะที่จอ IMAX สามารถรับสัดส่วน 1.43:1 ได้ครบถ้วน โดยโรงภาพยนตร์ที่มีจอ IMAX ขนาด ใหญ่ 1.43:1 มีเพียง 30 แห่งทั่วโลก ส่วนหน้าจอ IMAX อื่นๆ จะมีอัตราส่วนภาพ 1.90:1 แต่ก็นับว่ามากกว่าจอภาพยนตร์ทั่วไปอยู่ดี

Oppenheimer (2023). ภาพจาก IMDb

อรรถรสที่ผู้คนใฝ่หา

การฉายภาพยนตร์แบบ IMAX ในปัจจุบันนับว่ามีให้ชมหลากหลายและเข้าถึงได้มากกว่าเมื่อก่อน แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา แค่ราคาตั๋วหนังธรรมดาก็ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ภาพยนตร์เวอร์ชั่น IMAX เลยกลายเป็นเหมือนอรรถรสที่ผู้คนใฝ่หา ทว่าราคาแสนแพง สวนทางกับค่าครองชีพในบ้านเราอยู่ดี แต่ถึงอย่างนั้นเราเชื่อว่าหลายคนก็ยังยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายเท่าที่มีกำลังซื้อ เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่เพียงสื่อบันเทิง แต่มีความหมายกับผู้คนในหลายมิติ บ้างก็เป็นสื่อที่ช่วยฮีลใจ บ้างก็ช่วยให้เราได้ตกตะกอน มีพลังใช้ชีวิตต่อไปได้

เพราะหากมองลึกลงไป การชมภาพยนตร์เปรียบเสมือนการได้ก้าวเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่ง โดยเปิดประสาทสัมผัสการมองเห็นและรับฟังอย่างเต็มที่ ยิ่งทุกอย่างดูสมจริงเท่าไร ก็ยิ่งเหมือนเราได้ก้าวเข้าไปใน ‘โลกอีกใบ’ มากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ IMAX จะครองใจผู้คนได้ เพราะนอกจากเรื่องขนาดจอแล้ว เวลากล้องเคลื่อนไหว เราก็จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวได้ในแบบที่ใจเต้นตามไปด้วย หรือถ้ามีเสียงระเบิดดังกระหึ่ม แม้กระทั่งเสียงหายใจอันแผ่วเบา เราก็จะได้ยินอย่างคมชัด ราวกับเป็นผู้เฝ้าดูเหตุการณ์ในระยะใกล้

ทำไม IMAX ถึงเป็นจอภาพที่ทั้งคนทำหนังและคนดูหนังหลงรัก?

เหล่านี้จึงเป็นความรู้สึกที่ต่างไปจากการเปิดหนังดูที่บ้าน หรือแม้แต่ในโรงภาพยนตร์ทั่วไป และนั่นคงเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะชิ้นนี้ ที่ไม่ว่ากระบวนการสร้างสรรค์จะซับซ้อนแค่ไหน ต้นทุนจะสูงอย่างไร แต่คนทำหนังก็ยังหลงใหล และคนดูหนังก็ยังหลงรักภาพยนตร์ในรูปแบบ IMAX มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline