svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

"โมร็อกโก" ม้ามืดศึกฟุตบอลโลก 2022 กับความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

08 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนรอยความสำเร็จของ "สิงโตแห่งแอตลาส" ทีมชาติโมร็อกโก ที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายศึกฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้มาจากการวางแผนอันยาวนานนับสิบปี

แฟนบอลชาวแอฟริกันนับล้านต่างส่งเสียงร้องแสดงความดีใจไปทั่วทั้งทวีป หลังจาก ทีมชาติโมร็อกโก โค่นอดีตแชมป์โลกจาก "กระทิงดุ" สเปน ด้วยการดวลจุดโทษ พร้อมผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และนับเป็นทีมเดียวจากแอฟริกาที่ผ่านเข้ามาได้ในรอบนี้

"วาลิด เรกรากุย" กุนซือโนเนมที่รวมใจลูกทีมเป็นหนึ่งเดียว
ความสำเร็จของทีมชาติโมร็อกโก ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับ "วาลิด เรกรากุย" โค้ชวัย 47 ปี ที่แทบไม่มีใครรู้จัก โดย เรกรากุย เข้ามาเป็นกุนซือทีมชาติโมร็อกโกแทนที่ของ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ที่ถูกปลดก่อนฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้นไม่ถึง 100 วัน

แม้จะมีเวลาสร้างทีมอันจำกัด แต่ วาลิด เรกรากุย ถือเป็นโค้ชที่คุ้นเคยกับนักเตะทีมชาติชุดนี้เป็นอย่างดี โดยเขาเป็นอดีตนักเตะทีมชาติในตำแหน่งกองหลัง ซึ่งแม้จะเกิดในฝรั่งเศส แต่เลือกที่จะเป็นตัวแทนของโมร็อกโกที่เป็นเชื้อชาติที่แท้จริงของครอบครัวของเขา และติดทีมชาติมา 45 นัด

หลังจากแขวนสตั๊ดและผันตัวมาเป็นโค้ช เรกรากุย ประสบความสำเร็จในทุกที่ที่เขาทำทีม โดยนำสโมสรระดับกลางตารางอย่าง ฟุส ราบัต คว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จ ก่อนโยกไปคุมทีม อัล ดูฮาอิล ในกาตาร์ ช่วงสั้นๆ และย้ายมาคุมทัพ วีดัด คาซาบลังกา ทีมดังของโมร็อกโก และเพิ่งจะพาทีมคว้าแชมป์ลีก และ ซีเอเอฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

วาลิด เรกรากุย

ในวงการฟุตบอลแอฟริกัน เรกรากุย มักถูกเปรียบเทียบกับ โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือดังชาวโปรตุเกส เนื่องมาจากวินัยทางแท็คติกและทักษะการบริหารคนที่ยอดเยี่ยม ซึ่งทุกอย่างก็สะท้อนผ่านผลงานของทีมชาติโมร็อกโกในฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยพวกเขาเสียไปแค่ประตูเดียวตลอด 4 นัดที่ผ่านมา และ 1 ประตูที่เสียไปก็มาจากการทำเข้าประตูตัวเองในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับว่าพวกเขายังไม่เสียให้คู่แข่งแม้แต่ลูกเดียวนั่นเอง

ส่วนในด้านการบริหารลูกทีม โมร็อกโกชุดนี้ถือเป็นทีมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในฟุตบอลโลก มีผู้เล่นถึง 14 คนจาก 26 คนในทีมชุดนี้ที่เกิดนอกประเทศโมร็อกโกจาก 6 ประเทศที่แตกต่างกัน แต่ เรกรากุย ก็รวมผู้เล่นกลุ่มนี้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างราบรื่น
โรแม็ง ซาอิสส์ และ ฮาคิม ซิเย็ค 2 นักเตะทีมชาติโมร็อกโกที่ไม่ได้เกิดในโมร็อกโก
การแข่งขันฟุตบอลโลก ทัวร์นาเมนต์ที่ยาวนานกินเวลา 1 เดือนเต็ม อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากทางอารมณ์เนื่องจากนักเตะต้องเข้าแคมป์เก็บตัวร่วมกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยไม่ได้เห็นหน้าครอบครัว แต่ เรกรากุย ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการอนุญาตให้ครอบครัวของนักเตะอยู่กับทีมในแคมป์ที่กาตาร์ ทำให้บรรดาผู้เล่นมีความสุขกับการใช้ชีวิตในดินแดนแห่งทะเลทรายแห่งนี้มากขึ้น และสามารถโฟกัสกับเกมการแข่งขันได้อย่างเต็มที่

ความเอาจริงเอาจังของสหพันธ์ฟุตบอล
อีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องยกความดีความชอบให้ก็คือ สหพันธ์ฟุตบอลโมร็อกโก (FMRF) ที่พัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศมาอย่างยาวนาน โดยหลังจากที่ล้มเหลวในศึกฟุตบอลโลกมานับสิบปี สหพันธ์ฟุตบอลโมร็อกโกภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโก ก็ตัดสินใจที่จะยกเครื่องโครงสร้างฟุตบอลของประเทศ

โดยในปี 2009 FMRF ได้เปิดสถาบันฟุตบอลระดับชาติ Mohammed VI Football Academy ซึ่งช่วยพัฒนาผู้เล่นทีมชาติอย่างเช่น นาอีฟ เอเกิร์ด (ปัจจุบันเล่นให้ เวสต์แฮม) และ ยุสเซฟ ออง-เนซีรี (ปัจจุบันเล่นให้ เซบีย่า) รวมถึงพยายามค้นหานักเตะพรสวรรค์ในต่างแดนที่มีเชื้อสายโมร็อกโก โดยจ้างแมวมองจากทั่วยุโรปเพื่อหาผู้เล่นเยาวชนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติ

สหพันธ์ยังเริ่มลงทุนในฟุตบอลหญิง พัฒนาฟุตบอลในโรงเรียนและสโมสร ตลอดจนสร้างโครงสร้างลีกระดับชาติ โดยปัจจุบันโมร็อกโกเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีฟุตบอลลีกอาชีพหญิงถึง 2 ดิวิชั่น

นอกจากนี้ โมร็อกโกยังมีศูนย์ฝึกฟุตบอลระดับโลกอย่าง Mohammed VI Football Complex ที่ตั้งอยู่นอกกรุงราบัต โดยศูนย์ฝึกแห่งนี้ประกอบด้วยโรงแรมระดับ 5 ดาว 4 แห่ง สนามมาตรฐานฟีฟ่า 8 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสนามในร่มที่ควบคุมสภาพอากาศได้ รวมถึงสถานพยาบาลที่มีทันตแพทย์รวมอยู่ด้วย
Mohamed VI Football Complex ศูนย์ฝึกฟุตบอลมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านบาท
และการลงทุนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เริ่มผลิดอกออกผลอย่างรวดเร็ว โดยสโมสรจากโมร็อกโกกวาดแชมป์เป็นว่าเล่นในระดับทวีป ทั้ง ซีเอเอฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ของแอฟริกา) รวมถึง ซีเอเอฟ คอนเฟเดอเรชั่นส์คัพ (ยูโรปา ลีก ของแอฟริกา) ทั้งทีมชายและทีมหญิง ส่วนในทีมชาติ พวกเขาคว้าแชมป์แอฟริกัน เนชั่น แชมเปียนชิพ ของฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายหญิงก็เพิ่งจะได้รองแชมป์ศึก Women’s Africa Cup of Nations เมื่อต้นปีนี้ และผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกหญิงได้เป็นครั้งแรกด้วย

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าความสำเร็จของโมร็อกโกในฟุตบอลโลก 2022 ไม่ใช่ผลจากโชคและความพยายาม แต่เป็นความเชี่ยวชาญและการวางแผนอย่างเป็นระบบตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แฟนบอลโมร็อกโกฉลองหนักหลังโค่นสเปน แต่จะได้ฉลองอีกครั้งหรือไม่?
ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ชาติจากแอฟริกาทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่านั้น ดังนั้นหาก โมร็อกโก ฝ่าด่านต่อไปที่จะเจอกับ โปรตุเกสได้ พวกเขาก็จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการฟุตบอลกาฬทวีปทันที 

โดยเกมระหว่าง โมร็อกโก กับ โปรตุเกส จะมีขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ เวลา 22.00 น. ที่สนาม อัล ธูมาม่า สเตเดี้ยม ถ่ายทอดสดทางช่อง True4U

logoline