เป็นศึก “แดงเดือด” นอกเกาะอังกฤษ ที่แฟนฟุตบอลชาวไทย ตั้งตารออย่างใกล้ชิด เมื่อ “เสี่ยวินิจ” วินิจ เลิศรัตนชัย บิ๊กบอส “เฟรชแอร์ เฟสติวัล” ประกาศเซ็นสัญญาจัดแมตช์คู่หยุดโลกครั้งแรกในเอเชีย ด้วยการดึงสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฟาดแข้งทีมลิเวอร์พูล ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ 12 ก.ค.นี้ ภายใต้ชื่องาน THE MATCH Bangkok Century Cup 2022
ช่วงแรกที่กลายเป็นประเด็นดราม่ารุนแรง คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ราคาบัตร” เข้าชมเกม ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ราคาสูงเกินเอื้อมหรือไม่? ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด พร้อมสงสัยว่า 2 ทีม จะขนดาวดังระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมโม่แข้งจริงหรือ
โดยเฉพาะดาวเตะระดับเจ้าของรางวัล “บัลลงดอร์” 5 สมัย อย่าง “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” ตำนานเบอร์ 7 ของทีมปีศาจแดง ที่หลายฝ่ายหวั่นใจว่า อาจไม่ได้เดินทางมาแข่งขันนัดอุ่นเครื่องด้วย ก่อนที่ “เสี่ยวินิจ” จะออกมายืนยันชัดเจนว่า ทั้ง 2 สโมสรจะขนนักเตะชุดใหญ่มาอย่างแน่นอน
กระทั่งเมื่อ “ราคาบัตร” เข้าชมเกม ถูกปล่อยออกมา เริ่มต้นที่ราคา 5,000 บาท , 7,000 บาท , 12,000 บาท , 15,000 บาท , 20,000 บาท , 22,000 บาท และ 25,000 บาท แม้จะมีเสียงบ่นจากแฟนฟุตบอลบางกลุ่มถึงเรื่อง “ราคาบัตร” แต่หลายคนออกมายืนยันว่า การดวลแข้งของ 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ของโลก นอกเกาะอังกฤษแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ ฉะนั้นราคาตั๋วเท่านี้ ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับแฟนบอล
แต่ไม่ทันที่เสียงดราม่า “ราคาบัตร” จะเบาลง ก็เกิดดราม่าซ้อนขึ้นมาอีก เมื่อมีการนำเสนอข่าวบริษัท “เฟรชแอร์ เฟสติวัล” ทำหนังสือถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอรับการสนับสนุนส่งเสริมภาพลักษณ์ในการจัดการแข่งขัน เป็นเงินราว 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่เงินสมทบบางส่วน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควรนำเงินจำนวนดังกล่าว แก้ปัญหาเศรษฐกิจจะดีกว่าไหม??
กระทั่ง “เสี่ยวินิจ” ชี้แจงผ่านรายการยูทูบ “NANAKE555” ของ “น้าเน็ก” อย่างมีอารมณ์ โดยพูดตอนหนึ่งว่า “กระแสดราม่า 400 ล้านบาท ขอบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถึงกับมีดราม่ากันว่า คนไม่มีกิน รัฐบาลจะเอาเงินมาช่วยทำไม เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวอะไร เฟรชแอร์เป็นโปรโมเตอร์เอง อะไรทุกอย่างต้องพึ่งรัฐหมดเลยหรือ ถ้าจะออกข่าว อยากให้ถามผมสักนิด ที่มาบอกขอนู่นขอนี่ เป็นสนับสนุนประเภทอื่น สนามบ้างนู่นนี่บ้าง”
ทั้งนี้ “เสี่ยวินิจ” ยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง ที่มีการส่งหนังสือไปถึงขอความอนุเคราะห์ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดงาน ส่วนเรื่องเงิน 400 ล้านบาท ไม่ใช่แน่นอน และไม่ทราบว่าต้นตอข่าวมาจากไหน
ขัดแย้งกับคำสัมภาษณ์ของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ที่ยอมรับว่า บริษัท “เฟรชแอร์ เฟสติวัล” ได้ทำหนังสือมาขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 400 ล้านบาทจริง โดยส่งมาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2564 แต่พิจารณาแล้ว รัฐบาลไม่พร้อมสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว แต่พร้อมสนับสนุนบางส่วนแทน เช่น อาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
เมื่อยังไม่มีความชัดเจนว่า เรื่องการของบประมาณสมทบเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทางสมาชิกโซเชียลจึงนำศึก “วันแดงเดือด” นอกเกาะอังกฤษ ไปเปรียบเทียบโครงการกีฬาใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นใน จ.บุรีรัมย์ เมื่อช่วง 4-5 ปี่ที่ผ่านมา ที่มีการของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยสมทบส่วนหนึ่ง
โดยเฉพาะความพยายามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ศึกจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก (โมโตจีพี) ที่ทาง “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อดึงการแข่งขันระดับโลก มาจัดที่สนามบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
กระทั่งปี 2560 ครม.อนุมัติงบประมาณสมทบ ในการขอเป็นเจ้าภาพจัด “โมโตจีพี” โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ขอเป็นเจ้าภาพปีละ 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2561-2563 รวมเป็นเงิน 300 ล้านบาท
จากนั้นปี 2563 ครม.อนุมัติงบประมาณสมทบจัด “โมโตจีพี” เพิ่มเติมอีกครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 รวมเป็นเงินกว่า 900 ล้านบาท จากค่าลิขสิทธิ์รวม 50 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงิน 1,800 ล้านบาท
แต่พบว่า การจัดงานช่วงปี 2563-2564 ต้องถูกยกเลิกออกไป เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส “โควิด” ระบาดอย่างหนัก โดยภาครัฐจ่ายเงินสมทบแค่ 2 ปีแรก (2561-2562) เป็นเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะแค่ปี 2562 การจัด “โมโตจีพี” มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.8 พันล้านบาท ส่วนการจัดงานในปีนี้ช่วงเดือน ต.ค.ที่อยู่ในสัญญาที่ 2 ยังต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่แมตช์คู่หยุดโลก ระหว่าง “แมนยู-ลิเวอร์พูล” อาจไม่ได้เดินตามโมเดล “โมโตจีพี” ที่ภาครัฐช่วยสมทบจ่าย เพราะแค่ก้าวแรกก็ถูกเสียงต้านทานอย่างหนักแล้ว...